Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

FRESHY LIFE

Posted By Plook Magazine | 12 ก.ค. 60
7,354 Views

  Favorite



การเข้ามหาวิทยาลัยถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่น้อง ๆ เฟรชชี่จะเกิดคำถามตามมาว่า จะต้องเจอกับอะไรบ้างในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งบางคนก็อาจจินตนาการตัวเองในรั้วมหาวิทยาลัยได้เป็นฉาก ๆ แต่บางคนก็คิดไม่ออกจริง ๆ


ดังนั้นเราจึงรวบรวมเรื่องที่เฟรชชี่จะต้องเจอ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตเฟรชชี่ ไล่ไปตั้งแต่เรื่องเรียน การเข้าหาเพื่อน และกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม ขอกระซิบบอกเฟรชชี่ทุกคนว่าอย่ากลัวกับชีวิตในมหาวิทยาลัย และควรมองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นความท้าทายและสนุกไปกับมัน ลุยกันเลย

 


 

Step 1


Step 1 การเรียนที่แตกต่าง

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีความยากขึ้น แน่นอนว่าการเรียนส่วนใหญ่จะเน้นคิดวิเคราะห์ มากกว่าท่องจำเหมือนตอนมัธยม และยังสอนให้เรารับผิดชอบตัวเองตั้งแต่ลงทะเบียนเรียนเองไปจนถึงการเข้าเรียนและการสอบ แต่จะทำยังไงนั้นมาทำความเข้าใจคร่าว ๆ กัน 

 

+ ลงทะเบียนเรียนเอง

เฟรชชี่ทุกคนจะได้เล่มหลักสูตรในวันปฐมนิเทศของคณะ ซึ่งเนื้อหาข้างในจะบอกว่าแต่ละเทอมเราต้องลงเรียนอะไรบ้าง ดู ๆ ไปก็คล้ายตารางเรียนสมัยมัธยมที่ครูประจำชั้นแจกให้มาห้อยกระเป๋า แต่เราต้องจดรหัสของวิชานั้น ๆ ไปลงทะเบียนในเทอมที่ 2 เองเพราะเทอมที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยจะลงให้ก่อน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาลงทะเบียนก็ต้องลงให้ถูก และห้ามลงชนกัน

 

+ เรียนน้อยแต่หนัก

สมัยเรียนมัธยมหนึ่งวันเราจะเรียนกัน 7-8 วิชา เฉลี่ยวิชาละ 50 นาที พักเที่ยงและเลิกเรียนตรงเวลาเป๊ะ ๆ ตอน 4 โมงเย็น แต่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ในหนึ่งวันเราอาจจะเรียนแค่ 1 หรือ 2 วิชาก็ได้ แต่เฉลี่ยวิชาละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง แถมไม่มีพักเที่ยงตรงเป๊ะ บางวันอาจเลิกบ่ายโมงก็แล้วแต่ว่าเราจะจัดสรรตารางเรียนของตัวเองยังไง


ตัวช่วยจำพรุ่งนี้เรียนอะไร
ปัญหาของเฟรชชี่ทุกคนที่จะเจอแน่นอนในอาทิตย์แรกคือ จำตารางเรียนของตัวเองยังไม่แม่น ดังนั้นการมีตัวช่วยอย่างแอปพลิเคชันจัดตารางเรียนจึงเป็นความสะดวกสบายเล็กน้อยที่เฟรชชี่ควรทำให้ตัวเอง เช่น Yasp!, iStudiez Pro, Timetable Kit

 

+ การสอบที่อินดี้

ครั้งแรกที่เฟรชชี่ทั้งหลายได้ทำข้อสอบมหาวิทยาลัยอาจจะประหลาดใจเล็กน้อย เพราะข้อสอบจะไม่ได้มีแค่แบบ Choice ก ข ค ง อีกแล้ว เพราะเรามีสิทธิ์เจอข้อสอบแบบ Open Book คือ การเปิดหนังสือสอบได้เลย หรือ Take Home ที่อาจารย์จะอนุญาตให้เอาข้อสอบกลับไปทำที่บ้านได้ชิล ๆ แต่จะชิลไหมนั้น แนะนำว่าอย่าเสี่ยง ควรตั้งใจเรียนในห้องเรียนและอ่านหนังสือตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด
 

+ ระบบเช็คชื่อที่ไม่มีมาครับ/ค่ะ
ตอนเรียนมัธยมถ้าไม่เข้าเรียนคาบไหนมีหวังถูกเชิญผู้ปกครอง แต่มหาวิทยาลัยจะไม่มีแบบนั้น เพราะบางวิชาไม่มีเช็คชื่อ แต่ถ้าวิชาไหนมีเช็คชื่อแล้วเข้าเรียนไม่ครบ 80% เมื่อไหร่ อาจถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าสอบได้ ดังนั้นเข้าเรียนให้ครบทุกคาบจะดีที่สุด อย่าขี้เกียจเพียงเพราะวิชานั้นไม่เช็คชื่อเด็ดขาด

 

 

Step 2


Step 2 สังคมเพื่อนที่กว้างขวาง

ความหนักใจสเต็ปที่สองของเฟรชชี่คงหนีไม่พ้นเรื่อง เพื่อน มาดูเทคนิคการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ที่ใครก็ดีใจที่ได้เจอกันดีกว่า  

 

+ เริ่มบนสนทนาก่อน
ง่าย ๆ แค่แนะนำตัวเอง จบมาจากไหน ชื่ออะไร เพราะปี 1 ทุกคนต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ดังนั้นลึก ๆ แล้วทุกคนอยากรู้จักกันทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าใครจะเริ่มก่อนแค่นั้นเอง  
 

+ พูด 30% ฟัง 70%
อยากรู้จักใครแรก ๆ ให้หัดฟังก่อน พูดให้น้อย ฟังให้มาก เมื่อคิดว่าบทสนทนาเข้าทางแล้วค่อยพูดหรือแสดงความเห็น ต้องเป็นคนรู้จักจังหวะที่จะพูดด้วยนะถึงจะมีเสน่ห์  
 

+ พูดให้สุภาพเข้าไว้
อาจจะไม่ต้องถึงกับมีหางเสียงเวลาคุยกับเพื่อน แต่ขอแค่ไม่หยาบคายก็พอ เพราะธรรมชาติของคนเรา เจอกันครั้งแรกก็ชอบคนสุภาพทั้งนั้นแหละ หลังจากสนิทกันแล้ว ค่อยว่ากันอีกที
 

+ ถามคำถาม
เมื่อมีคนถามแน่นอนว่าต้องมีคนตอบ ลองตั้งคำถามง่าย ๆ อย่างเช่น ลม ฟ้า อากาศวันนี้ หรือเรื่องการเดินทาง ชวนไปกินข้าว รับรองว่าเวิร์ก
 

+ ใช้ภาษากายให้เป็น
การยิ้มบ่อย ๆ ยังเป็นความคลาสสิกของการผูกมิตรเสมอ ระหว่างที่เพื่อนใหม่พูดคุณอาจจะพยักหน้าเห็นด้วย สบตาให้เขา แค่นีก็ได้ใจเพื่อนแล้ว
 

+ อย่าเพิ่งคิดว่าคนนั้นคนนี้แรงจัง
ความคิดนี้ถือเป็นปัญหาของคนสมัยนี้ เพราะบางคนก็แค่หน้านิ่ง หน้าเหวี่ยงไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจหัวใจคิตตี้ก็ได้ อย่าลืมว่าการตัดสินใครที่ภายนอกนั้นไม่ได้ผลเสมอไป บางทีเพื่อนหน้าเหวี่ยงคนนั้นอาจกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของคุณตลอด 4 ปีก็ได้ 

 

 

Step 3


Step 3 กิจกรรมต้อนรับเฟรชชี่

กิจกรรมที่นำมานี้ถือเป็น Important Date For Freshy ซึ่งเราอยากจะบอกว่า ทุกกิจกรรมไม่มีกิจกรรมไหนบังคับจริงจัง ไม่เข้าก็ไม่มีปัญหากับการเรียนหรือโดนหักคะแนน แต่จะเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีมากกว่า

 

+ ปฐมนิเทศ

วันปฐมนิเทศจะเป็นวันแห่งการบรรยายเสียส่วนใหญ่ ไฮไลต์ของงานนี้คือ อาจารย์หรือวิทยากรที่มีชื่อเสียงที่จะมาพูดบรรยายเกี่ยวกับการปรับตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัยให้เราฟัง พร้อมบอกคำแนะนำดี ๆ ที่เราต้องได้ใช้ตลอด 4 ปี  

เตรียมอะไร : นอนให้เยอะ ๆ จะได้ไม่นั่งหลับในหอประชุม ตั้งนาฬิกาปลุกเพราะต้องตื่นเช้าอมาก ใส่ชุดนิสิต/นักศึกษาให้เรียบร้อย
 

+ First Date

ให้ฟิลเหมือนการซ้อมรับน้อง เพราะเป็นวันที่เฟรชชี่จะได้เห็นหน้าค่าตาเพื่อน ๆ ในสาขา รวมทั้งได้รู้จักชื่อรุ่นพี่ในสาขาของตัวเอง บางมหาวิทยาลัยอาจใช้วันนี้จับสายรหัส เน้นกิจกรรมเฮฮา ไม่ซีเรียส แต่งตัวตามสบายแต่สุภาพ

เตรียมอะไร : เปิดใจ ยิ้มกว้าง ๆ พร้อมรู้จักกับเพื่อนใหม่ในสาขา ขอบอกว่าถ้าไม่ไปอาจพลาดจับสายรหัส พลาดการแลกไลน์กับเพื่อนในสาขา รู้จักเพื่อนช้ากว่าคนอื่น  
 

+ Freshy Day & Freshy Night

ไฮไลต์ของงาน Freshy Day & Freshy Night คือการประกวดดาว-เดือนของแต่ละคณะ โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือช่วงเช้าจะร่วมกันตักบาตรเสริมมงคล ตกเย็นจะมีคอนเสิร์ตจากศิลปินให้ได้สนุกกัน

เตรียมอะไร : เตรียมเสียงไปให้พร้อมเพื่อเชียร์เพื่อน ๆ เปิดใจรับเพื่อนใหม่ต่างคณะ  
 

+ รับน้อง
หลายคนอาจกลัววันรับน้องไปบ้าง เพราะเป็นกิจกรรมที่จะต้องทำตามคำสั่งของพี่ระเบียบ แต่ถ้าใครไม่สมัครใจไม่อยากเข้าก็สามารถทำได้ แต่ถ้าใครอยากได้ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต การรับน้องอาจให้อะไรมากกว่าที่หลายคนคิด

เตรียมอะไร : เตรียมใจรับความกดดัน เสื้อผ้าที่เลอะได้ ฟิตร่างกายให้พร้อม ถ้าไม่สบายต้องบอกรุ่นพี่ทันที อย่าฝืนตัวเองเด็ดขาด

 

+ ประชุมเชียร์
กิจกรรมประชุมเชียร์ส่วนใหญ่จะเน้นสอนร้องเพลงมหาวิทยาลัย เพลงเชียร์ วิธีการบูมของคณะ บางมหาวิทยาลัยอาจมีกิจกรรมจดรายชื่อเพื่อนในคณะให้ได้มากที่สุด แสดงให้รุุ่นพี่เห็นว่าน้อง ๆ มีความสามัคคี ภายใต้แรงกดดัน แต่ก็อีกนั่นแหละ ใครไม่สมัครใจไม่เข้าก็ไม่ผิดนะจ้า

เตรียมอะไร : ในวันนี้เฟรชชี่อาจต้องใช้เสียงมาก และอาจได้ร้องเพลงคณะจนเหนื่อย ดื่มน้ำเยอะ ๆ พกลูกอมที่ชุ่มคอติดตัวไปด้วย

 

+ เปิดโลกกิจกรรม
วันเปิดโลกกิจกรรมคือวันที่ชมรมต่าง ๆ กว่า 40 ชมรมในมหาวิทยาลัยมาเปิดบูธเชิญชวนน้องเฟรชชี่เข้าชมรม เพื่อจะทำกิจกรรมร่วมกันตลอด 4 ปี ซึ่งน้อง ๆ สามารถเลือกชมรมที่สนใจได้ เพื่อใช้เวลานอกห้องเรียนให้คุ้มค่า

เตรียมอะไร : สมัครชมรมที่สนใจจริง ๆ ไม่เลือกตามเพื่อน และไม่อายที่จะเข้าไปถามรุ่นพี่เกี่ยวกับรายละเอียดของชมรม   

 

 

ศัพท์ที่จะได้ยินเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย

# เด็กซิ่ว คือ คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงชั้นปีนั้นแล้ว แต่ลาออกมาสมัครสอบใหม่และเข้าเรียนปี 1 ใหม่ ดังนั้นเด็กซิ่วจะอายุมากกว่าคนอื่น

# ติด I คือ หากเกรดออกมาแล้วมี I ติดอยู่ นั่นหมายถึงอาจส่งงานไม่ครบในรายวิชานั้น ทางแก้ไขคือ รีบติดต่ออาจารย์ประจำวิชาโดยด่วน

# ติด F คือ ติด 0 ในความหมายของมัธยม ทำผลการเรียนในวิชานั้นได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ทางแก้ไขเดียวคือต้องลงเรียนใหม่ในเทอมหน้า และถ้าติดแล้วจะไม่มีสิทธิ์ได้เกียรตินิยมด้วย

# ดรอป คือ สมมติว่าสอบกลางภาคแล้วได้คะแนนน้อย มีหวังติด F เราจึงดรอป (หยุดเรียน) ในวิชานั้นเพื่อลงเรียนใหม่ในเทอมหน้าเพื่อเกรดที่สวยกว่า

# พี่ว๊าก คือ คนที่คอยสอนระเบียบน้องปี 1 เมื่อเข้าห้องเชียร์ มีพลังเสียงที่ดุดันและลักษณะภายนอกดูน่ากลัวสำหรับน้อง ๆ  

# งดเซ็ค, ยกคลาส คือ ได้ยินแล้วเตรียมเฮเพราะแปลว่าไม่มีเรียน อาจเพราะอาจารย์ไม่ว่างหรือติดธุระด่วน  

 

 

คำแนะนำจากรุ่นพี่ 


คำแนะนำจากรุ่นพี่ 

อยู่มหาวิทยาลัยใช้เงินอย่างไรให้ถึงสิ้นเดือน ?
ตอบ : ซื้อกระปุกมาหยอดเหรียญที่เหลือในแต่ละวัน หรือเก็บแบงค์ 50 บาทเอาไว้ แล้วเงินที่อยู่ในนั้นแหละจะช่วยชีวิตเราเมื่อใกล้ถึงสิ้นเดือน
 

เรียนยังไงให้ได้ A ?

ตอบ : ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทำเกรดเทอมแรกให้ดี เพราะปี 1 เนื้อหายังเป็นพื้นฐานสามารถเก็บ A ได้เยอะ แล้วจะสบาย

ปี 1 ย้อมสีผมได้ไหม ?
ตอบ : แนะนำว่าให้ทำหลังรับน้องเสร็จแล้วจะดีกว่า อย่าลืมว่าการแต่งตัวให้เรียบร้อยก็ถือเป็นการให้เกียรติสถาบันด้วย เพราะปี 1 ยังต้องใส่กระโปรงยาวและรองเท้าขาวทั้งปี


แนวข้อสอบของอาจารย์จะบอกตอนไหน ?

ตอบ : รู้แล้วเหยียบไว้ สิ่งที่จะไกด์แนวข้อสอบได้ใกล้เคียงที่สุดจะอยู่ที่ Course Syllabus หรือแผนการสอนที่อาจารย์ประจำวิชาแจกให้เมื่อเข้าเรียนครั้งแรก ทำความเข้าใจเนื้อหาที่ถูกพูดถึงในจุดประสงค์รายวิชาให้แม่นก็ทำข้อสอบได้เกินครึ่งแล้ว 

 

ไม่เข้ารับน้อง/ประชุมเชียร์เป็นอะไรไหม ?
ตอบ : ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น ทุกกิจกรรมอยู่ที่ความสมัครใจของเราเอง ถ้าใครไม่อยากเข้าก็ไม่ต้องเข้าก็ได้ ไม่มีผลกระทบกับการเรียนหรือเกรดใด ๆ แต่อาจจะรู้จักหรือสนิทกับเพื่อนช้ากว่าคนอื่น หรือไม่ค่อยรู้จักรุ่นพี่ในสาขาเท่านั้นเอง


ลงทะเบียนไม่ทันทำอย่างไร ?
ตอบ : ถ้าลงทะเบียนเรียนในวิชาไหนไม่ทันจริง ๆ ก็สามารถไปแอดหน้าเซคได้ในบางวิชา แต่ต้องถามอาจารย์ในรายวิชานั้น ๆ ก่อนว่าสามารถแอดได้หรือไม่ โดยการไปรอแอดหน้าห้องเรียนจะต้องไปในวันที่วิชานั้นเปิดสอนวันแรก และต้องไปแต่เช้า ถ้าไปสายอาจลงไม่ทันคนอื่น นกไปอีกรอบจ้า
 

ถ้าติด F เขาจะไม่รับเข้าทำงานจริงไหม ?
ตอบ : ไม่จริงค่ะ ที่เขาจะไม่รับเข้าทำงานน่าจะเป็นการติด F แล้วก็ชิว ไม่ตั้งใจแก้ให้ดีขึ้นมากกว่า เพราะมันแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ การรับคนเข้าทำงานเขาไม่ได้ดูที่เกรดอย่างเดียว ยังดูบุคลิกภาพ ความสามารถเฉพาะทาง คือต้องมีดีให้เขาเห็น ติด F วิชานี้ แต่ A รวดวิชาอื่น ก็สู้ได้
 

เรียนยังไงให้ได้เกียรตินิยม ?
ตอบ : เกาะกลุ่มกับเพื่อนไว้ อย่ามีเพื่อนกลุ่มเดียว ไปด้วยกันไปได้ไกลเคยได้ยินไหม หาให้เจอว่าสไตล์การเรียนของตัวเองเป็นแบบไหน อ่านหนังสืออย่างไรที่ทำให้จำได้แม่น เรียนอย่างไรให้เข้าสมอง ต้องซีเรียสกับเรื่องพวกนี้มากกว่าคนอื่น ไม่ใช่เรียนแบบให้ผ่านไปวัน ๆ
 

ถ้าเรียนไม่ไหวแล้วจะซิ่วได้ไหม ?
ตอบ : ซิ่วได้แน่นอน เพราะการซิ่วไม่ได้แสดงถึงความล้มเหลวอะไรขนาดนั้น บางคนเรียนไปจนถึงปี 3 แล้วเพิ่งรู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับสิ่งที่เรียนอยู่ก็มี แต่ก่อนที่จะซิ่วออกมาต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมถึงซิ่ว และถ้าซิ่วแล้วจะไปไหนต่อ เมื่อซิ่วออกไปแล้วสิ่งที่เลือกต้องตรงกับสายงานหรืออาชีพที่ต้องการจริง ๆ นะ
 

อยู่หอในแล้วลำบากไหม ?
ตอบ : ไม่ลำบาก เพราะหอในค่อนข้างทำให้ใช้ชีวิตในการเรียนมหาวิทยาลัยสะดวกสบายมากขึ้น เพราะอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย เราจะมีเวลานอนมากขึ้น และเวลาลืมของก็สามารถกลับไปเอาได้เลย การเดินทางก็สะดวก ทำให้เราประหยัดเงินค่าเดินทางได้ แถมกับข้าวหอในก็ถูกมาก

 

 

 

 

แหล่งข้อมูล

Posters That Perfectly Depict Differences Between School And College Life. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 จาก https://www.wittyfeed.com

คุณค่าและความสำคัญของกิจกรรมนักศึกษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 จาก  http://www.stou.ac.th

สิ่งที่ควรจะรู้ก่อนจะเข้า มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 5  พฤษภาคม 2560 จาก http://www.unigang.com

How To Make Friends In College Or University. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 จาก http://www.succeedsocially.com/howtomakefriendscollege

 

 

เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพประกอบ : พลอยขวัญ สุทธารมณ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow