Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ส่วนประกอบของเลือด

Posted By Plook Creator | 12 ก.ค. 60
321,366 Views

  Favorite

เคยสงสัยไหมว่า เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ผ่านระบบย่อยแล้ว สารอาหารเหล่านั้นสามารถเดินทางไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างไร

 

หากรถบรรทุกมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เลือดในร่างกายของเราก็คงทำหน้าที่ไม่ต่างกัน เพราะเลือดมีหน้าที่ลำเลียงทั้งก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สารอาหาร ของเสีย ตลอดจนฮอร์โมน และแอนติบอดีจากระบบภูมิคุ้มกัน ไปยังเซลล์และอวัยวะเป้าหมายต่าง ๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ เลือดยังช่วยปรับอุณหภูมิภายในร่างกายและสมเดุลกรด-เบส ให้อยู่ในภาวะปกติอีกด้วย ดังนั้น เลือดจึงมีความสำคัญต่อการมีชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่ง

 

ในร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยเลือดประมาณ 5 ลิตร หรือ 7-8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว นั่นหมายถึง คนที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม จะมีเลือดอยู่ 3-4 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

ส่วนประกอบของเลือด

เลือดประกอบด้วยส่วนที่เป็นของเหลว เราเรียกว่า น้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma) และของแข็ง ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด

 

1. น้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma)
ในเลือดประกอบไปด้วยน้ำเลือดหรือพลาสมา 55 เปอร์เซ็นต์ และใน 55 เปอร์เซ็นต์นี้ก็ประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลืออื่น ๆ เป็นโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ เอนไซม์ ฮอร์โมน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปยังเซลล์และอวัยวะเป้าหมาย จากนั้นพลาสมาจะรับของเสียจากเซลล์ เช่น ยูเรีย เพื่อนำไปกำจัดออกนอกร่างกายต่อไป

 

2. เซลล์เม็ดเลือด
2.1 เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells, RBCs หรือ Erythrocytes) มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาที่ปอด เซลล์เม็ดเลือดแดงมีลักษณะกลมแบน แต่มีรอยบุ๋มตรงกลางเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการขนส่งออกซิเจน ไม่มีนิวเคลียสและไมโทคอนเดรีย  ใช้พลังงานจากการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Respiration) เส้นผ่านศูนย์กลางของเซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาด 7 ไมครอน หนา 2.2 ไมครอน ประกอบด้วย ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ในเลือดจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ 45 เปอร์เซ็นต์ของเลือดทั้งหมด โดยสร้างจากไขกระดูก และมีอายุ 120 วัน หลังจากนั้นจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ม้าม และไขกระดูก
2.2 เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells, WBCs หรือ Leucocytes) เซลล์เม็ดเลือดขาวมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 ไมครอน มีนิวเคลียสขนาดใหญ่ มีอายุ 2-14 วัน ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคด้วยวิธีต่าง ๆ กัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
     1) เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีแกรนูล (Granules) อยู่ในไซโตพลาซึม สร้างจากไขกระดูก
     - นิวโทรฟิล (Neutrophil) เป็นเซลล์ที่ย้อมแล้วจะเห็นเป็นสีเทา ๆ มีจำนวน 60-70 เปอร์เซ็นต์ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ทำหน้าที่ต่อสู้กับแบคทีเรียและเชื้อรา โดยการกินและปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายแบคทีเรียหรือที่เรียกว่า วิธีฟาโกไซโทซิส จากนั้นจะตายไปพร้อมกับแบคทีเรียและกลายสภาพเป็นหนอง
     - อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เป็นเซลล์ที่ย้อมติดสีชมพู มีหน้าที่ป้องกันการแพ้พิษ และต่อสู้กับปรสิตโดยวิธีฟาโกไซโทซิสเช่นเดียวกับนิวโทรฟิล
     - เบโซฟิล (Basophil) เป็นเซลล์ที่ย้อมติดสีน้ำเงิน มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคโดยการหลั่งสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอักเสบ
     2) เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทที่ไม่มีแกรนูลอยู่ในไซโตพลาซึม สร้างจากม้าม ต่อมไทมัส และต่อมน้ำเหลือง
     - ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) มี 2 ชนิดคือ T-cell เจริญและพัฒนาที่ต่อมไทมัส ป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคโดยการเข้าปะทะโดยตรง และ B-cell เจริญและพัฒนาที่ไขกระดูก ป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคโดยการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้าน
     - โมโนไซต์ (Monocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รูปร่างของนิวเคลียสมีลักษณะคล้ายไต กำจัดได้ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และปรสิต โดยวิธีฟาโกไซโทซิส

ภาพ : Shutterstock

 

3. เกล็ดเลือดหรือเพลตเลต (Platelet)
มาจากเศษของ Megakaryocytes ที่พบในไขกระดูก ไม่มีนิวเคลียส อายุของเกล็ดเลือดประมาณ 5-9 วัน หลังจากนั้นจะถูกทำลายที่ตับและม้าม เกล็ดเลือดทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว โดยการปล่อยสารทรอมโบพลาสตินซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมา ทรอมโบพลาสตินจะไปกระตุ้นโพรทรอมบินให้กลายเป็นทรอมบิน ทรอมบินกระตุ้นไฟบริโนเจนให้กลายเป็นไฟบริน ซึ่งจะรวมตัวสานกันในลักษณะตาข่ายเพื่อปิดบาดแผลไว้


เลือดของคนมีสีแดง เนื่องจากประกอบด้วยฮีโมโกลบินซึ่งเป็นรงควัตถุสีแดงและมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ โดยความเข้มของสีจะขึ้นกับระดับของออกซิเจน หากออกซิเจนมาก เลือดก็จะมีสีแดงสด หากมีออกซิเจนน้อย เลือดก็จะมีสีคล้ำ แต่สำหรับเลือดของสัตว์อื่น ๆ อาจจะมีสีที่แตกต่างออกไปเป็นสีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว เป็นต้น เนื่องจากมีรงควัตถุที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเลือดของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอยทาก หมึก ซึ่งเลือดของมันประกอบด้วย ฮีโมไซยานิน (hemocyanin) ไม่ใช่ฮีโมโกลบินเหมือนกับคน แม้จะทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนเหมือนกัน แต่ฮีโมไซยานินเป็นโปรตีนที่ประกอบไปด้วยโลหะหนักอย่างทองแดง เลือดของมันจึงเป็นสีน้ำเงินเมื่อมีออกซิเจน และจะไม่มีสีเมื่อไม่มีออกซิเจน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- แอนติเจนกับแอนติบอดีต่างกันอย่างไร

- อันตรายจากภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow