Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคเบาหวานในเด็ก...โรคร้ายที่ควรระวัง

Posted By Plook Parenting | 07 ก.ค. 60
9,292 Views

  Favorite

หากพูดถึงโรคเบาหวาน หลายคนมักนึกไปถึงโรคที่เกิดในผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “เด็ก” ก็สามารถเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก

 

โดยทั่วไปโรคเบาหวาน มักเกิดจากความผิดปกติของเมตาบอลิสมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เนื่องจากร่างกายหลั่งสารอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่เพียงพอ หรือมีความผิดปกติของอวัยวะเป้าหมายของอินซูลิน ได้แก่ ตับ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อไขมัน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งโรคเบาหวานในเด็ก พบได้ 3 ชนิด คือ

     • เบาหวานชนิดที่ 1 : พบได้บ่อยในเด็กเล็กและวัยรุ่น เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง คือ ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อต้านตนเอง (Autoimmune) และภูมิคุ้มกันนี้ได้ไปทำลายตับอ่อนทีละน้อยจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ในที่สุด

     • เบาหวานชนิดที่ 2 : เป็นชนิดเดียวกับที่พบในผู้ใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะอ้วน และมักพบว่าบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน

     • เบาหวานชนิดที่ 3 : เบาหวานที่เกิดจากยาหรือการติดเชื้อบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ หากได้รับติดต่อกันในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการหน้าบวม ตัวบวม และระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้

 

ปัจจุบันเด็กเป็นเบาหวานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะอ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย กินของหวานมันมากเกินไป หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าเด็กปัสสาวะบ่อยและเยอะ ปัสสาวะรดที่นอนในวัยที่ไม่สมควร ปัสสาวะแล้วมีมดตอม อ่อนเพลีย กินจุ หิวบ่อย และน้ำหนักลด ผิวหนังเป็นปื้นหนาสีดำที่บริเวณซอกคอหรือรักแร้ ให้สันนิษฐานว่าเด็กเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย สามารถตรวจคัดกรองได้ก่อนจะมีอาการ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน และมีประวัติคนในบ้าน เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เป็นเบาหวาน

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการรักษา

1. ใช้ยาอินซูลิน

หากแพทย์วินิจฉัยว่าควรฉีดอินซูลิน คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยต้องฉีดอย่างน้อย 3-4 ครั้งทุกวัน พร้อมทั้งไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

2. ควบคุมอาหาร

ในกรณีที่เด็กมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์หรือเข้าข่ายเป็นเด็กอ้วน คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มควบคุมปริมาณและชนิดของอาหาร โดยให้เด็กกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น ไม่ควรให้เด็กงดขนมหรือของหวานในทันที แต่ควรลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้

 

3. หมั่นออกกำลังกาย

ในวันหยุดหรือเวลาว่าง ควรชวนเด็กมาออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญและการทำงานของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายควบคุมปริมาณของน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

 

4. สร้างทัศนคติที่ดีในการดูแลสุขภาพแก่เด็ก

การรักษาสุขภาพ นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เด็กอยู่ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และช่วยให้เขามีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย หากเด็กมีทัศนคติในการดูแลสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยให้เขามีพฤติกรรมด้านบวกที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีได้ไม่ยาก

 

5. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานแก่เด็ก

สำหรับเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้เขาเข้าใจว่าโรคเบาหวานมีที่มาอย่างไร มีอาการอย่างไร และควรประพฤติตัวอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยปรับทัศนคติให้เขาเข้าใจโรคภัยของตัวเองมากขึ้น หากมีการรักษาในขั้นตอนต่อไปเด็กก็จะเข้าใจและให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจพาเด็กไปร่วมกิจกรรมกับผู้ป่วยโรคเดียวกัน เพื่อส่งเสริมกำลังใจและกลุ่มเพื่อนให้กับเด็กเพิ่มด้วยก็ได้เช่นกัน

 

แม้โรคเบาหวานจะเป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง แต่หากเป็นในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้ารู้จักดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่หากเด็กเป็นโรคเบาหวานแล้วก็ควรส่งเสริมให้เขาเผชิญหน้าและยอมรับความจริง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น และให้เด็กโตขึ้นอย่างเข้มแข็งต่อไป

 

 

----------------------------------------------------

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มองหาเครือข่ายผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถติดตามได้ที่

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

www.dmthai.org

หรือที่ เว็บไซต์ ชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน www.thaidiabetes.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow