Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรเมื่อเรากลายเป็น พ่อแม่ขี้โมโห

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 04 ก.ค. 60
6,173 Views

  Favorite

การเลี้ยงลูกนั้นต้องการทั้งเวลา ความเข้าใจ และการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่บางคนอาจมีอารมณ์ขึ้นง่ายลงง่ายในสมัยที่ยังเป็นหนุ่มสาว แต่เมื่อมีลูกแล้วอารมณ์เหล่านี้จะต้องถูกควบคุมให้ได้

 

เพราะการที่พ่อแม่แสดงอารมณ์รุนแรงใส่ลูกบ่อยครั้งนั้นจะส่งผลในระยะยาวต่อพื้นฐานอารมณ์ของลูก บางครั้งพ่อแม่อาจจะลืมไปแล้วว่าดุลูก แต่ภาพเหล่านั้นได้ฝังลึกลงในความทรงจำของลูกแล้ว

 

ถึงเวลาที่เราต้องมาวิเคราะห์กันว่า อะไรทำให้เราโมโห และเราควรจะรับมือกับมันอย่างไร บางครั้งเราแค่ต้องพยายามเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และหันกลับมามองตัวเราเองมากขึ้น การขึ้นเสียงใส่ลูกอาจเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนถือเป็นการสั่งสอนตามปกติ ซึ่งก็อาจจะเป็นผลดีสำหรับในบางกรณี แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องสังเกตการตอบสนองของลูก ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่หลังจากที่คุณตะโกนใส่เขา หรือมีแต่ทำตัวแย่ลง ?

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. 1 2 3 4 5 I love you

จงมองลูกด้วยความรัก และทำความเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็ต้องซน ต้องดื้อบ้างเป็นเรื่องปกติ อย่าเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ทำให้จิตใจของเราขุ่นมัว ให้คิดง่าย ๆ เหมือนว่าฝนตก ก็มองว่าอืม ฝนมันตกซักพักมันก็หยุด ถ้าเรามาหงุดหงิด หรือไปตวาดใส่สายฝนว่าจะตกทำไม ตกอะไรกันนักกันหนา มันก็คงไม่หยุดให้ พยายามนึกอยู่เสมอว่า เมื่อลูกหงุดหงิด โมโห หรือกำลังอาละวาด นั่นเป็นเพราะลูกยังจัดการกับอารมณ์ของตนเองไม่ดีพอ เราต้องหลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์กับลูกในช่วงนี้ เมื่อลูกแปล่งร่างเป็นก๊อตซิล่าตัวน้อย พ่อแม่ก็เพียงแค่เฝ้าดูและคอยให้กำลังใจ

 

2. อย่าเอาอารมณ์ลูกมาเป็นอารมณ์ของเรา

บ่อยครั้งที่เรามักหงุดหงิดไปตามอารมณ์ของลูก พ่อแม่ต้องพยายามฝึกและควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ให้อ่อนไหวไปกับอารมณ์ของลูก ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรับรู้อารมณ์ของตัวเองแล้วฝึกฝนตัวเอง พยายามหาวิธีจัดการกับความโกรธของตัวเองให้ได้

 

3. พูดด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์

ในบางครั้งเราอาจจะเจอสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการตักเตือนสั่งสอนลูก สิ่งสำคัญก็คือเราต้องจำไว้ว่า เราดุลูกด้วยเหตุผลใด วัตถุประสงค์แรกเริ่มที่เราต้องทำเช่นนี้เพราะอะไร การดุหรือตะคอกด้วยอารมณ์ นอกจากลูกจะไม่ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงพฤติกรรมจากการโดนดุแล้ว พ่อแม่ก็จะเครียดและหงุดหงิดไปด้วย สุดท้ายก็เสียสุขภาพจิตทั้ง 2 ฝ่าย

 

4. ลดความคาดหวังที่มากเกินไป

ในบางครั้งพ่อแม่อาจจะชอบตั้งกฏแล้วคาดหวังให้ลูกทำตาม พอลูกไม่ทำ หรือทำได้ไม่ดี พ่อแม่ก็จะโมโหลูก หงุดหงิดใส่ลูก เช่น ลูกต้องเล่นแล้วเก็บ ต้องเก็บที่นอนเอง ต้องเอาผ้าใส่ตะกร้า กินข้าวไม่หก รู้จักอดทนรอคอย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้ก็จริง แต่พ่อแม่ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ในบางเรื่องลูกอาจเรียนรู้ได้เร็ว ในบางเรื่องลูกอาจเรียนรู้ได้ช้า การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

 

ครั้งต่อไปถ้าลูกดื้อ หรืองอแงอีก ให้มองเขา มองหน้าเขา แล้วตั้งสติลองถามตัวเองว่าเราอยากได้ลูกที่เป็นเด็กขี้โมโห ขี้หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรืออยากได้ลูกที่เป็นเด็กใจเย็น มีอารมณ์มั่นคง จงระลึกอยู่เสมอว่าลูกยังอยู่ในวัยเรียนรู้และต้องการต้นแบบที่ดี ถ้าคุณมีความตั้งใจแน่วแน่ คุณทำได้แน่นอนค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow