Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลมมรสุม

Posted By Plookpedia | 04 ก.ค. 60
6,561 Views

  Favorite

ลมมรสุม

หลักของการเกิดลมมรสุมก็เป็นเช่นเดียวกับหลักของการเกิดลมบกลมทะเล หรือ ลมภูเขาและลมหุบเขา ซึ่งเกิดขึ้นจากความแตกต่างกันของอุณหภูมิระหว่างบริเวณสองแห่ง แต่ทว่า ระบบของการเกิดลมมรสุมปกคลุมบริเวณกว้างใหญ่กว่ามาก ซึ่งอาจจะกว้างยาวนับเป็นพันๆ กิโลเมตรได้ ความแตกต่างของอุณหภูมินี้ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างของความกดอากาศ คือ ในฤดูหนาว อุณหภูมิของทวีป จะเย็นกว่าอุณหภูมิของมหาสมุทร ความกดอากาศตามบริเวณแผ่นดิน จึงสูงกว่าความกดตามบริเวณมหาสมุทร โดยเหตุนี้ ลมในระดับต่ำๆ จึงพัดจากทวีปไปสู่มหาสมุทร ส่วนในฤดูร้อนอุณหภูมิของทวีปจะสูงกว่า อุณหภูมิของมหาสมุทร ความกดอากาศตามบริเวณแผ่นดินจึงน้อยกว่าความกดอากาศตามบริเวณมหาสมุทร โดยเหตุนี้ ลมในระดับต่ำจะพัดจากมหาสมุทรไปสู่ทวีป การพัดของลมในฤดูหนึ่งๆ นี้ เรียกว่า "ลมมรสุม"

แบบของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ในทิศตามเส้นที่มีลูกศร) ซึ่งพัดผ่านประเทศไทยที่ระดับ ๖๐๐ เมตร เวลา ๑๗.๐๐ น.
 (เวลาประเทศไทย) วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๒

 

อิทธิพลของมรสุมมีมากที่สุดในทวีปเอเซีย บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ บริเวณประเทศอินเดีย ปากีสถาน ไทย และแหลมอินโดจีน ในระหว่างฤดูหนาวผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียจะถูกปกคลุมด้วยอากาศเย็น และมีความกดอากาศสูง ตั้งแต่ผิวพื้นไปจนถึงสูงประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนตามบริเวณมหาสมุทรอินเดียจะมีความกดอากาศต่ำ ในลักษณะนี้ จะมีลมพัดจากระบบความกดอากาศสูง ไปสู่ระบบความกดอากาศต่ำ ระบบของลมในบริเวณนี้มักจะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเรียกกัน ว่า "ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ" (northeast monsoon) กระแสลมนี้ค่อนข้างเย็น และมีความชื้นน้อย จึงมีฝนได้เพียงตามบริเวณชายฝั่งเท่านั้น เช่น ตามฝั่งอินโดจีน ส่วนบริเวณลึกเข้าไปในแผ่นดิน เช่น ตอนบนของประเทศไทย ฝนจะตกเป็นจำนวนน้อยมาก ฤดูนี้เรียกว่า ฤดูหนาว อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนในฤดูร้อน ตั้งต้นจากเดือนมีนาคม ถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิบนผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีนจะร้อนกว่า และมีความกดอากาศน้อยกว่าอากาศตามบริเวณพื้นมหาสมุทรอินเดีย ในลักษณะ นี้ลมจะพัดจากมหาสมุทรอินเดียไปสู่แผ่นดินใหญ่ ลมนี้มักจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า "มรสุมตะวันตกเฉียงใต้" (southwest monsoon) ลมชนิดนี้ค่อนข้างชื้น และพัดหอบไอน้ำไปได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลมมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทยตอนบนขึ้นไป จะทำให้ฝนตกชุก ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จึงอาจเรียกว่า เป็นฤดูฝนได้

แบบของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ในทิศตามเส้นที่มีลูกศร) ซึ่งพัดผ่านประเทศไทยที่ระดับ ๖๐๐ เมตร เวลา ๑๗.๐๐ น.
 (เวลาประเทศไทย) วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๒

 

กระแสลมอุ่น ซึ่งมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อพัดผ่านบริเวณภูเขาจะทำให้กระแสลมนี้ ลอยตัวขึ้น ในการลอยตัวขึ้นนี้ อากาศก็จะขยายตัว และเย็นลง ไอน้ำจะกลั่นตัวตกลงมาเป็น ฝน และพายุฟ้าคะนองอย่างหนัก ตัวอย่างของปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือ ที่เมืองเชอราปุนจิ ในประเทศอินเดีย ได้เคยมีฝนตกมากถึง ๔๕๐ นิ้ว (๑๑,๒๕๐ มิลลิเมตร) ชั่วในระยะ เวลาเพียง ๔ เดือนเท่านั้น 

ลมมรสุมอาจจะเกิดขึ้นในบริเวณอื่นๆ ของโลกได้ เช่น บริเวณตอนเหนือของทวีป ออสเตรเลีย บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ ของสหรัฐอเมริกา บริเวณตะวันออกเฉียงใต้และ ตะวันตกของทวีแอฟริกา เพราะในระหว่างฤดูร้อน เมื่อผืนแผ่นดินมีอุณหภูมิ และความกดอากาศต่ำ ลมจากทะเลจะพัดเข้าหาผืนแผ่นดิน แต่ปรากฏการณ์ของมรสุมตามบริเวณ ที่ต่างๆ ของโลกดังกล่าว ยังไม่เด่นชัดเท่ากับปรากฏการณ์ของมรสุมตามบริเวณประเทศ อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงรายละเอียดของมรสุมในประเทศไทยต่อไปในหัวข้อภูมิอากาศของประเทศไทย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow