Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โครงการ "ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" ปี 2560

Posted By Plook Teacher | 03 ก.ค. 60
6,333 Views

  Favorite
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ.2560 (กรณีคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2559) จำนวน 3,554 คน เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
 
ภาพ : moe.go.th

 

 
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทุกท่าน ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วย จึงขอบรรยายให้เห็นภาพการปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลในปัจจุบัน 4 เรื่อง คือ 1) ข้อมูลพื้นฐานระบบการศึกษาของประเทศ 2) การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 3) การน้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษาใส่เกล้าฯ เป็นแนวทางปฏิบัติ 4) นโยบาย Thailand 4.0
 

1) ข้อมูลพื้นฐานระบบการศึกษาของประเทศ (Education in THAILAND)

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ (Evidence-based Policy) โดยอ้างอิงจากผลประเมินจากการทดสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) จัดโดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นปรอทวัดอุณหภูมิการศึกษาที่สำคัญของโลก ในวิชาที่เป็นหัวใจของการพัฒนา 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยทำการประเมินทุก ๆ 3 ปี เพื่อเปรียบเทียบผลการจัดการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 15 ปี ในประเทศตนเองและกับประเทศอื่น ๆ
 
ปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) เป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ และเป็นปีที่ไทยเข้าร่วม PISA ซึ่งผลคะแนนของการทดสอบ PISA ทุก ๆ 30 คะแนนที่ห่างจากค่าเฉลี่ย PISA จะเท่ากับ 1 ปีการศึกษา นั่นก็คือผลสอบปีล่าสุด พบว่าเด็กไทยอายุ 15 ปีที่เข้ารับการทดสอบ PISA มีความรู้ใน 3 วิชาดังกล่าว ห่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยเกือบ 3 ปีการศึกษา หรือยังคงอยู่ห่างจากสิงคโปร์ 5 ชั้นปี นอกจากนี้ ข้อมูลการสอบ PISA ในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมาก็พบด้วยว่า เด็กที่ติดอันดับสูงสุดของไทย 10% ได้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 550 คะแนน แต่เด็กที่อ่อนที่สุดได้คะแนนเฉลี่ย 350 คะแนน ซึ่งเท่ากับว่าเราห่างกันเอง 200 คะแนน มากกว่าเราห่างจากสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่าทิศทาง 16 ปีที่ผ่านมา วิธีการและการลงทุนในการปฏิรูปการศึกษาด้านต่าง ๆ ของไทยต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก
 
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์กลุ่มโรงเรียนที่เข้ารับการทดสอบ PISA ของไทย พบว่าโรงเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำที่สุด ถัดมาตามลำดับคือ อบต./อบจ.,โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา, โรงเรียนเอกชน, โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป, โรงเรียนสาธิต จนถึงกลุ่มที่ได้คะแนนสูงที่สุดซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนชั้นนำ เช่น เตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบวิทยาลัย หรือกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ คือ จุฬาภรณราชวิทยาลัย และมหิดลวิทยานุสรณ์, ส่วนคะแนนการสอบของโรงเรียนขยายโอกาสฯ ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีคุณภาพต่ำไปกว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป แต่ที่ต้องให้ความสนใจที่จะต้องดูแล คือ โรงเรียนเอกชน เพราะรับผิดชอบดูแลเด็กนักเรียนกว่า 2 ล้านคน ถัดมาคือ กทม. ซึ่งมีคะแนนไม่ถึง 400
 
สิ่งเหล่านี้ เป็นความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษาปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ความสนใจวิเคราะห์เพื่อนำไปแก้ปัญหาใน 2 เรื่องหลัก คือ "คุณภาพการศึกษา" และ "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" เพื่อต้องการยกระดับเส้นล่างสุดของคะแนนสอบ PISA ให้ขึ้นมา ให้อุณหภูมิทางการศึกษาสูงขึ้น ในขณะที่โรงเรียนชั้นนำ เช่น มหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งสูงติดอันดับต้นของโลก ก็ไม่น่าห่วงเรื่องเหล่านี้
 
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอยู่ในระดับล่างสุด แต่ในขณะเดียวผลการวิเคราะห์ยังพบว่า "จนแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีผลการเรียนตามความยากจน" ซึ่งตัวอย่างที่ดีคือประเทศเวียดนามที่ได้อันดับ PISA ติดอันดับต้นของโลก เพราะเด็กยากจนที่สุดของเวียดนามสามารถเอาชนะเด็กที่มีความพร้อมหรือเด็กรวยที่สุดของ OECD ที่อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปได้ ทำให้เห็นบทเรียนสำคัญของเวียดนามที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การส่งเสริมให้เด็กอยากที่จะเรียนหนังสือ (Mindset) เพราะสถิติพบว่าเด็กเวียดนามตื่นเต้นกับการเรียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา โดยในจำนวนเด็ก 100 คนจะพบเด็กอยากเรียนหนังสือมากถึง 77 คน ส่วนเด็กไทยที่อยากเรียนหนังสือใน 100 คนจะพบเพียง 18 คน หากเราปล่อยไปแบบนี้ เวียดนามก็จะห่างจากเราไปเรื่อย ๆ
 
รัฐบาลจึงได้มีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ในโครงการสำคัญ เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาเป็นครูในท้องถิ่นของตนเอง และเป็นระบบที่สอดคล้องกับแนวคิดของ Bill Gates ที่ว่า "วิธีการเปลี่ยนระบบการศึกษาที่สำคัญที่สุด คือ หาครูที่เก่งที่สุด ไปสอนเด็กที่อ่อนที่สุด"
 
จึงขอให้ "ว่าที่ครูผู้ช่วย" ผู้เข้ารับการปฐมนิเทศครั้งนี้ทั้ง 3,554 คน จงภูมิใจในตัวเองที่จะเป็นผู้ปฏิรูประบบการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศในอนาคต
 
ภาพ : moe.go.th

 

2) การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมียุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่ดำเนินการ 6 ด้าน คือ
 
ภาพ : moe.go.th

 

            1) ความมั่นคง  ตัวอย่างคือ กิจกรรมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กำกับดูแลและลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ หากในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไม่สงบก็จะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา หรือการฟื้นฟูการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็เป็นเรื่องของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
            2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน  โดยส่งเสริมให้มีคนไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ อาทิ การส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษ หรือการอาชีวศึกษาแนวใหม่ที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้การอาชีวศึกษาของไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศมากขึ้น ก็ถือเป็นตัวอย่างกิจกรรมโครงการของยุทธศาสตร์ด้านนี้
            3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์  โดยเฉพาะการลงทุนกับเด็กเล็กในระดับ Pre-school เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการลงทุนที่ได้ผลมากที่สุด รวมถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) อีกด้วย
            4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  อาทิ ผลการประเมินการทดสอบ PISA ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมกับโรงเรียนในชนบทที่ยังขาดการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จึงต้องกลับไปพิจารณาว่าโรงเรียนเหล่านั้นยังขาดอะไรบ้าง เช่น ขาดครูกี่คน มีครูครบชั้นหรือไม่ ครูสอนไม่ตรงสาขา เป็นต้น เพื่อทำการสนับสนุนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด
            5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายโครงการที่สำคัญ อาทิ  โครงการเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น
            6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  โดยกลไกสำคัญที่สุดคือ ปฏิรูประบบบริหารราชการ หรือการใช้มาตรา 44 ในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อปรับปรุงระบบบริหารราชการให้ภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากขึ้น
 
ภาพ : moe.go.th

 

3) น้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัด

กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัด
 
สำหรับการสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้ทรงมีแนวพระราชกระแสฯ ที่ได้ทรงพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน ครู และการศึกษา อาทิ
 
ภาพ : moe.go.th
ภาพ : moe.go.th
ภาพ : moe.go.th
ภาพ : moe.go.th
ภาพ : moe.go.th

 

ประการสำคัญที่พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท คือ วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับปัญหาที่ครูมุ่งเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ที่ไม่เน้นให้ครูมุ่งเน้นไปที่การจัดทำเอกสารทางวิชาการ งานวิจัย หรือการเขียนวิทยานิพนธ์มาเสนอ แต่ระบบใหม่จะเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เพื่อให้ครูที่สอนเก่ง สอนดี สอนมาก โดยพิจารณาทั้งปริมาณการสอนและคุณภาพการสอน โดยจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครั้งใหม่ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560
 
สำหรับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีใจความสำคัญว่า "การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 3 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education) 3) ให้นักเรียนมีอาชีพ มีงานทำ
 
ภาพ : moe.go.th

 

4) การดำเนินการตามนโยบาย Thailand 4.0

โลกได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมระบบกลไก (Mechanical) ครั้งที่ 2 เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้า (Electrical) ครั้งที่ 3 การปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และครั้งที่ 4 ในเวลานี้ คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ (Integral) ซึ่งส่งผลให้ระบบสมอง ทั้งสมองมนุษย์ สมองเทียม สมองกล ประมวลผลจนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และมีการใช้สมองกลควบคุมเครื่องจักรกลโดยอัตโนมัติมากขึ้น เช่น โครงการ Smart City ในหลายนครชั้นนำของโลก
 
สำหรับนโยบาย Thailand 4.0 คือ โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่แตกต่างกันที่กลุ่มการลงทุนหลักของประเทศในขณะนั้น โดยเริ่มต้นที่ Thailand 1.0 ซึ่งรัฐบาลเน้นการลงทุนทางภาคเกษตรกรรม ส่วน  Thailand 2.0 มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเบา และมีการใช้แรงงานจำนวนมากแทน จนถึงยุคปัจจุบันคือ Thailand 3.0 ซึ่งเป็นยุคของอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เน้นเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น มีการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันรัฐบาลเห็นว่าสร้างรายได้ประเทศอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่สมดุลในการพัฒนา ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและพื้นฐานเพื่อให้ก้าวข้ามจาก Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ใน 3-5 ปีนี้
 
Thailand 4.0 จึงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยนำเอาความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน และนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่การบริการมากขึ้นที่จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เพิ่มเข้ามา
 
กระทรวงศึกษาธิการจึงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สมดุล มีคุณภาพ มีการผลิตกำลังคนเพื่อสนองตอบความต้องการกำลังคน ทั้งสาขาวิชา First S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งการน้อมนำศาสตร์พระราชาเข้าสู่การพัฒนา Thailand 4.0 มีโครงการโรงเรียนคุณธรรมเกิดขึ้น  โดยครูรุ่นใหม่จะต้องสร้างระบบการศึกษาและเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อให้สังคมไทยมีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ
 
กระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญต่อการ "สร้างคน" เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0

 

เกี่ยวกับ "โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น"

 
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ.2560 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ได้เห็นชอบโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2559-2572) ซึ่งแต่เดิมคือชื่อโครงการคุรุทายาท แต่เปลี่ยนชื่อเป็น "โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาเป็นครู เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตครูจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
 
โดยในปี 2559 เป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ และปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้ดำเนินการ โดยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (กรณีคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2559) ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00 และผ่านการสอบคัดเลือกใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) จำนวน 3,792 คน โดยมารายงานตัวจำนวนทั้งสิ้น 3,554 คน
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้รับทราบแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในระหว่างการเตรียมตัวและการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะออกไปเป็นครูในพื้นที่ต่าง ๆ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้บัณฑิตเมื่อจบแล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง.
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow