Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคพาร์กินสัน

Posted By Plookpedia | 12 เม.ย. 60
12,117 Views

  Favorite

โรคพาร์กินสัน

เมื่อคนเรามีอายุล่วงเข้าสู่วัยชรา ก็จะมีโรคต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีความผิดปกติเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เดินตัวไม่ตรง หลังค่อม ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว นัยน์ตาฝ้าฟางมองเห็นได้ไม่ชัดเจน หูตึง พูดจาลิ้นรัว ฟังเข้าใจได้ลำบาก หลงลืมง่าย

 

เมื่อคนเรามีอายุล่วงเข้าสู่วัยชรา ก็จะมีโรคต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีความผิดปกติเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เดินตัวไม่ตรง หลังค่อม ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว นัยน์ตาฝ้าฟางมองเห็นได้ไม่ชัดเจน หูตึง พูดจาลิ้นรัว ฟังเข้าใจได้ลำบาก หลงลืมง่าย

ในบรรดาโรคต่างๆ ที่เกิดกับผู้สูงอายุ มีอยู่โรคหนึ่งเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า โรคพาร์กินสันชื่อโรคนำมาจากชื่อของแพทย์ชาวอังกฤษ คือ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานเกี่ยวกับโรคนี้เป็นคนแรก เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว จากรายงานนี้ ทำให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงเรื่องราวเบื้องต้นของโรคพาร์กินสัน หลังจากนั้น ก็มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุและอาการต่างๆ ของโรคนี้ ตลอดจนวิธีการรักษา จนเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ปัจจุบัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง เกิดจากสมองผลิตสารที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ไม่เป็นปกติ ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย ตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป และผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง ในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๒

 

 

อาการของผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีอาการสั่นที่มือและเท้า มีการเคลื่อนไหวช้าหรือเดินตัวเกร็ง แขนไม่แกว่งขณะเดิน ท่าเดินมีการงอข้อศอกและข้อเข่า จึงทำให้ผู้ป่วยเดินตัวซุนๆ ไปข้างหน้า หรือเซไปข้างใดข้างหนึ่ง มีความผิดปกติในการพูด เช่น พูดเสียงค่อยลง หรือพูดไม่ชัด เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเขียนได้ลำบาก แม้กระทั่งการเซ็นชื่อของตนเองก็ตาม

 

 

อาการดังกล่าวข้างต้นเป็นอาการแสดงที่บ่งบอกว่าป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แต่การที่จะทราบได้แน่นอนว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบประสาทเป็นผู้วินิจฉัย เนื่องจากมีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และความพิการทางสมองอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคพาร์กินสันได้หลายชนิด

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันแล้ว มีวิธีการบำบัดรักษาโดยแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น และระยะที่มีอาการมาก และเป็นมานาน

 

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในระยะเริ่มต้น แพทย์จะให้ยาซึ่งสามารถหยุดหรือชะลอการขยายตัวของโรคให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่การบำบัดรักษาจะต้องทำอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว การให้ยาจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับชนิดของยาให้เหมาะสมกับอาการของโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยากินเอง

 

 

นอกจากการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย  โดยทำการบริหารร่างกายในท่าต่างๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และให้มีการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรค ด้วยวิธีการบริหารร่างกายของผู้ป่วยโดยเฉพาะ

 

 

หากการบำบัดรักษาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการมากและเป็นมานานแล้ว ก็ต้องใช้วิธีการบำบัดรักษาโรค โดยการผ่าตัดสมองฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ วิธีนี้เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยในระยะท้ายๆ ของโรคมีอาการดีขึ้น แม้จะไม่หายขาดก็ตาม ในประเทศไทยมีการผ่าตัดผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ หลังจากนั้นก็มีการผ่าตัดผู้ป่วยรายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของไทย ในการรักษาโรคนี้ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีช่องทางในการรักษาได้มากขึ้น

 

โรคพาร์กินสันเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งโดยมากมักเริ่มเป็นโรคนี้ในช่วงอายุระหว่าง ๕๐ - ๗๐ ปี ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีอาการสั่นที่มือหรือเท้า เดินตัวเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า และทรงตัวลำบาก โรคนี้เกิดเนื่องมาจาก ความผิดปกติทางสมอง ที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายได้เช่นคนปกติธรรมดา

โรคพาร์กินสันมาจากชื่อของแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์  พาร์กินสัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๙๘ - ๒๓๖๗ นายแพทย์ผู้นี้ ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับโรคนี้ ออกเผยแพร่เป็นคนแรก ดังนั้น ในวงการแพทย์จึงตั้งชื่อโรคนี้ให้เป็นเกียรติแก่ท่าน

ในสมัยก่อนเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ว่าเกิดขึ้นที่บริเวณส่วนใดของสมอง และไม่สามารถรักษา ให้ทุเลาลงได้ ผู้ป่วยจึงต้องทนทรมานกับโรค จนในที่สุดก็เสียชีวิต โดยมีอายุยืนนานได้เฉลี่ยราว ๙ ปี หลังจากป่วยเป็นโรคนี้ ในระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยมักต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา เพราะเดิน และเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีโรคแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต โรคแผลกดทับ เนื่องจากต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆ โดยไม่มีการขยับเขยื้อนตัว

ปัจจุบันวงการแพทย์ได้ศึกษาทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันอย่างค่อนข้างละเอียด และทราบว่า โรคนี้ เกิดจากการตายของเซลล์สมอง ในบริเวณก้านสมอง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารชนิดหนึ่งเรียกว่า สารโดปามีน สารนี้ ควบคุมการทำงานและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย ในคนปกติ เซลล์สมองที่บริเวณก้านสมอง ซึ่งทำหน้าที่สร้างสารโดปามีนมีอยู่ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ตัว แต่หากมีการตายหรือการลดลงของเซลล์สมองเหล่านี้ จนเหลือประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตัว สมองก็จะขาดสารโดปามีน ทำให้เป็นโรคพาร์กินสันได้

 

วิธีชะลอความชรา เช่น อยู่ในที่อากาศดี ตรวจวัดความดันโลหิต เจาะเลือดตรวจสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเสพติด และเลือกรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน มีอาการต่างๆ ที่แสดงให้เห็นได้ดังนี้ คือ

๑. อาการสั่น  

ในระยะแรกๆ ของการเป็นโรค ผู้ป่วยมักมีอาการสั่นที่มือ หรือเท้าเมื่อยืนหรือนั่งอยู่นิ่งๆ หากผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว เช่น ยื่นมือออกมาทำกิจกรรมใดๆ อาการสั่นนี้จะลดลง หรือหายไป ในกรณีของผู้ป่วยในระยะท้ายๆ  อาจเกิดอาการสั่นตลอดเวลา แม้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหว การสั่นนอกจากจะเป็นที่มือ หรือนิ้วมือ แล้วอาจเกิดขึ้นที่บริเวณขา ปาก ลิ้น หรือคาง ด้วยก็ได้

๒. อาการเกร็ง  

เกิดจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อในขณะที่ผู้ป่วยไม่ได้ออกแรงต้าน โดยอาจมีอาการเกร็งที่บริเวณแขน ขา หรือลำตัว อาการเกร็งจะเป็นมากขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยยืน หรือพยายามจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะลดลง เมื่อล้มตัวลงนอน หรือในภาวะที่มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

๓. อาการเคลื่อนไหวช้า

มีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นบริเวณกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกาย เช่น ถ้าเกิดกับกล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้า ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้าไม่แสดงอารมณ์ คล้ายกับการสวมหน้ากาก หากเกิดกับกล้ามเนื้อที่บริเวณกล่องเสียง ก็จะทำให้พูดเสียงเบาๆ และราบเรียบเป็นระดับเดียวกัน หรือมีอาการพูดไม่ชัด หากเกิดกับกล้ามเนื้อที่บริเวณแขนและขา อาจทำให้ผู้ป่วยเดินไม่แกว่งแขนสลับกับการก้าวของขา จึงมีลักษณะการเดินคล้ายกับหุ่นยนต์

๔. การเสียการทรงตัว   

ในระยะแรกๆ กล้ามเนื้อที่ใช้ในการเดินมีการเคลื่อนไหวช้า หรือเคลื่อนไหวน้อยผิดปกติ อันเนื่องมาจาก การเสียการทรงตัวของร่างกาย ก็ทำให้หกล้มง่าย ต่อมา เมื่อผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จะเดินไม่ได้ และต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา   

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีหลายวิธีตามระยะเวลาของการเป็นโรค หากเป็นการบำบัดรักษาในระยะเริ่มต้น ก็ให้ยาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพปกติ หรือชะลอมิให้โรคทรุดหนักลง การให้ยามีหลายอย่างตามความเหมาะสม แต่เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาตลอดชีวิต จึงต้องคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยด้วยว่า จะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ หากต้องซื้อยาในราคาแพง และรักษาติดต่อกันไปตลอดชีวิต

การบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากและเป็นมานาน นอกจากจะให้ยาแล้ว อาจใช้วิธีการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ในสมอง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สนองตอบต่อการให้ยาอีกต่อไปแล้ว วิธีการบำบัดรักษาโดยการผ่าตัดนี้ แม้จะได้ผลดีแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก คือ ประมาณ ๑ ล้านบาท ต่อผู้ป่วย ๑ ราย   

เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง และต้องมีการบำบัดรักษาเป็นเวลานาน จึงเป็นภาระแก่คนที่ต้องดูแลผู้ป่วย ดังนั้น การป้องกันมิให้เกิดโรคนี้ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยมีหลักการเหมือนกับการชะลอความชราของผู้สูงอายุโดยทั่วไป คือ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสารเสพติดทุกชนิด รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบทุกหมู่ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดโรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร โรคไขมันในเลือดสูง (อาหารมัน) โรคเบาหวาน (อาหารหวาน) โรคความดันโลหิตสูง (อาหารเค็ม) นอกจากนี้ ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี สิ่งเหล่านี้ หากนำมาปฏิบัติได้ทั้งหมด จะทำให้สามารถป้องกันโรคพาร์กินสันได้ในระดับหนึ่ง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

2
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
ในทางการแพทย์ เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยคนใดที่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อาการหลัก หรืออาจพบอาการต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่ อาการสั่นขณะอยู่นิ่งๆ อาการเกร็งกล้ามเนื้อ อาการเคลื่อนไหวช้า และอาการเสียการทรงตัว แพทย์จะให้การวินิจ
4K Views
4
อาการของโรคพาร์กินสัน
ลักษณะอาการของโรคพาร์กินสันที่สำคัญประกอบด้วยลักษณะจำเพาะ ๔ อย่างเป็นหลัก อันได้แก่ อาการสั่น อาการเกร็ง อาการเคลื่อนไหวช้า และการเสียการทรงตัว นอกจากนี้ก็ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย คือ ความผิดปกติของลูกตา ความผิดปกติ ของระบบประสาท
6K Views
6
การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยวิธีเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เนื่องจาก โรคพาร์กินสันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วย สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายได้มาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของบุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง ตลอดจนมีความผันผวนของอารมณ์ จิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานภาพชีว
4K Views
7
การป้องกันโรคพาร์กินสัน
การป้องกันโรคพาร์กินสัน เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน การป้องกันโรคนี้คือ การชะลอ หรือลดการตายของเซลล์สมองดังกล่าว ซึ่งก็มีหลักการเหมือนกับการชะลอความชราทั่วๆ ไป กล่าวคือ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลี
4K Views
8
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีชื่อเสียงของโลก
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก รวม ๔ คน ได้แก่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี ประเทศเยอรมนี ป่วยเป็นโรคนี้เนื่องจากเสพยาบ
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow