Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบการได้ยิน

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
4,745 Views

  Favorite

ระบบการได้ยิน 

หูเป็นอวัยวะสำหรับฟังเสียง แบ่งเป็น ๓ ส่วนด้วยกันคือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน 

หูชั้นนอก 

      ประกอบด้วยใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อประสานแผ่นบาง ๆ รูปรี ตั้งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง เมื่อมีคลื่นเสียงส่งมาตามตัวกลาง เช่น อากาศถึงใบหู ใบหูจะรวบรวมคลื่นเสียง (หรือคลื่นความดังนั่นเอง) เข้าทางรูหูซึ่งอยู่ติดกับอากาศภายนอกเข้าไปถึงเยื่อแก้วหูคลื่นเสียงนี้ทำให้เยื่อแก้วหูสั่น 

หูชั้นกลาง 

      เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากหูชั้นนอกมีลักษณะเป็นโพรงตั้งอยู่ในกระดูกขมับมีกระดูกเล็ก ๆ ๓ ชิ้น ได้แก่ กระดูกรูปค้อน ทั่งและโกลน ต่อกันอยู่ด้วยข้อต่อ ปลายด้านหนึ่งของกระดูกค้อนยึดติดอยู่กับเยื่อแก้วหู ส่วนทางด้านกระดูกโกลนมีฐานยึดติดกับช่องรูปรีทั้งนี้โดยอาศัยเอ็นของกล้ามเนื้อเป็นตัวยึด หน้าต่างรูปรีเป็นทางผ่านของการสั่นสะเทือนจากเยื่อแก้วหูซึ่งถูกส่งถ่ายทอดมาตามกระดูกทั้งสามชิ้นไปยังช่องรูปรีเข้าสู่หูชั้นใน การทำงานของกระดูก ๓ ชิ้น มีลักษณะคล้ายระบบของคานซึ่งมีการได้เปรียบเชิงกลประมาณ ๓ : ๑ ผลก็ คือ ระยะทางการขยับตัวของเยื่อแก้วหูน้อยเมื่อส่งผ่านเป็นการสั่นไปสู่ฐานของกระดูกโกลน แต่เกิดแรงกระตุ้นมากขึ้นบริเวณด้านล่างของหูชั้นกลางมีท่อซึ่งติดต่อกับอากาศภายนอกทางด้านหลังของจมูกเรียกว่า ท่อยูสเตเชี่ยน ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันบรรยากาศอยู่เสมอ 

หูชั้นใน 

      อยู่ภายในส่วนลึกของกระดูกขมับประกอบด้วยอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและอวัยวะที่ใช้ในการทรงตัว มีชื่อว่า โคเคลีย (cochlea) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียงลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ ๓๐ มม. ขดเป็นวงซ้อนขึ้นรูปก้นหอยประมาณ ๒ ๑/๒ รอบ โคเคลียถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ตามความยาวโดยแผ่นเยื่อ เบซิลาร์ เมมเบรน (Basilar membrane) ช่องบนเรียก สกาลา เวสติบุไล (Scala vestibuli) และช่องล่างเรียกว่า สกาลา ทิมปาไน (Scala tympani) ช่องทั้งสองติดต่อกันที่บริเวณยอดของโคเคลียเป็นรูเปิดเล็ก ๆ เรียกว่า เฮลิโคทริมา (Helicotrema) ภายในช่องทั้งสองมีของเหลวบรรจุอยู่ 

 

หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน
หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน


      บนเบซิลาร์ เมมเบรน มีอวัยวะรับเสียง คือ ออร์แกนออฟคอร์ติ (Organ of corti) ประกอบด้วยเซลล์ขน (Tectorian membrane) และเซลล์อื่น ๆ เมื่อคลื่นความสั่นสะเทือนถูกส่งมาถึงช่องรูปรี คลื่นจะถูกส่งผ่านของเหลวในหูส่วนในไปตามช่องบนผ่านรูเปิดลงสู่ช่องล่างสุดท้ายจะไปถึงช่องรูปวงกลม  ระหว่างที่มีคลื่นรบกวนเดินผ่านตามเส้นทางดังกล่าว เบซิลาร์ เมมเบรนจะถูกกระตุ้นให้สั่น เซลล์ขนซึ่งมีความไวสูงจำนวนมากจะเปลี่ยนความสั่นสะเทือนให้เป็นศักย์ไฟฟ้ากลายเป็นกระแสประสาทสู่สมองทางเส้นประสาทเสียงเพื่อแปลเป็นความรู้สึกของเสียง อัตราการผลิตกระแสประสาทของเซลล์ขนขึ้นอยู่กับความเข้มและความถื่ของเสียง

 

เซลล์ขนรับคลื่นเสียง (ขยายประมาณ ๖๐๐ เท่า)
เซลล์ขนรับคลื่นเสียง (ขยายประมาณ ๖๐๐ เท่า) 

 

     เสียงคือ การแปรผันความดัน (ในอากาศ น้ำ หรือตัวกลางชนิดอื่น) ซึ่งหูคนเราสามารถตรวจหาได้  เครื่องมือที่เรารู้จักเป็นอย่างดีในการวัดการแปรผันความดันในอากาศ คือ บาโรมิเตอร์ แต่ความดันที่แปรผันไปเพราะการเปลี่ยนแบบอย่างของลมฟ้าอากาศเกิดขึ้นช้าเกินกว่าที่หูจะตรวจหาได้เราจึงไม่ได้ยินเป็นเสียง  ในคำนิยามของเสียงถ้าการแปรผันในความดันบรรยากาศเกิดขึ้นเร็วกว่า ๒๐ ครั้งต่อวินาที หูจะได้ยินเป็นเสียง (อย่างไรก็ตาม บาโรมิเตอร์ไม่สามารถตอบสนองได้เร็วพอ จึงใช้วัดเสียงไม่ได้) จำนวนครั้งของการแปรผันใน ๑ วินาที เรียกว่า ความถี่ของเสียง วัดเป็นวัฏจักรต่อวินาทีหรือเฮิรตซ์ (Hertz, Hz) ซึ่งเป็นหน่วยสากล  พิสัยการได้ยินของมนุษย์อยู่ระหว่าง ๒๐ เฮิรตซ์ ถึง ๒๐,๐๐๐ เฮิรตซ์ (หรือ ๒๐ กิโลเฮิรตซ์) ส่วนเสียงของเปียโนอยู่ระหว่าง ๒๗.๕ เฮิรตซ์ ถึง ๔,๑๘๖ เฮิรตซ์   ถ้าเราทราบอัตราเร็วและความถี่ของคลื่นเสียงเราก็สามารถหาความยาวคลื่นของเสียงได้ ความยาวคลื่น  คือ ระยะทางในอากาศจากยอดคลื่นลูกหนึ่งไปยังยอดของคลื่นอีกลูกหนึ่ง ความยาวคลื่น = อัตราเร็ว/ความถี่  เราอาจให้คำนิยามเสียงว่าเป็นการเคลื่อนที่แบบคลื่นในอากาศหรือตัวกลางยืดหยุ่นชนิดอื่น (สิ่งเร้า) หรืออาจกล่าวว่าเสียงเป็นการรบเร้าต่อกลไกการได้ยินที่ให้ผลเป็นการกำหนดรับรู้เสียง (เป็นการรู้สึกเพทนาการ หรืออินทรียสัมผัส)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow