Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บ้านติดถนน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

Posted By sanomaru | 26 มิ.ย. 60
8,264 Views

  Favorite

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทยและประชากรโลก ตามสถิติกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จนถึงปีนี้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 673,276 คน และ 31,714 คน ตามลำดับ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) โดยสถิติดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม อีกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติตน เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารรสหวานจัดที่นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง การสูบบุหรี่ รวมทั้งความเครียด ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เสียงรบกวนจากระบบขนส่ง เช่น การจราจรบนท้องถนน รถไฟ หรืออากาศยาน ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

ในงานวิจัยของ SiRENE โดยกองทุนวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ (the Swiss National Science Foundation-SNSF) เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลอง 2,631 คน ที่มีโอกาสสัมผัสกับมลพิษทางเสียงจากระบบการขนส่งในระดับที่แตกต่างกัน ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในทางลบ และพบว่าการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับเสียงรบกวนจากท้องถนน ทั้งนี้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ต่อการเพิ่มขึ้นของเสียงทุก 10 เดซิเบล

 

เสียงจากระบบการขนส่งไม่เพียงสร้างความเครียดให้สมองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น อะดรีนาลิน (Adrenalin) และคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้อินซูลินที่เป็นฮอร์โมนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเบาหวานได้ด้วย

 

แท้จริงแล้วก่อนหน้านี้ก็มีการวิจัยลักษณะที่คล้ายคลึงกันในชาวเยอรมันกว่า 40 ครัวเรือนซึ่งอยู่ใกล้กับถนนหรือรางรถไฟ และผลการวิจัยก็มีความคล้ายคลึงกัน คือ เสียงรบกวนจากระบบขนส่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติก (เป็นหนึ่งในระบบประสาทหลักที่ควบคุมการทำงานนอกอำนาจจิตใจ เช่น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ) รวมถึงกระตุ้นการทำงานของแกนไฮโปธาลามัส-พิทูอิตาลี-อะดรีนัล (มีอิทธิพลโดยตรงต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดและการทำงานของร่างกายโดยทั่วไป)

 

มลภาวะทางเสียงที่เกิดจากระบบขนส่ง ยังส่งผลอื่นๆ ต่อร่างกาย โดยอีกงานวิจัยหนึ่งก่อนหน้านี้ เผยให้เห็นว่า เสียงรบกวนจากจราจรบนท้องถนน รถไฟ หรืออากาศยาน เป็นเหตุให้ร่างกายเฉื่อยชาลงอีกด้วย

 

งานวิจัยทั้งหมดนี้จึงน่าจะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมหรือแก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น และอาจนำไปสู่การลดรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow