Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอยในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 14 มี.ค. 60
108,337 Views

  Favorite

หอยในทะเลไทย

หอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มใหญ่รองจากแมลง โดยมีจำนวนชนิดมากกว่าหนึ่งแสนชนิด ลักษณะเด่นของหอย ได้แก่ มีเนื้อนุ่ม และมีเปลือกห่อหุ้มเนื้อนุ่มนั้นไว้ภายใน

หอยมีอยู่ทั้งบนบก ในทะเล และในน้ำจืด เช่น ในแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง หอยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล

หอยในทะเลไทยมีมากมายหลายชนิด แบ่งออกได้เป็นหลายพวก ในบรรดาหอยต่างๆ เหล่านี้ หอยที่พบบ่อยและควรรู้จัก ได้แก่ พวกหอยกาบเดี่ยว และพวกหอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยวมีเปลือกต่อเป็นชิ้นเดียวกัน เช่น หอยฝาชี หอยทับทิม หอยนมสาว หอยกระดุม หอยสังข์ หอยเต้าปูน ส่วนหอยกาบคู่มีเปลือกแยกกันเป็นสองกาบหรือสองฝา และมีบานพับสำหรับเปิดหรือปิด ให้อ้าหรือหุบได้ ตัวอย่างเช่น หอยเสียบ หอยตลับ หอยลาย หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยกะพง หอยเชลล์ และหอยมือเสือ  

 

หอยในทะเลไทยเกือบทุกชนิดใช้เป็นอาหารได้ มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยไปกว่าปลา ปู และกุ้ง หอยที่รสชาติดี เหมาะสำหรับเป็นอาหารมักเป็นหอยกาบคู่ ส่วนหอยที่เปลือกมีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันงดงาม เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องประดับ หรือเก็บรักษาไว้ดูเล่น มักเป็นหอยกาบเดี่ยว    

หอยในทะเลไทยจึงมีประโยชน์มาก นอกจากเป็นอาหารแล้ว ยังใช้ทำประโยชน์อีกหลายอย่างด้วย ในสมัยโบราณ เราใช้หอยเบี้ยต่างเงินตราสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ หอยบางชนิดใช้เป็นของมงคล เช่น หอยสังข์ ใช้สำหรับหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานพิธีมงคล หอยบางชนิดที่เปลือกชั้นในมีความแวววาว เช่น หอยมุก อาจนำมาเพาะเลี้ยง เพื่อให้ผลิตไข่มุก ซึ่งเป็นของมีค่า ใช้ทำเครื่องประดับที่งดงามและมีราคา เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

ทะเลไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีอากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิของน้ำค่อนข้างสูงเกือบตลอดปี จึงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์จำพวกหอย ชายฝั่งทะเลของไทยมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร และแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน อ่าวไทยมีลักษณะเป็นชายฝั่งน้ำตื้น มีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่อ่าวไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง น้ำมีความเค็มต่ำและขุ่น ส่วนฝั่งทะเลอันดามันเป็นทะเลเปิดติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลลงสู่ทะเล น้ำทะเลมีความเค็มสูง และมีความโปร่งใสมาก ชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งของไทยเป็นแหล่งอาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของปลาและหอย ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ นับไม่ถ้วนชนิด นอกจากนั้นยังมีเต่าทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

 

 

 

 

หอยในทะเลไทยมีจำนวนชนิดมากมายนับไม่ถ้วน นักวิทยาศาสตร์ได้จัดแบ่งออกตามลักษณะที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน เป็น ๕ พวก คือ  ลิ่นทะเล  หอยกาบเดี่ยว  หอยกาบคู่  หอยงาช้าง  หอยงวงช้างและหมึก

 

 

๑. พวกลิ่นทะเลหรือหอยแปดเกล็ด (Polyplacophora)  

ลิ่นทะเลหรือหอยแปดเกล็ดมีลำตัวแบน รูปไข่ มีเปลือกเล็ก ๘ ชิ้นเรียงขวางอยู่บนหลัง ลิ่นทะเลเคลื่อนที่ได้ช้า มีตีนใหญ่แข็งแรงตีนเดียวที่หน้าท้อง ใช้เกาะติดอยู่กับก้อนหิน อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล 

๒. พวกหอยกาบเดี่ยว (Gastropods)  

หอยกาบเดี่ยวมีเปลือกเป็นชิ้นเดียวบิดเป็นเกลียว ส่วนมากเวียนไปทางขวา เปลือกมีรูปร่าง สีและลายแตกต่างกันไป หอยกาบเดี่ยวในทะเลไทยมีหลากหลายชนิด มีหลายชนิดที่เปลือกงดงามเหมาะสำหรับเก็บรักษาไว้ดูเล่น เช่น หอยทับทิม หอยกระดุม หอยเบี้ย หอยหนาม หอยเต้าปูน หอยตีนช้าง

๓. พวกหอยกาบคู่ (Bivalves)  

หอยกาบคู่มีลำตัวแบน มีสองกาบหรือสองฝาประกบเข้าหากัน กาบทั้งสองอ้าและหุบได้ด้วยบานพับ ทำให้เปลือกเปิดปิดได้ตามที่หอยต้องการ หอยกาบคู่ในทะเลไทยมีมากชนิด หลายชนิดใช้เป็นอาหาร นิยมบริโภคกันทั่วไป เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยกะพง หอยนางรม หอยเสียบ หอยหลอด

 

หอยงาช้าง

 

๔. พวกหอยงาช้าง (Scaphopods)  

หอยงาช้างมีเปลือกเป็นท่อกลมกลวงรูปร่างเหมือนงาช้าง ขนาดยาว ๒ - ๙ เซนติเมตร มีช่องเปิดที่ปลายทั้งสองด้าน ตัวหอยยาวไปตามเปลือก หัวเล็ก มีหนวดจำนวนมากรอบช่องปากสำหรับโบกพัดสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารเข้าสู่ปาก หอยงาช้างฝังตัวอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่เป็นทราย หรือทรายปนโคลน
๕. พวกหอยงวงช้างมุก หอยงวงช้างกระดาษ และหมึก (Cephalopods) 

หมึกเป็นหอยที่ไม่มีเปลือก บางชนิดมีแกนเป็นแผ่นแบนภายในตัว หมึกที่รู้จักกันทั่วไปมี หมึกสาย หมึกกระดอง หมึกกล้วย ส่วนหอยงวงช้างเป็นหมึกที่มีเปลือกแข็งหุ้มรอบตัว พวกหมึกและหอยงวงช้างอาศัยอยู่ในทะเลห่างฝั่งและว่ายน้ำได้ดี

 

 

หอยงวงช้างมุก

 

 

ลักษณะทั่วไปของสัตว์จำพวกหอย ได้แก่ มีเนื้อนุ่ม มีเปลือกห่อหุ้มร่างกายอยู่ชั้นนอก มีแผ่นเนื้อ (mantle) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเปลือกอยู่ชั้นใน มีตีนเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรงใช้สำหรับเคลื่อนที่ หอยมีหัวใจ เส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง และมีเหงือกสำหรับใช้หายใจในน้ำ นอกจากนี้ก็มีลำไส้ อวัยวะขับถ่าย และอวัยวะสืบพันธุ์ มีประสาทสำหรับดมกลิ่น และสัมผัสรับความรู้สึกต่างๆ 

หอยในทะเลไทยอาศัยอยู่ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึงท้องทะเลลึก บางชนิดอยู่ตามหาดทรายหรือในซอกกลุ่มหินและก้อนหินที่น้ำทะเลท่วมถึง โดยใช้ตีนขุดรูฝังตัวอยู่ตื้นๆ หอยแมลงภู่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่พื้นดินเป็นโคลนเลน มีชุมในระดับน้ำลึก ๑ - ๖ เมตร โดยเกาะแขวนรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามเขื่อนท่าเรือ กิ่งไม้ท่อนไม้ที่จมอยู่ใกล้ผิวน้ำและตามเสารั้วโป๊ะ หอยกะพงอยู่รวมกันเป็นกระจุก ฝังตัวตามพื้นโคลน บางชนิดขุดรู และที่อาศัยอยู่ตามรูและซอกโพรงหินก็มี หอยนางรมพบทั่วไป โดยเกาะติดกับก้อนหิน ตอไม้ เขื่อนซีเมนต์ หรือเสาโรงเรือนที่น้ำทะเลขึ้นถึง รวมทั้งซากโป๊ะและโพงพาง

 

หอยหนามดอกไม้กำลังจับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่

 

 

อาหารของหอยในทะเลไทยมีแตกต่างกันไป ได้แก่ พืชพวกสาหร่ายทะเล ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตามพื้นท้องทะเลและตามก้อนหิน ซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย ซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเลและจมอยู่ตามพื้นท้องทะเล จุลินทรีย์ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก นอกจากนั้นก็เป็นสัตว์ขนาดเล็ก รวมทั้งตัวอ่อนของสัตว์ทะเล เช่น ตัวอ่อนของปู กุ้ง หอย
หอยแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ การสืบพันธุ์เป็นแบบอาศัยเพศ หอยส่วนใหญ่มีเพศแยกกันเป็นเพศผู้เพศเมีย แต่หอยบางชนิด มีระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้เพศเมียในตัวเดียวกัน เรียกว่าเป็นกะเทย การปฏิสนธิมี ๒ ลักษณะ คือ การปฏิสนธินอกตัว และการปฏิสนธิในตัว การปฏิสนธินอกตัว หอยเพศผู้และเพศเมียปล่อยอสุจิและไข่ลงในน้ำ การปฏิสนธิเกิดในน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสม ต่อมาจะเจริญเป็นตัวอ่อน แล้วเติบโตเป็นหอยเต็มวัยต่อไป หอยที่เป็นกะเทย เช่น หอยมือเสือ ถึงแม้จะสามารถผลิตเซลล์สืบพันธุ์ของทั้งสองเพศได้ แต่การปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียจะไม่พร้อมกัน หอยที่มีการปฏิสนธิในตัวจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์ ได้แก่ หอยกาบเดี่ยวเกือบทั้งหมด หอยงวงช้างมุก และหอยงวงช้างกระดาษ

 

การทำฟาร์มหอยนางรมแบบแขวน

 

 

การทำฟาร์มเพาะเลี้ยง ในปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคหอยเป็นอาหารได้เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้นจึงได้มีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอย ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภค เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และหอยเป๋าฮื้อ การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ส่วนใหญ่ทำโดยการปักหลัก หรือใช้เชือกแขวนทำราวให้ลูกหอยเกาะบริเวณปากแม่น้ำ และบริเวณน้ำกร่อย เช่น ปากแม่น้ำบางปะกง ชายฝั่งจังหวัดชลบุรี หอยนางรมมีทั้งเก็บจากธรรมชาติและทำฟาร์ม โดยเลี้ยงตามชายฝั่งทะเลและอ่าวที่คลื่นลมไม่แรง ส่วนการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในบ่อเลี้ยงอยู่ในขั้นการทำวิจัย แม้ว่าการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยในทะเลไทยในปัจจุบัน จะทำเป็นอุตสาหกรรมได้ไม่ใหญ่มาก แต่ก็น่าจะคาดหวังได้ว่า ในอนาคตการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยในทะเลไทย จะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เทียบเท่าอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงหอยในต่างประเทศ

 

 

นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว เรายังใช้หอยทะเลให้เป็นประโยชน์ในอีกหลายเรื่อง ในสมัยโบราณ ที่ยังไม่ใช้เงินตราเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนซื้อขาย เราใช้เปลือกหอยเบี้ยเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนจนถึง พ.ศ. ๒๔๐๕ หอยหลายชนิดที่ด้านในของเปลือกมีชั้นมุก ได้ถูกนำมาใช้ประดับสิ่งของเครื่องใช้ที่เรียกว่า เครื่องมุก เช่น ตู้ ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ พาน ตะลุ่ม ที่งดงามและมีราคาสูง

ประโยชน์ของหอยทะเลนั้นมีมาก อันดับแรกคือ ใช้เป็นอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์ หอยซึ่งเป็นที่นิยมใช้เป็นอาหาร เพราะมีรสชาติดีมักเป็นหอยกาบคู่ ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยเชลล หอยหวาน หอยกะพง ซึ่งนอกจากบริโภค โดยใช้เนื้อหอยสดปรุงเป็นอาหารแล้ว ยังทำเป็นอาหารแห้ง หรือดองเค็ม เพื่อให้เก็บไว้ได้นานอีกด้วย    

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

2
ลักษณะของหอยทะเล
หอยทะเลส่วนใหญ่มีเปลือกหุ้มตัว พวกที่ไม่มีเปลือกจะถูกเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ทากทะเล หมึก ทากทะเลเป็นกลุ่มของหอยกาบเดี่ยวที่เปลือกลดรูปไป ส่วนหมึกนอกจากไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัวแล้ว ยังมีรูปลักษณะที่แตกต่างไป และจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ล
15K Views
3
ลิ่นทะเลหรือหอยแปดเกล็ด (Class Polyplacophora)
ลิ่นทะเล (Chiton) มีลำตัวแบน เป็นรูปไข่ ด้านหลังโค้ง มีเปลือกหรือแผ่นเกล็ดจำนวน ๘ แผ่น เรียงซ้อนเหลื่อมกัน คล้ายกระเบื้องมุงหลังคา คลุมจากหัวถึงท้ายตัว บางชนิดมีเปลือกขนาดเล็กมาก ลิ่นทะเลไม่มีตา ไม่มีหนวด ตี
8K Views
4
หอยกาบเดี่ยวและทากทะเล (Class Gastropoda)
หอยกาบเดี่ยว (Snail) มีเปลือกต่อเป็นชิ้นเดียว ส่วนมากเปลือกจะมีลักษณะเวียนเป็นวงเกลียวรอบแกนกลาง โดยหอยจะเริ่มสร้างเปลือกจากจุดยอด ซึ่งเป็นวงเกลียวที่มีขนาดเล็กที่สุด วงเกลียวต่อมาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ ตามขนาด
16K Views
5
หอยงาช้าง (Class Scaphopoda)
หอยงาช้าง (Tusk shell, Tooth shell) เปลือกมีลักษณะเป็นหลอดกลมยาว โคนใหญ่ ปลายเล็ก โค้งเล็กน้อยคล้ายงาช้าง มีช่องเปิดที่ปลายทั้งสองด้าน เปลือกมีหลายสี เช่น สีขาว ครีม เขียวอ่อน ชมพูอ่อนตามแต่ชนิด บางชนิดมีผิวเปลือกเรียบเป็นมัน
10K Views
6
หอยกาบคู่ (Class Bivalvia)
หอยกาบคู่ (Bivalves) มีเปลือก ๒ ชิ้นประกบกัน โดยยึดติดกันทางด้านบนบริเวณขั้วเปลือก ส่วนที่ยึดติดกันมีลักษณะคล้ายบานพับ ที่ทำให้กาบทั้งสองเปิดปิดได้ เปลือกอาจมีรูปกลม รูปรี รูปสามเหลี่ยม หรือรูปอื่นๆ หอยจะสร้างเปลือกบริเวณขั้วเป
12K Views
7
หอยงวงช้างมุกและหอยงวงช้างกระดาษ
หอยงวงช้างมุก (Chambered nautilus) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกหมึก แต่เป็นหมึกที่มีเปลือกแข็งหุ้มรอบตัว จึงเป็นเหตุให้เรียกเป็นหอย ขณะที่หมึกชนิดอื่นๆ ไม่มีเปลือก เปลือกหอยงวงช้างมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนา
9K Views
8
หอยที่เป็นอาหาร
หอยเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยกว่าสัตว์น้ำจำพวกปลา ปู และกุ้ง มนุษย์กินหอยเป็นอาหารมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล จากอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า หอยทะเลทุกชนิดกินเป็นอาหารได้ อาจมีความแตกต่างก
11K Views
9
เปลือกหอยในวิถีชีวิตของคนไทย
การขุดพบซากเปลือกหอยร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่า มนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับหอยมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนำเนื้อหอยมาเป็นอาหาร เปลือกหอยยังนำมาใช้ในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสง
12K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow