Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยาสูบ

Posted By Plookpedia | 22 มิ.ย. 60
21,729 Views

  Favorite

ยาสูบ

        ยาสูบเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด มันสำปะหลัง และฝ้าย ยาสูบเป็นพืชที่มีลำต้นตรง มีราก มีใบ และดอกที่สวยงาม ที่กระเปาะของดอก เมื่อแก่จะมีเมล็ดขนาดเล็ก ๆ จำนวนมาก
ซึ่งเรานำมาใช้ทำพันธุ์ในปีต่อไป

 

 

        บุหรี่ ยาจืด หรือยาฉุน ที่ผู้สูงอายุบางคนในชนบทสูบหรือเคี้ยวกับหมากนั้น ได้มาจากใบยาสูบ เป็นใบยาสดที่แก่แล้ว เก็บจากต้นยาสูบ นำมาทำให้แห้ง แล้วหั่นเป็นเส้น เพื่อนำไปทำบุหรี่ หรือนำใบยาสดมาหั่นเป็นเส้นก่อน แล้วจึงนำไปตากแดด และผึ่งให้แห้งในร่ม เรียกยาเส้นเหล่านี้ว่า ยาจืด หรือยาฉุน ซึ่งอาจนำมามวนสูบด้วยกระดาษ ใบตองแห้ง หรือใบจาก เช่นเดียวกับบุหรี่ บางคนนำไปรับประทานกับหมาก หรืออมจุกไว้ข้างแก้ม

 

 

        ปัจจุบันแพทย์ต่อต้านการทำบุหรี่ และการสูบบุหรี่กันมาก แต่ชาวไร่จำนวนมากก็ยังชอบปลูกยาสูบกันอยู่ เพราะทำรายได้ดี มีผู้รับซื้อที่แน่นอน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

 

-----------------------------------------------------------

 

 

        ยาสูบเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่งของไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในอดีต แม้ปัจจุบันความสำคัญจะลดน้อยลงบ้าง เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูบ แต่ก็ยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย จากการผลิตใบยาแห้งในประเทศที่ผ่านมา ๕ ปี เฉลี่ยแล้ว ปีหนึ่ง ๆ จะผลิตมากกว่า
๕๐ ล้านกิโลกรัม และใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกปีละประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ไร่

        ยาสูบเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ และเป็นพืชฤดูเดียว หมายถึง ต้องเพาะเมล็ดปลูกกันใหม่ทุกปี ใบคือ ส่วนที่เรานำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ รากมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว คือ ผลิตสารที่
เรียกว่า "นิโคติน" เมื่อผลิตแล้ว ส่งมาเก็บไว้ที่ใบ ก่อนที่จะนำใบยาสูบเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ เราจะนำใบมาบ่มให้แห้ง ด้วยวิธีใช้ความร้อนจากไฟ จากแสงแดด หรือนำไปแขวนให้แห้งในร่ม เช่น
ใต้ถุนบ้าน ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของยาสูบ

 

        ยาสูบที่ปลูกในประเทศไทยขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ตามลักษณะการบ่ม คือ

 

๑. ประเภทบ่มไอร้อน (flue-cured) 
        หรือเรียกกันว่า เวอร์ยิเนีย (Virginia) ส่วนใหญ่ปลูกกันทางภาคเหนือตอนบน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นต้น และมีปลูกกันบ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดหนองคาย และนครพนม ใบยาประเภทนี้ใช้เป็นหลักในการทำบุหรี่รสอังกฤษ
และรสอเมริกัน พันธุ์ที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ พันธุ์โคเกอร์ (Coker 187 Hicks, Coker 347) และ
เค (K-326) เป็นต้น

 

โรงบ่มใบยาประเภทบ่มไอร้อน

 

๒. ประเภทบ่มอากาศ (light air-cured) 
        หรือเรียกกันว่า เบอร์เลย์ (Burley) ส่วนใหญ่ปลูกกันทางภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย จนถึงเพชรบูรณ์ ใบยาประเภทนี้ใช้เป็นส่วนผสมตัวรองในการทำบุหรี่ รสอเมริกัน พันธุ์ที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ เบอร์เลย์ (Burley 21) และ เคนทักกี (Ky 14)

 

การบ่มใบยา ประเภทบ่มอากาศ

 

๓. ประเภทบ่มแดด (sun-cured)
        หรือเรียกกันว่า เตอร์กิช (Tukish) หรือโอเรียนเต็ล (Oriental) ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และนครพนม ใบยาประเภทนี้ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำบุหรี่ รสอเมริกัน พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ แซมซูน (Samsoun) และบาสมา (Basma)

 

๔. ประเภทกึ่งบ่มแดดและบ่มอากาศ 
        หรือเรียกกันว่า ใบยาพื้นเมือง ปลูกกันหลายจังหวัด ที่มีการเพาะปลูกยาสูบทั่วไป ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่ที่นำมาใช้ในกิจการของโรงงานยาสูบ ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ใบยาประเภทนี้ใช้เป็นตัวผสมของส่วนประกอบในการทำบุหรี่
รสพื้นเมือง เนื่องจากมีกลิ่นแรง และรสฉุนจัด

 

การบ่มใบยา ประเภทบ่มแดด

 

        ใบยาสูบที่บ่มได้ที่แล้ว จะได้รับการนำไปคัดคุณภาพเป็นพวกๆ แล้วอัดเป็นห่อแยกกันเรียกว่า ลูกยา หรือห่อยา ก่อนที่จะนำไปจำหน่าย ซึ่งคุณภาพเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของใบบนลำต้น (ล่าง-กลาง-ยอด) ความแก่-สุกของใบยา สี ขนาด (ความยาวและกว้าง) ตำหนิต่าง ๆ และความสมบูรณ์ของใบ เป็นต้น ผู้ที่ซื้อใบยาไปแล้ว จะนำใบยาไปรูดเอาก้านออกด้วยมือ หรือเครื่องจักร
นำเนื้อใบยาที่ได้ไปผ่านขบวนการทำให้แห้งก่อน แล้วจึงเติมความชื้นเข้าไปให้สม่ำเสมอพอเหมาะ แล้วส่งไปเข้าเครื่องอัดห่อ ด้วยกระสอบป่าน หรือกล่องกระดาษ หรือถังไม้ ซึ่งมีน้ำหนักเป็นมาตรฐาน สำหรับภาชนะแต่ละชนิด แล้วเก็บไว้ระยะหนึ่ง (ไม่ควรน้อยกว่า ๑๒-๑๘ เดือน) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในใบยา ทำให้มีกลิ่นและรสนุ่มนวลขึ้น สำหรับก้านใบยาเวอร์ยิเนีย
และเบอร์เลย์ก็ทำให้แห้ง และให้ความชื้นเช่นเดียวกับเนื้อใบ ส่วนใบยาเตอร์กิช ไม่ต้องแยกเอาก้านออก เนื่องจากมีขนาดเล็ก

การรูดใบยา
การห่อใบยาเตอร์กิชด้วยกระสอบป่าน

 

        ก่อนนำใบยาเหล่านี้มาใช้ จะต้องให้ความชื้น เพื่อป้องกันการแตกหักของใบยา แล้วเติมน้ำปรุง เพื่อให้มีกลิ่นหอม และรสชาติดีขึ้น จากนั้นนำใบยาประเภทต่าง ๆ มาผสมกันตามสัดส่วน เพื่อทำบุหรี่ให้มีกลิ่นและรสตามที่ต้องการ หรือนำไปทำเป็นยากล้อง ซิการ์ และยานัตถุ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ใบยาสูบยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น สกัดเอาสารนิโคตินในใบยา มาทำยาฆ่าแมลงศัตรูพืช ผสมนิโคตินในสบู่ ใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน และใช้ผสมยา สำหรับรักษาสัตว์ เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow