Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคสายตาสั้นในเด็ก ... ภัยเงียบที่มาจากหน้าจอ !

Posted By Plook Parenting | 20 มิ.ย. 60
6,453 Views

  Favorite

ในปัจจุบันพบว่าเด็กไทยและเด็กชาวเอเชียมีอุบัติการณ์สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว โดยสายตาสั้นในเด็กที่พบอาจเป็น “สายตาสั้นเทียม” เนื่องจากเด็กชอบการเพ่งมอง ไม่ว่าในจอคอม จอโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเลต การเพ่งมองนั้นจะทำให้การวัดสายตาออกมาเป็นสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริงหรือที่เรียกว่า “สายตาสั้นเทียม” เด็กที่สายตาสั้นจะมีผลต่อการเรียนรู้ เพราะมีข้อจำกัดในการมองเห็น

 

ลักษณะของเด็กสายตาสั้น

• ขยี้ตาบ่อย ๆ

• จ้องมองสิ่งต่าง ๆ ในระยะใกล้มาก ๆ

• เวลาโยนรับ-ส่งลูกบอลมักพลาดบ่อย ๆ

• ปวดหัวเป็นประจำ

• เวลาอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์มักเพ่งหรือหยีตา

• ไม่สามารถดูภาพยนตร์สามมิติได้

• หรี่ตาหรือเอียงศีรษะเมื่อต้องมองสิ่งที่อยู่ไกล

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการของลูกในลักษณะนี้ แสดงว่าเด็กมีปัญหาด้านสายตา ควรรีบพาลูกไปตรวจสายตา

 

สาเหตุของสายตาสั้น 

• สายตาสั้นจากกรรมพันธุ์ พบว่าถ้าพ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีสายตาสั้น ลูกที่เกิดมามักจะมีโอกาสสายตาสั้นมากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 25% หรือหากพ่อแม่สายตาสั้นทั้งคู่ ลูกมีโอกาสสายตาสั้น 50%

• สายตาสั้นจากสิ่งแวดล้อม จะพบเด็กสายตาสั้นได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่เรียนหนังสือมาก ดูโทรทัศน์มาก เล่นเกม และใช้คอมพิวเตอร์มาก เพราะต้องใช้สายตาเพ่งมองมาก ๆ และเพ่งมองใกล้ ๆ

• นอกจากนี้ยังพบสายตาสั้นในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เพราะเด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ มักมีจอประสาทตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีจอประสาทตาเสื่อมมองกลางคืนไม่ชัด เป็นต้น

 

ภาพ : Pixbay

วิธีการป้องกัน

1. อย่าให้เด็กหมกมุ่นกับกิจกรรมที่ใช้สายตาระยะใกล้มากเกินไป

อย่างเช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การดูโทรทัศน์ ควรหากิจกรรมที่ทำในที่โล่งแจ้ง เพื่อกระตุ้นการใช้สายตาระยะไกล

 

2. เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้สายตาควรให้ลูกพักสายตาบ้าง

ทุกครั้งที่ลูกอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ ควรให้เขาละสายตาจากหน้าจอทุก 20 นาที แล้วมองสิ่งอยู่ห่างไปประมาณ 20 ฟุต (6 เมตร) เป็นเวลา 20 วินาที แล้วค่อยกลับมาดูใหม่

 

3. ไปตรวจสายตาสม่ำเสมอโดยจักษุแพทย์

อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คระบบประสาทตา และสายตาโดยรวม เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงเรียนอาจไม่เพียงพอ ทางที่ดีพาลูกไปตรวจสายตาเพื่อความมั่นใจ

 

4. ถ้ามีภาวะสายตาสั้นและมองไกลไม่ชัดควรตัดแว่นให้เด็กใส่

เพื่อใช้มองไกลให้ชัด เจน และควรถอดแว่นตาทุกครั้งที่ใช้สายตาระยะใกล้ (อ่านหรือเขียนหนังสือ)

 

5. สอนให้เด็กรู้จักการผ่อนคลายดวงตา

เช่น ใช้ฝ่ามือ กดลูกตาผ่านบริเวณเปลือกตาที่ปิดสนิท เพื่อส่งแรงดันกดลูกตา ให้สั้นลง และคลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อวงแหวน ทำวันละ 1 ครั้ง ๆ ละ 60 วินาที ก่อนนอน และเวลามีอาการสายตาล้าจากการใช้สายตาระยะใกล้นาน ๆ

 

ภาพ : Pixbay

 

ปัญหาสายตาสั้นส่งผลโดยตรงกับบุคลิกภาพและการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาสายตาสั้นต้องพาเด็กไปตรวจรักษาโดยจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็จะมีคำแนะนำให้ใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นตามลักษณะปัญหาที่พบอย่างเหมาะสมต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow