Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบริหารราชการแผ่นดิน

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
9,452 Views

  Favorite

การบริหารราชการแผ่นดิน

      เมื่ออยู่ในโรงเรียนนักเรียนคงได้สังเกตเห็นว่าบางครั้งจะมีนักเรียนชั้นสูงกว่าเรา (นักเรียนรุ่นพี่) มาแนะนำตัวเองว่าเขากำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นผู้แทนนักเรียนและถ้านักเรียนต่างพากันลงคะแนนเลือกตั้งให้เขามาก ๆ เขาก็จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนนักเรียน  เมื่อเสร็จสิ้นการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้วนักเรียนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนนักเรียนทั้งหมด บรรดาผู้แทนนักเรียนทุกระดับชั้น เรียกรวมกันว่า "คณะผู้แทนนักเรียน"  

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

 

      การเลือกตั้งผู้แทนนักเรียนมีที่มาจากนโยบายการศึกษาของชาติที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย การปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นพื้นฐาน มุ่งฝึกให้นักเรียนรู้จักความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย รู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกัน ฝึกให้รู้จักประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานโรงเรียนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะต่อไปจะพัฒนาสูงขึ้น จนถึงการจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นและระดับชาติโดยปลูกฝังความคิดให้ทุกคนคำนึงถึงความรับผิดชอบร่วมกันและประโยชน์อันเกิดแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ การเสริมสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายนับตั้งแต่ฝ่ายบริหารของโรงเรียน ฝ่ายวิชาการทุกสาขาวิชา ฝ่ายสวัสดิการโรงเรียน และที่สำคัญจะขาดไม่ได้คือคณะผู้แทนนักเรียนที่มาจากการเลือกตั้ง  คณะผู้แทนนักเรียนเหล่านี้โรงเรียนบางแห่งจะเรียกว่า "สภานักเรียน" บางแห่งอาจมีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ต้องถือว่าคณะผู้แทนนักเรียนเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของครูอาจารย์และผู้บริหารงานของโรงเรียนในการช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลรักษาโรงเรียนแทนนักเรียนทุกคน

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

 

 

 

 

      การบริหารงานโรงเรียน คือ พฤติกรรมทางสังคมในด้านวิชาการของโรงเรียนตามหลักที่ว่าที่ใดมีสังคมที่นั่นย่อมต้องมีกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติอันมุ่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก  กฎเกณฑ์ในสังคมเช่นนี้มีที่มาจากจารีตประเพณีและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่บ้านเมืองแต่ละแห่งได้ตกลงกันไว้แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนในที่สุดได้ตราเป็นกฎหมายของบ้านเมืองเป็นระเบียบปฏิบัติราชการของเมืองนั้น ๆ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน"

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

 

      ในอดีตระเบียบบริหารราชการแผ่นดินยังเป็นการบริหารงานในวงแคบเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชนมีสภาพเหมือนเป็นการบริหารงานในครอบครัวเดียวกันถือเป็นเสมือน "ครอบครัวเมือง" เป็นการประกอบกิจกรรมแบบลุงป้าน้าอาไปจนถึงกลุ่มชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกันทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีจุดศูนย์รวมอำนาจการบริหารโยงไปสู่ผู้มีตำแหน่งสูงสุดทางการปกครองของเมืองนั้น ๆ ได้แก่ เจ้าเมือง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยทุกเมืองจะโยงอำนาจบริหารนี้เข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศ คือ เมืองหลวง ณ ที่นี้มีคณะผู้บริหารราชการแผ่นดินซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "รัฐบาล"

 

การบริหารราชการแผ่นดิน

   

      ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย (ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕) ตามโรงเรียนไม่ค่อยมีผู้สนใจกิจการบ้านเมืองโดยถือว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แม้แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจต่อกิจการบ้านเมืองไม่มากเท่าใดนัก อาจถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของชนชั้นสูงที่มีฐานะดี มีความรู้ดี หรือมีอำนาจ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วราษฎรจึงเริ่มตื่นตัวต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเพราะคนทุกระดับชั้นเริ่มมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่น ออกกฎหมายหรือปกครองประเทศได้แม้กระนั้นส่วนใหญ่ยังรู้จักและเข้าใจความหมายขององค์ประกอบการบริหารราชการแผ่นดินบางคำเท่านั้น เช่น รัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เป็นต้น  สำหรับคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยและยังไม่เข้าใจวิธีการเนื้อหาสาระตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ  ดีพอ จึงมักจะไม่พูดถึง "อำนาจอธิปไตย" ประชาชนบางคนเรียกร้องหรือคำนึงถึงแต่สิทธิโดยไม่พูดถึงหน้าที่  ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ราษฎรรู้จักระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสถานศึกษาทุกระดับเป็นเป้าหมายสำคัญที่ยอมรับกันว่าจะเป็นแหล่งปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียน  ดังนั้นในแผนการศึกษาของชาติจึงมุ่งปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนด้วยการสอดแทรกให้หลักประชาธิปไตยอยู่ในระเบียบบริหารงานของโรงเรียนทุกแห่งกิจกรรมบางอย่างในโรงเรียน เช่น การเลือกตั้งผู้แทนนักเรียน สภานักเรียนจึงเป็นการจำลองระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในระดับประเทศมาใช้ในระดับพื้นฐานนั่นเอง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow