Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แผ่นดินไหว

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
6,296 Views

  Favorite

แผ่นดินไหว

      เมื่อเรานั่งในชิงช้าหรือเปลซึ่งแกว่งไกวไปมาเราจะรู้สึกว่าตัวเคลื่อนที่ไปตามจังหวะของการแกว่งไกวนั้นด้วยหรือเมื่อนั่งเรือออกไปในทะเลเราก็จะรู้สึกเหมือนถูกโยนขึ้นลงตามจังหวะคลื่น ถ้าวันไหนมีลมแรงก็จะมีคลื่นแรงเราอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะได้ เรียกว่า เมาเรือหรือเมาคลื่น สาเหตุที่เรารู้สึกเช่นนี้ก็เพราะมีการเคลื่อนไหวของชิงช้าหรือเปลที่เรานั่งอยู่หรือมีการเคลื่อนไหวของน้ำในทะเลซึ่งก่อให้เกิดคลื่นขณะที่เรานั่งอยู่บนเรือในทะเล พื้นแผ่นดินที่เราอยู่ก็เช่นเดียวกันถ้ามีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเราก็จะรู้สึกเหมือนมีการสั่นสะเทือนและตัวเราเหมือนโคลงเคลงไปมาลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า แผ่นดินไหว นั่นก็คือพื้นแผ่นดินมีการเคลื่อนที่เกิดขึ้นถ้าการเคลื่อนที่มีน้อยก็จะไม่มีอันตรายแต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงก็อาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้

 

ความเสียหายจากแผ่นดินไหว

 

      ในสมัยก่อนเมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังมีน้อยคนมีความเชื่อกันว่าใต้พื้นโลกลงไปมีปลาตัวขนาดใหญ่มหึมาหนุนรองรับโลกไว้ เรียกชื่อปลานั้นว่า ปลาอานนท์ เวลาที่ปลาอานนท์พลิกตัวแต่ละครั้งก็จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นปัจจุบันเราทราบแล้วว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมิใช่เพราะปลาอานนท์แต่เป็นเพราะเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่จึงเกิดการสั่นสะเทือน  

      ในประเทศไทยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นไม่บ่อยนักและไม่รุนแรงมากเราจึงไม่ค่อยคุ้นเคยกับแผ่นดินไหวบางคนอาจยังไม่เคยประสบกับแผ่นดินไหวเลยซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของคนไทย อย่างไรก็ตามเรามักทราบข่าวจากทางหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์อยู่บ่อย ๆ ว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา แผ่นดินไหวแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากตึกรามบ้านช่องพังทลายและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นถ้าเราเกิดความรู้สึกเหมือนตัวโคลงเคลงไปมาก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวและเพื่อความปลอดภัยของเราเราควรอยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ตลอดเวลาในขณะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น

 

 

 

      แผ่นดินไหว นับเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์  แผ่นดินไหวที่รุนแรงทำความเสียหายอย่างมากมายมีทั้งแผ่นดินแยก แผ่นดินถล่ม สิ่งก่อสร้างพังทลายและผู้คนล้มตายจำนวนมากจึงเป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาว่าภัยธรรมชาตินี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  เราทราบว่าโลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมมีเปลือกแข็งห่อหุ้มเป็นผิวโลกภายในมีของหลอมเหลวที่ยังร้อนอยู่ผิวที่ห่อหุ้มโลกไม่ได้เป็นชิ้นเดียวติดต่อกันเหมือนผิวส้ม แต่มีรอยแยกทำให้เกิดเป็นแผ่น ๆ หลายแผ่นรอบโลก  เมื่อแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้เคลื่อนที่ตามแนวรอยแยกก็เรียกว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นเหล่านี้จะเคลื่อนที่ได้ต้องมีแรงมาดันให้เคลื่อนที่แรงดันนี้เกิดจากของเหลวที่ร้อนจัดภายในโลกเมื่อดันให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ก็จะมีบางแผ่นถูกยกตัวขึ้นบางแผ่นก็จะจมลงจึงเกิดการสั่นสะเทือนเป็นคลื่น คือ คลื่นแผ่นดินไหวแรงดันที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนี้อาจเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟก็ได้  มักพบบ่อย ๆ ว่าเมื่อมีภูเขาไฟระเบิดก็จะมีแผ่นดินไหวตามมาด้วยถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและมีพลังงานมหาศาลเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายมากมายดังกล่าวแล้วแต่ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่มีอันตรายอะไร

 

ความเสียหายจากแผ่นดินไหว

 

      อันตรายอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวคือ อันตรายจากคลื่นใต้น้ำ ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรพื้นมหาสมุทรจะมีการเคลื่อนที่ทำให้น้ำจำนวนมากในมหาสมุทรเคลื่อนตัวในลักษณะแกว่งไปมาเกิดเป็นคลื่นวิ่งไปด้วยความเร็วสูง ขณะที่คลื่นอยู่ในมหาสมุทรลึกจะไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ปรากฏเหนือผิวน้ำเพราะยังไม่มีการยกตัวของน้ำที่เคลื่อนที่ คลื่นจะเคลื่อนตัวไปในแนวราบใต้ผิวน้ำ จึงเรียกว่า คลื่นใต้น้ำ แต่เมื่อคลื่นวิ่งมาถึงชายฝั่งซึ่งตื้นขึ้นก็จะยกตัวขึ้นเหนือผิวน้ำกลายเป็นคลื่นมหึมาที่เรียกว่า คลื่นยักษ์ วิ่งเข้าหาแผ่นดินด้วยความเร็วสูงและทำลายสิ่งกีดขวางด้วยพลังมหาศาลคลื่นนี้มีพลังมากอาจวิ่งข้ามมหาสมุทรไปเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรด้วยความเร็วพอ ๆ กับเครื่องบินไอพ่น จึงย่อมก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างมากมายบางครั้งมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์มากกว่าผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวโดยตรง  

 

ภูเขาไฟระเบิด

 

      เพื่อให้ทราบว่าแผ่นดินไหวขนาดใดที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์จึงได้มีมาตราสำหรับวัดขนาดของแผ่นดินไหวจากพลังงานที่เกิดขึ้นคือ มาตราริกเตอร์ ซึ่งแบ่งตั้งแต่แผ่นดินไหวขนาดต่ำไปหาขนาดสูงเป็น ๑๐ ขั้น จาก ๐ -> ๑๐ ริกเตอร์ แผ่นดินไหวตั้งแต่ ๕ ริกเตอร์ขึ้นไป ถือว่ามีความรุนแรงพอที่จะทำให้สิ่งก่อสร้างพังได้ อย่างไรก็ตามขนาดของแผ่นดินไหวที่เท่ากันแต่ต่างสถานที่กันก็ทำให้เกิดความเสียหายต่างกันได้  ในประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๕ ริกเตอร์ ที่จังหวัดน่าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายมากนักมีเพียงตึกร้าวเท่านั้นไม่ถึงกับพังทลายนอกจากนั้นก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กนาน ๆ ครั้ง ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี
      ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักและแต่ละครั้งก็ไม่มีความรุนแรงจนถึงกับมีผู้เสียชีวิต  แต่เพื่อความไม่ประมาทเราควรรู้จักการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวข้อสำคัญคือ อย่าตื่นตกใจและต้องควบคุมสติไว้  ถ้าอยู่ภายในอาคารก็พยายามอยู่ใกล้ส่วนที่มีโครงสร้างแข็งแรงหรือหมอบอยู่ใต้โต๊ะเก้าอี้  ถ้าอยู่นอกอาคารก็พยายามอยู่ห่างจากเสาไฟหรือต้นไม้สูงให้อยู่ในที่โล่งแจ้งโดยนั่งหรือนอนลงเมื่อการสั่นสะเทือนผ่านไปและตัวอาคารที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายต้องรีบออกจากอาคารนั้นและไม่ควรกลับเข้าไปจนกว่าจะได้รับการสำรวจว่าปลอดภัยดีแล้วมิฉะนั้น อาคารอาจถล่มทับได้  แผ่นดินไหวอาจเกิดตามมาอีกหลายระลอกจึงไม่ควรประมาทต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลาทางที่ดีควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow