Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คู่มือผ่านด่าน TCAS 61

Posted By Plook Magazine | 18 พ.ค. 60
65,314 Views

  Favorite

คู่มือผ่านด่าน TCAS 61

ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับ “TCAS 61" ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ในปี 2561 อยากให้เปรียบตัวเองเป็นมาริโอ้ในเกมที่จะต้องวิ่ง เดิน กระโดด เก็บพลังให้ตัวใหญ่ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เหมือนการเล่นเกมในชีวิตที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละด่านได้ ถ้ามีคู่มือการเล่นเกม มีสูตรลัดก็จะช่วยให้เกมเดินไปถึงเส้นชัยได้เร็วขึ้นนั่นเอง คู่มือนี้ก็เช่นกันจะช่วยให้เพื่อน ๆ ผ่านด่านเข้ามหาวิทยาลัย ไม่พลาดคณะในฝันแน่นอน พร้อมแล้วก็ออกสตาร์ทเลย
 

 

Finding yourself
สำรวจตัวเอง ก่อนเริ่มเล่นเกม

1. ค้นหาตัวเองให้เจอ สำรวจตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดอะไรเป็นพิเศษ
2. ศึกษาข้อมูล ค้นคว้าในเว็บไซต์เรื่องข่าวการสอบ กำหนดการต่าง ๆ หรือวิธีอื่น เช่น สอบถามรุ่นพี่ ไปงาน Open House ไปค่าย ไปลองสัมผัสประสบการณ์จากคณะที่เราคิดว่าใช่
3. ทดสอบความพร้อม ลองไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคณะหรืออาชีพนั้น ๆ 

ต่อไปก็ต้องศึกษาเส้นทาง อยากเข้าคณะอะไร คณะนั้นเปิดสอนที่ไหนบ้าง แต่ละที่มีเปิดรับตรง/โควตาไหม เปิดรับในระบบอะไรบ้าง การสอบเข้าใช้คะแนนอะไร หากเราไม่ศึกษาข้อมูลพวกนี้ จะไม่มีทางเล่นเกมนี้ได้ชนะ !

 

Basic Items
อาวุธพื้นฐาน

 

1. วุฒิการศึกษา จะได้มาหลังจากที่เรียนจบ ม. 6 หรือในระบบการศึกษาอื่น ๆ หรือเทียบเท่า* ม. 6
*เทียบเท่า = ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาเทียบเท่า ม. 6 นั่นก็คือ กศน. และปวช.

2. GPAX หรือเกรดเฉลี่ยสะสม เป็นอาวุธที่จะต้องเหลาให้คมเพราะช่วยให้ด่านต่อไปง่ายขึ้น การนำเกรดไปใช้ในแต่ละด่านโดยทั่วไปมีทั้งกำหนดเกรดขั้นต่ำและไม่กำหนด หากกำหนดก็จะกำหนดใช้เกรดเทอม 4, 5 หรือ 6 แล้วแต่โครงการ
- เกรดเฉลี่ยสะสม 4 ภาคเรียน คือ ม. 4 และ ม. 5
- เกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียน คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6 เทอม 1
- เกรดเฉลี่ยสะสม 6 ภาคเรียน คือ เกรด ม. 4, ม. 5 และ ม. 6

3. คุณสมบัติเฉพาะกลุ่ม การรับตรง/โควตาเฉพาะพื้นที่ เฉพาะภูมิภาค มักจะกำหนดว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น หรือเคยผ่านโครงการนี้มาแล้ว แนะนำว่าควรอ่านคุณสมบัติให้ละเอียดจะได้ไม่พลาดโอกาสในการใช้สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ในจุดนี้

4. พลังวิเศษ การเล่นเกมใคร ๆ ก็พึ่งพาการ์ดพิเศษอันนี้ คือความสามารถพิเศษที่โดดเด่น เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ฯลฯ เพราะทักษะเหล่านี้สามารถทำให้เราผ่านด่านได้ง่ายขึ้น แต่หากไม่มีการ์ดนี้ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะก็ยังสามารถถึงเส้นชัยได้

5. ความรู้ คือสิ่งที่แต่ละคนสั่งสมมาและมีไม่เท่ากัน บางคนชอบวิชาวิทยาศาสตร์มาก บางคนชอบวิชาภาษาอังกฤษ ก็จะถนัดในวิชาที่ชอบแต่จะไม่สนใจและไม่ถนัดวิชาที่ไม่ชอบเลย แต่ก็มีคนที่ถนัดทุกวิชา ซึ่งอันนี้เป็นข้อได้เปรียบ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจเรียนทำความเข้าใจวิชาเรียนหลัก ๆ ไว้ด้วยนะ

6. Portfolio แฟ้มสะสมอาวุธทั้งหมดของเรา การสอบสัมภาษณ์ทุกครั้งแฟ้มสะสมผลงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นการแนะนำตัวโชว์ผลงานเด่น ๆ ให้แก่คณะกรรมการได้เห็นว่าเรามีความสามารถทางด้านนี้มากแค่ไหน อาวุธของเรามีพลังมากพอที่จะผ่านด่านไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นเองจะสามารถสะสมประการณ์ให้ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

คุณสมบัติพร้อม อาวุธครบ ก็ไปต่อกันได้เลย Let’s go !

 

Mission 1

 

TCAS รอบที่ 1 Portfolio

ด่านโควตานี้ไม่มีการสอบข้อเขียน ใช้แค่ Portfolio โดยจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้แบบเฉพาะเจาะจง เช่น คววามสามารถะพิเศษ ทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ กีฬา ดนตรี เป็นต้น เพราะฉะนั้นลองตรวจสอบดูว่าเรามีคุณสมบัติตรงตามโควตาประเภทใดหรือไม่ ถ้ามีและเป็นคณะหรือสาขาที่สนใจ อย่ารอช้า รีบยื่น Portfolio ของเราไปเลย 
ประเภทของการรับตรง
- โครงการความสามารถพิเศษ
- โครงการโอลิมปิกวิชาการ
- โครงการเรียนดี
- โควตาโรงเรียนเครือข่าย
การสมัคร : มหาวิทยาลัยเปิดรับเอง
กำหนดการสมัครและคัดเลือก :
ครั้งที่ 1
วันที่ 1 ต.ค. - 30 พ.ย. 60 
ครั้งที่ 2 วันที่ 22 ธ.ค. 60 – 28 ก.พ. 61

 

Mission 2

 

TCAS รอบที่ 2 โควตา

รับตรง/โควตาด่านนี้มีความคล้ายกับด่านแรก คือใช้ Portfolio แฟ้มสะสมอาวุธยื่น แต่จะมีการสอบข้อเขียนเพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อวัดความถนัดพิเศษด้วย เช่น สอบความรู้ด้านทัศนศิลป์ ด้านภาษาอังกฤษ หรือทักษะอื่น ๆ ตามที่สถาบันกำหนด เป็นต้น

ประเภทของการรับตรง 
- โควตาพื้นที่ หรือ โควตาโรงเรียนในเครือข่ายในพื้นที่ สำหรับผู้ที่อยู่เฉพาะภูมิลำเนา เน้นการกระจายโอกาสทางด้านการศึกษา เช่น โควตาภาคเหนือ 17 จังหวัด
- โควตา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- โควตาความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่ต้องมีการสอบ
การสมัคร : มหาวิทยาลัยเปิดรับเอง
กำหนดการสมัครและคัดเลือก : ธ.ค. 60 – เม.ย. 61

 

ผ่านไปแล้ว 2 Mission จะเข้า Mission 3 เราต้องมีอาวุธเพิ่ม เพราะความยากก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ลำพังอาวุธพื้นฐานเราไปไม่ถึงเส้นชัยแน่ ๆ เราเลยต้องมี Rare Items อาวุธสำคัญที่จะทำให้เราผ่านด่านต่อไป ! 

 

Rare Items
อาวุธสำคัญ

 

O-NET
จะใช้คะแนน 5 กลุ่มสาระ คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย และสังคมศึกษา การสอบ O-NET เพื่อน ๆ ม. 6 ทุกคนต้องสอบให้ครบทุกวิชาภายในปีการศึกษานั้น สอบได้แค่ครั้งเดียว นักเรียนสายสามัญทางโรงเรียนจะสมัครสอบให้เอง ส่วนเด็กสายอาชีพ (ปวช., กศน.) สามารถสอบได้ แต่ต้องสมัครเองทางเว็บไซต์สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (คะแนนมีอายุตลอดชีวิต)

GAT
การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GAT เชื่อมโยง 50 %
2. ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ 50 %

PAT
การทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ มี 7 ประเภท ได้แก่
PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ

การสอบ GAT/PAT ต้องสมัครสอบเองทางเว็บไซต์ สทศ. ไม่ต้องสอบทุกวิชา เลือกสอบเฉพาะวิชาที่ใช้ ซึ่งแต่ละคณะ/สาขาวิชา จะกำหนดใช้วิชา GAT/PAT ไม่เหมือนกัน ต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละคณะ/สาขาตามที่กล่าวไปข้างต้น GAT/PAT ในปีการศึกษา 2561 จะแตกต่างกับปีที่ผ่านมา จากสอบ 2 รอบจะเหลือแค่สอบรอบเดียวเท่านั้น (คะแนนมีอายุ 2 ปี)

9 วิชาสามัญ
คือ วิชาคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย, สังคมศึกษา, คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป เช่นเดียวกันกับ GAT/PAT ไม่ต้องสอบทุกวิชา เลือกสอบเฉพาะวิชาที่ใช้ก็พอ การสอบ 9 วิชาสามัญ ในปีการศึกษา 2561 จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมาตรงที่ปีก่อน ๆ คะแนนจะนำไปใช้กับระบบรับตรงเท่านั้น แต่ของปี 61 จะนำมาใช้ในระบบการสมัครหลักด้วย (คะแนนมีอายุ 2 ปี)

สอบข้อเขียน/สอบตรง บางมหาวิทยาลัยจะกำหนดใช้ข้อสอบที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบเอง อาจจะเป็นวิชาสามัญทั่วไป หรือวิชาความถนัดต่าง ๆ อย่างความถนัดทางเภสัช ความถนัดทางวิชาชีพครู การสอบและการสมัครสอบก็ขึ้นอยู่กับทางสถาบันกำหนด ควรติดตาม คอยอัพเดตข่าวสารจากทางมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ
 

กำหนดการสอบ

GAT/PAT สอบวันที่ 24 - 27 ก.พ. 61
O-NET สอบวันที่ 3 - 4 มี.ค. 61
วิชาเฉพาะแพทย์ กสพท สอบวันที่ 10 มี.ค. 61
9 วิชาสามัญ สอบวันที่ 17 - 18 มี.ค. 61

มีอาวุธสำคัญครบแล้ว ก็ลุยด่านต่อไปกันเลย 

 

Mission 3

 

TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน

สำหรับนักเรียนทั่วไป ทุกมหาวิทยาลัยตกลงใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน แต่ละสถาบันจะกำหนดเกณฑ์การใช้คะแนนได้เป็นอิสระ เช่น โครงการรับตรง กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) หรือรับตรงโครงการหลักของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา ไม่ต้องมีลำดับ การเลือก 4 สาขาวิชา โดยไม่มีอันดับ คือ 4 สาขานี้ไม่ต้องเรียงลำดับคะแนนสูง-ต่ำ สาขาไหนอยู่ก่อนอยู่หลังไม่มีผลต่อการคัดเลือก และมีโอกาสสอบติดมากกว่า 1 อันดับ 
ตัวอย่างการเลือกอับดับ
อันดับ 1 กสพท (ซึ่งใน กสพท สามารถเลือกอันดับย่อยได้อีก 4 อันดับ)
อันดับ 2 คณะครุศาสตร์ โครงการรับตรง แบบปกติ จุฬาลงกรณ์ 
อับดับ 3 คณะวิทยาศาสตร์ โครงการรับตรง KU Admission ม.เกษตรศาสตร์ 
อันดับ 4 คณะนิติศาสตร์ โครงการรับตรง ม.ธรรมศาสตร์ 
การสมัคร : ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร 
กำหนดการสมัคร : 9 - 13 พ.ค. 61

 

Mission 4

TCAS รอบที่ 4 Admissions

ระบบกลางในการรับสมัครสำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์แต่ละสาขาวิชาเหมือนกัน (ตามเกณฑ์ค่าน้ำหนักที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 3 ปีมาแล้ว) คะแนนที่ใช้ GPAX, O-NET, GAT/PAT 
เลือกสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ คือจะต้องเรียงคะแนนจากมากไปน้อย นำคะแนนต่ำสุดของปีก่อนของแต่ละสาขามาเรียง จากมากสุดไปน้อยสุด เพราะอันดับมีผลกับการคัดเลือก และมีโอกาสติดแค่ที่เดียว 
ตัวอย่างการเลือกอันดับ
อับดับ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.จุฬาฯ คะแนนต่ำสุด 20,322  
อันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาเขตบางเขน ม.เกษตร คะแนนต่ำสุด 18,116
อันดับ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.เชียงใหม่ คะแนนต่ำสุด 15,823
อันดับ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.บูรพา คะแนนต่ำสุด 14,363
การสมัคร : ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร 
กำหนดการสมัคร : 6 - 10 มิ.ย. 61

 

Mission 5


TCAS รอบที่ 5 รับตรงอิสระ

หลังจากการรับสมัครรับตรง/โควตา, รับตรงร่วมกัน และแอดมิชชั่น จบไปแล้ว หากทางมหาวิทยาลัยยังมีที่นั่งว่างเหลือหรือต้องการนักศึกษาเพิ่ม ก็จะเปิดรับตรงอิสระเพิ่มเติม ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของคนที่หลุดมาจากทุกด่าน แต่คณะ/สาขาวิชาที่เปิดรับอาจจะไม่เยอะ และอาจจะไม่ใช่คณะในฝันของเรา ดังนั้นควรตั้งใจวางแผนการเล่นเกมให้ดี ตั้งแต่ด่านแรก 
การสมัคร : มหาวิทยาลัยเปิดรับเอง
กำหนดการสมัครและคัดเลือก : ก.ค. 61

 

Mission Complete

Mission Complete

 

ไม่ว่าจะแอดมิชชั่นหรือเอนทรานซ์ ก็เป็นเพียงชื่อเรียกของระบบ ยังไงวิธีการก็คือ สอบข้อสอบกลางต่าง ๆ ให้ครบตามที่กำหนด แล้วนำคะแนนไปยื่นเข้าระบบ ระบบก็จะคำนวณคะแนน คำนวณลำดับของเราว่าจะติดที่ไหน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร การเข้ามหาวิทยาลัยก็สำคัญตรงที่คณะที่เข้า ช่องทางการเข้า และคะแนนข้อสอบของเรา สู้ ๆ ทุกคนทำได้ !


 

แหล่งข้อมูล
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2560. จาก http://www.cupt.net/home.php
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2560. จาก http://www.niets.or.th/th/

 

นิตยสาร Plook

 

เรื่อง : พีชยา คงเสาร์ และวรรณวิสา สุภีโส
ภาพประกอบ : วันนิตา ตรียุทธกุล

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow