Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 ข้อสำคัญ ป้องกันลูกเป็นเด็กขี้โกหก

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 17 พ.ค. 60
3,901 Views

  Favorite

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน คงเคยสังเกตได้ว่าเด็กที่เริ่มพูดเก่งและอยู่ในวัยแห่งการจินตนาการ มักจะเริ่มมีพฤติกรรม “การโกหก” เกิดขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการโกหกในลักษณะที่ เอาความคิดและความเป็นจริงมารวมกัน หรือไม่ก็เป็นการโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเอ็นดูมากกว่าที่จะโกรธ

 

แต่ทว่า หากการโกหกนั้นดูเหมือนจะเรื้อรังและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงเมื่อลูกทำจนเป็นนิสัย คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกกังวลกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ วันนี้ครูพิมจึงมีข้อเตือนใจ 5 ข้อ ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ในการวิธีป้องกันการติดนิสัยชอบโกหกของลูก ๆ ได้ ถ้าพร้อมแล้วก็มาดูไปด้วยกันเลยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. ระวังการใช้อารมณ์กับลูก เมื่อพบว่าลูกทำผิดแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

เด็กๆ มักกลัวพ่อแม่โกรธและลงโทษพวกเขา ดังนั้นวิธีการที่คุณจัดการกับลูก ๆ เมื่อพวกเขาทำผิด จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เขาตัดสินใจว่า ในครั้งต่อๆ ไป เขาจะพูดความจริงหรือไม่ โดยทั่วไป หากการดุหรือลงโทษของคุณมีความเกินกว่าเหตุ ไม่มีการอธิบายเหตุผล และทำให้เด็กรู้สึกแย่หรืออับอาย ก็มักจะเป็นสาเหตุให้ลูกเลือกที่จะโกหกในครั้งต่อไปได้ค่ะ

 

2. พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของลูกในทุก ๆ เรื่อง

เมื่อลูกเริ่มโกหกและคุณจับได้ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือการทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึกของลูก เพราะการโกหก บ่งบอกถึงความไม่มั่นใจและความรู้สึกแย่บางอย่างที่เขาไม่สามารถอธิบายให้เราเข้าใจได้ บางครั้งเราจึงจำเป็นต้องคุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุของการโกหกนั้น มากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่ไปการลงโทษเพียงอย่างเดียวค่ะ

 

3. ชื่นชมลูกบ่อย ๆ ทุกครั้งที่ลูกแสดงความซื่อสัตย์

การชมพฤติกรรมที่ดีของลูก ยังคงใช้ได้ดีเสมอในทุก ๆ กรณี และในเรื่องของความซื่อสัตย์ก็เช่นเดียวกันค่ะ วิธีหนึ่งในการป้องกันการโกหก ก็คือการชื่นชมในความซื่อสัตย์ของเขา ซึ่งนับว่าเป็นเกราะป้องกันชั้นเยี่ยมทีเดียวค่ะ

 

4. อย่าบอกลูกว่า เมื่อเขาเป็นเด็กไม่ดีแล้วเราจะไม่รักเขา

เด็กให้ความสำคัญการความรักของพ่อแม่มากกว่าที่เราคิดค่ะ เมื่อใดก็ตามที่เราใช้ “ความรัก” เป็นคำขู่ เด็กจะรู้สึกกลัวและกังวลเป็นอย่างมาก เขาจึงพยายามทำทุกทางให้พ่อแม่รู้สึกว่าเขาน่ารักและเป็นเด็กดี การโกหกจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เด็ก ๆ มักจะทำเมื่อเขารู้ว่าพ่อแม่จะไม่รักเขาหากได้รู้ความจริง ดังนั้น พยายามย้ำเตือนให้ลูกเข้าใจเสมอนะคะว่า พฤติกรรมที่ไม่ดีของเขา เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ และเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ได้ทำให้พ่อแม่ไม่รักเขา

 

5. ระมัดระวังการโกหกของตัวคุณเองด้วย

บ่อยครั้งที่เรามักพูดทีเล่นทีจริงกับเด็ก และพูดสร้างความหวังแต่มักไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริง แต่เด็กมีความจำที่ดีกว่าที่เราคิดค่ะ ครูพิมเคยได้ยินคุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังอยู่บ่อย ๆ ถึงเหตุการณ์ที่ลูกจำคำสัญญาของพ่อแม่ ที่เคยพูดไว้เมื่อหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อคำสัญญานั้นเป็นสิ่งที่เด็กต้องการ การที่เราหลงลืมสัญญาเหล่านี้บ่อย ๆ หรือพูดกับเด็กในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการเลียนแบบของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาจะมองว่า เมื่อพ่อแม่ทำได้ เขาก็ทำได้เช่นกัน

           

ด้วยเทคนิค 5 ข้อนี้ หากคุณพ่อคุณแม่นำไปใช้อย่างสม่ำเสมอ ครูพิมมั่นใจว่า เราจะได้เห็นพฤติกรรมที่ดีขึ้นของลูกอย่างแน่นอนค่ะ นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เราทำก็เป็นการปลูกฝังให้ลูกไม่กลัว และเห็นคุณค่าของการพูดความจริงอีกด้วยนะคะ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นค่านิยมที่ติดตัวเขาตลอดไปเลยล่ะค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow