Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกเดินช้า...มีปัญหาพัฒนาการหรือไม่

Posted By Plook Parenting | 27 เม.ย. 60
13,185 Views

  Favorite

ลูกเดินช้า เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักเป็นกังวล เนื่องจากเห็นเด็กบางคนสามารถเดินได้คล่องตั้งแต่อายุยังไม่เต็มขวบดี หรือบางทีเห็นลูกเริ่มตั้งไข่แล้วแต่ก็ไม่ยังไม่ยอมเดิน จนคุณพ่อคุณแม่บางคนวิตกไปว่าลูกอาจมีปัญหาพัฒนาการบางอย่างที่อาจต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางพัฒนาการของคุณลูกที่เห็นได้ชัดเป็นหลัก อาทิ การคลาน การเดิน การหยิบจับสิ่งของ แต่หัวใจสำคัญของพัฒนาการเด็ก คือ การรับรู้ของเด็ก หากลูกมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้ดี อยากรู้อยากเห็น และช่างจดจำ ก็ถือว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีสมวัย เด็กแต่ละคนมีอุปนิสัยการเรียนรู้ที่ต่างกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลำดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย

 

การที่ลูกเดินช้า แท้จริงแล้วอาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูที่คุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดอุ้มเด็กตลอดเวลา จนเด็กรู้สึกว่าการเดินหรือการคลานยังไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในตอนนี้ จึงทดแทนด้วยพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเด็กเรียนรู้ และได้รับการกระตุ้นว่า ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มเดิน หรือเริ่มช่วยเหลือตัวเองแล้ว เด็กก็จะมีความพยายามที่จะหัดเดินมากขึ้นเอง

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. หาสาเหตุที่ส่งผลให้ลูกเดินช้า หรือไม่ยอมเดิน

นอกจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลให้เด็กไม่มีแรงกระตุ้นที่จะหัดเดินแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจว่าลูกมีปัญหาพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินหรือไม่ อาทิ ปัญหาสายตา หากเด็กสายตาสั้นมาก การมองเห็นของเขาจะถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ส่งผลให้ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กลดลง จนทำให้เด็กไม่อยากเดินออกไปไหน วิธีแก้ปัญหาคือการพาไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์พิจารณาและตัดแว่นให้เด็ก เด็กก็จะมีแรงกระตุ้นในการหัดเดินได้เอง

2. เพศของลูกก็มีผลต่อพัฒนาการ

โดยทั่วไปเด็กผู้ชายมักจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายเร็วกว่าเด็กผู้หญิง อาจตัวโตกว่า มีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ไวกว่า และดีกว่าเด็กผู้หญิง ในขณะเดียวกันเด็กผู้หญิงจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาดีกว่าเด็กผู้ชาย คือ พูดและสื่อสารได้เร็วและคล่องกว่าในวัยเดียวกัน

3. กรรมพันธุ์

ลูกเดินช้า อาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ด้วยส่วนหนึ่ง หากคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวเป็นคนเรียนรู้เร็ว ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ค่อนข้างไว แนวโน้มที่เด็กจะมีพัฒนาการเร็วตามไปด้วยจึงค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันหากครอบครัวเรียนรู้ค่อนข้างช้า และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้ช้าลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้การเรียนรู้ช้าเหล่านี้ไม่นับว่าเป็นปัญหาพัฒนาการของเด็ก เพราะเป็นการพัฒนาตามช่วงวัยของเด็กที่ควรจะเป็น

4. สภาพร่างกายหรือสรีระของเด็ก

บางครอบครัวนิยมเลี้ยงลูกให้ตัวอ้วนจ้ำม่ำ เพราะดูน่ารักน่าเอ็นดู โดยหารู้ไม่ว่าการที่สรีระของลูกที่อ้วนเกินไป อาจส่งผลให้เด็กเคลื่อนไหวลำบาก และมีพัฒนาการการคลาน นั่ง และเดินที่ช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน โรคภัยและการเจ็บป่วยก็ส่งผลให้ลูกเดินช้าได้เช่นเดียวกัน

5. หาวิธีกระตุ้นให้ลูกหัดเดิน

เด็กวัยเตาะแตะแทบทุกคนมักรู้สึกสนุกสนานที่ได้เคลื่อนไหวตัวเอง เมื่อเห็นว่าลูกสนุกและลุกนั่ง หรือคลานจนคล่องแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้นการหัดเดินด้วยการอุ้มให้เท้าลูกสัมผัสกับพื้น ให้เขารู้สึกว่าการเดินก็เป็นเรื่องที่สนุกเช่นกัน จากนั้นลองจัดพื้นที่ให้ลูกหัดยืนเกาะดูบ้าง เมื่อลูกสนุกที่จะเกาะสิ่งต่าง ๆ เดินไปรอบ ๆ แล้ว ลองจูงใจลูกด้วยเสียงเชียร์ หรือของเล่นชิ้นใหม่ เพื่อให้เขาก้าวเดินได้ต่อเนื่องขึ้น และไกลขึ้น จากนั้นไม่นานลูกก็จะเริ่มเดินคล่องด้วยตัวของเขาเอง

 

การเดินช้า ไม่จำเป็นต้องมาจากปัญหาพัฒนาการเสมอไป แต่อาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ขัดขวางพัฒนาการการเดินของลูกก็เป็นได้ หากคุณพ่อคุณแม่ค้นพบสาเหตุที่แท้จริง แก้ปัญหาอย่างตรงจุด และหากิจกรรมกระตุ้นการเดินให้ตรงกับธรรมชาติของเด็ก ก็จะช่วยให้พัฒนาการการเดินของเด็กดีขึ้นตามไปด้วย 

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow