Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รับมือเด็กชอบเรียกร้องความสนใจ

Posted By Plook Parenting | 27 เม.ย. 60
30,812 Views

  Favorite

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมต้องการความสนใจจากคนรอบข้างด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หากเขารู้สึกว่าได้รับความรักและความเอาใจใส่ไม่เพียงพอ ก็จะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมา ซึ่งหากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ได้

 

ปัญหาเด็กชอบเรียกร้องความสนใจ มักพบได้ในเด็กที่ไม่ได้รับความรักและความเอาใจใส่มากเพียงพอ หรืออาจจะได้รับมากเกินไป เป็นภาวะที่เด็กรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับการยอมรับ และโดดเดี่ยว เด็กจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น ตะโกนเสียงดัง เกาะติดคุณพ่อคุณแม่มากผิดปกติ ขว้างปาข้าวของ หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอื่น ๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวหันมาสนใจ หากปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อไป อาจส่งผลด้านลบต่ออารมณ์และจิตใจของเด็ก ทำให้เติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความอดทน ใจร้อน เอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และชอบโอ้อวดในอนาคต

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. เอาใจใส่และให้เวลาลูกอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ

คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสรรเวลาในแต่ละวันให้ดี โดยแบ่งเวลามาอยู่กับลูกบ้างเพื่อให้เขารู้สึกว่ายังสำคัญ การแบ่งเวลามาเล่นกับลูกสัก 10-15 นาที หรือเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน จะช่วยเติมเต็มความอบอุ่นและเสริมความมั่นคงทางจิตใจของเด็กได้ เมื่อเด็กรู้สึกว่าเขาได้รับความรักความเอาใจใส่ที่เพียงพอ พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจก็จะไม่เกิดขึ้น

 

2. ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง

ก่อนที่จะดุหรือทำโทษลูก ควรพิจารณาสิ่งแวดล้อมก่อนว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อจิตใจของลูก เพราะทุกการกระทำย่อมมีสาเหตุ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจยุ่งอยู่กับงาน หรือบางครอบครัวมีลูกมากกว่า 1 คน อาจส่งผลให้ดูแลลูก ๆ ไม่ทั่วถึง เมื่อเด็กรู้สึกว่าความรักและความใส่ใจที่เคยได้รับเริ่มลดน้อยลง เขาจะรู้สึกกลัว น้อยใจ และสับสน จึงแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมา

 

3. ไม่ตอบรับลูกทันที แต่ให้ชี้แจงด้วยเหตุผล

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ เมื่อเห็นลูกแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจก็มักรีบไปหาและตอบรับในสิ่งที่ลูกต้องการทันที เพราะไม่อยากให้ลูกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักต่อไป แต่การตอบรับในทันทีแบบนี้จะทำให้เด็กเข้าใจว่าทุกครั้งที่เขาต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ เขาต้องแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกมาก่อนเสมอ แท้จริงแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารัก ควรชี้แจงเขาด้วยเหตุผล ว่าเหตุใดจึงตอบรับความต้องการของเขาไม่ได้ และเตือนเด็กด้วยท่าทีจริงจังว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมาะสม

 

4. สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง

บางครั้งการเรียกร้องความสนใจมักเกิดจากความเบื่อ ความเหงา หรือความโดดเดี่ยว หากคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น พร้อมทั้งสอนวิธีการรับมือกับความรู้สึกต่าง ๆ อาทิ ถ้ารู้สึกเบื่อหรือเหงา ลองสอนให้ลูกนั่งวาดภาพระบายสี ต่อตัวต่อ อ่านนิทาน หรือมาช่วยงานบ้าน เด็กก็จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น และแสดงออกอย่างเหมาะสม

 

5. ชมเชยเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลาและความตั้งใจค่อนข้างสูง หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจจะยังเรียกร้องความสนใจบ้างบางครั้งแต่ก็ลดน้อยลง ควรชื่นชมและให้กำลังใจเขา กอดเขา และบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเขามากแค่ไหนที่เป็นเด็กดีและน่ารัก เมื่อเด็กมีทัศนคติที่ดีขึ้น และภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจเหล่านี้ก็จะหายไปเองในที่สุด

 

เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่มักแสดงออกตามอารมณ์ความรู้สึก ยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ หากเด็กรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ โดดเดี่ยว หรือไม่ปลอดภัย เขาก็จะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจหรือก้าวร้าวออกมา แต่ถ้าเด็กได้รับความรัก ความอบอุ่น และความใส่ใจจากครอบครัวเป็นประจำสม่ำเสมอ สภาพจิตใจของเด็กจะดีขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรง

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow