Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรือเป็นโรค Tics

Posted By Plook Parenting | 05 ก.ย. 65
30,958 Views

  Favorite

โรค Tics หรืออาการกระตุก เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองร่วมกับปัจจัยด้านความเครียด ซึ่งคำว่า Tics นั้นหมายถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือการเปล่งเสียงที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด และเป็นซ้ำ ๆ กันโดยไม่ตั้งใจ พบบ่อยในเด็ก วัย 7-11 ขวบ ในเด็กชายจะเป็นมากกว่าเด็กหญิง

 

อาการ

เด็กที่เป็นจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกเป็นพัก ๆ ซึ่งกล้ามเนื้อที่กระตุกนี้จะเป็นส่วนใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อที่ตา ที่มุมปาก และต้นคอ ทำให้มีอาการตาขยิบบ่อย ๆ มุมปากกระตุก หรือคอกระตุก บางทีการกระตุกอาจเกิดกับกล้ามเนื้อใหญ่หลาย ๆ มัดพร้อมกัน เช่น ที่แขน หรือสะโพก ทำให้มีอาการเหมือนแขนกระตุก สะบัดโดยแรง หรือมีอาการยักไหล่บ่อย ๆ ในบางครั้ง Tics อาจมาในรูปกิริยาแปลก ๆ เช่น อาการจมูกฟุดฟิด สูดจมูก สูดปาก กระแอม ไอ รวมทั้งส่งเสียงประหลาด เช่น เห่า หรือร้องเป็นคำซ้ำ ๆ

 

อาการกระตุก แบ่งได้ 3 ชนิด ตามระดับความรุนแรง คือ

     • โรคติกส์ชั่วคราว (Transient Tics) ระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมต้น ซึ่งจะพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 7-11 ปี จะมีอาการเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจะหายได้เอง แต่อาจจะกลับมาเป็นอีกได้ อาการเมื่อกลับเป็นซ้ำอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ครั้งแรกมีอาการขยิบตา พอเป็นครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นกระตุกมุมปาก เป็นต้น

     • โรคติกส์เรื้อรัง (Chronic Tics) ระดับความรุนแรงมากขึ้น อาการจะเป็นเหมือนชนิดชั่วคราว แต่จะเป็นติดต่อกันนานเกิน 1 ปี ไม่หายไปง่าย ๆ บางคนเป็นจนโตหรือเป็นตลอดชีวิต

     • โรคทูเรทท์ (Tourett's Syndrome) เป็นติกส์ระดับรุนแรงที่สุด เด็กที่เป็นโรคทูเรทท์ นอกจากจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ แล้ว จะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ ด้วย เช่น ที่แขน หลัง ท้อง จนดูเหมือนเคลื่อนไหวแปลก ๆ เช่น สะดุ้งทั้งตัว สะบัดแขน ตีปีก ขว้างของ บริเวณที่กระตุกจะย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เริ่มเป็นที่ไหล่ ย้ายไปแขนขวา แล้วย้ายไปที่หลัง เป็นต้น นอกจากอาการกระตุกของกล้ามเนื้อแล้ว โรคทูเรทท์จะยังมีอาการเปล่งเสียง (Vocal Tics) ร่วมด้วย อาการทั้งหมดจะเป็นนานเหมือนกับติกส์ชนิดเรื้อรัง (เกิน 1 ปี)

 

ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุ

ทางการแพทย์เชื่อว่า Tics เกิดจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ทั้งพันธุกรรม ชีวภาพ และจิตใจ ทำให้กล้ามเนื้อมีความไวเป็นพิเศษ และกล้ามเนื้อกระตุกได้ง่าย ซึ่งปัจจัยทางจิตใจนั้นสำคัญมาก เพราะอาการจะเริ่มพร้อม ๆ กับเวลาที่เกิดความตึงเครียดในสภาพแวดล้อมของเด็ก บางครั้งพ่อแม่ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยการดุลูก ห้ามลูก ตำหนิลูก เช่นบอกว่า  “อย่าทำอีกนะ”  “ห้ามส่งเสียงแบบนี้นะ” ยิ่งทำให้เด็กยิ่งเครียด อาการก็ยังเป็นมากขึ้น แต่เวลาที่เด็กเพลิดเพลิน เช่น ดูทีวี อ่านการ์ตูน อาการจะลดลง และเวลาหลับอาจจะไม่มีอาการกระตุกเลย

 

โรค Tics เป็นโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับภาวะเครียดทางจิตใจ มีผลกระทบต่อการปรับตัวทางสังคมของเด็ก และพบร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ย้ำคิด และย้ำทำ ซนผิดปกติ ขาดสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ เหมือนเด็กที่เป็นโรคซน-สมาธิสั้น หรืออาจมีปัญหาด้านการเรียนร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก และอาจสอบถามจากคุณครูที่โรงเรียนด้านการเรียน และพฤติกรรมของลูก เพื่อที่จะทำการป้องกันและแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ไม่เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นหากปล่อยปละละเลยไว้นานเกินไป

 

วิธีการ

1. พาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก

เมื่อลูกเริ่มมีอาการควรพาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจให้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเช็คว่ามีปัญหาอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเด็กบางคนเป็นภูมิแพ้ที่ตา (Allergic Conjunctivitis) หรือเป็นโรคแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) อาจทำให้มีอาการคันและขยิบตาหรือย่นจมูกคล้าย ๆ Tics ได้

 

2. ค้นหาสาเหตุ

ลองหาสาเหตุว่ามีอะไรที่ทำให้ลูกตึงเครียดเกินไป และพยายามหาทางแก้ไขหรือลดความตึงเครียดนั้นลง

 

3. ไม่ควรแสดงความกังวล หรือจับจ้องเฝ้ามองลูกเวลามีอาการ

เพราะจะทำให้ลูกยิ่งเครียดและเกิดอาการกระตุกมากขึ้น  ทางที่ดีก็คือทำเป็นไม่สนใจอาการดังกล่าว แล้วชวนลูกทำอะไรให้เพลิดเพลินเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

 

4. อย่าตำหนิ ดุด่าที่ลูกมีอาการแบบนี้

เพราะลูกไม่ได้แกล้งทำ บางครั้งเด็กยิ่งพยายามควบคุมไม่ให้กระตุก อาจทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น อย่าไปสั่งลูกให้พยายามหยุด เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียด ทางที่ดีควรจะพูดให้กำลังใจลูกมาก ๆ

 

5. สอนให้ลูกภาคภูมิใจในตนเอง

ให้เขามองข้อดีของตนเอง โดยการส่งเสริมความสามารถด้านอื่น ๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรืออะไรก็ตามที่ลูกถนัด เพราะความรู้สึกนี้จะช่วยต้านความรู้สึกแย่ ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กมีกำลังใจและเห็นคุณค่าตนเองมากขึ้น

 

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลใจมากเกินไป เพราะโรค Tics ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือร่างกายอย่างอื่นใด เด็กยังสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทุกประการ อีกทั้งปัจจุบันยังมียาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแต่ก่อนมาก เด็กที่เป็น Tics จึงสามารถรักษาให้หายได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow