Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แก้ปัญหาลูกชอบขว้าง ปา สิ่งของ

Posted By Plook Parenting | 26 เม.ย. 60
10,960 Views

  Favorite

การขว้างปาข้าวของ นับเป็นพัฒนาการหนึ่งของวัยทารก เพราะเด็กจะเรียนรู้การควบคุมร่างกายของตัวเองผ่านการขว้าง หรือปาสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งเรียนรู้สิ่งของที่เขวี้ยงออกไปจากเสียงกระทบ หรือลักษณะการกระเด้งกระดอน แต่หากยังมีพฤติกรรมชอบขว้างปาสิ่งของอยู่จนถึงวัย 3-6 ปี และมีลักษณะรุนแรงขึ้น หรือขว้างปาในขณะที่กำลังอารมณ์ไม่ดี นั่นอาจเป็นสัญญาณของพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกน้อยได้

 

ช่วงวัยทารกอายุ 0-2 ปี พฤติกรรมการขยำ ดึง ทึ้ง ขว้าง หรือปาสิ่งของ เป็นการเรียนรู้การควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก ยิ่งเด็กใช้งานมือและแขนมากเท่าไหร่ กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะยิ่งพัฒนาไวขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้การได้ขยำหรือขว้างปาสิ่งของให้เกิดเสียงกระทบ หรือกระเด้งไปมายังช่วยสร้างความบันเทิงให้กับเด็กได้อีกด้วย แต่ถ้าพ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควบคุมการขว้างปาเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เด็กจะเกิดความเคยชิน เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3-6 ปี หรือวัยเด็กเล็ก เขาจะเริ่มขว้างปาสิ่งของเพื่อเรียกร้องความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความคับข้องใจหรือไม่พอใจ กลายเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมก้าวร้าว และการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง จนอาจส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ตัวเองของเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. อธิบายด้วยเหตุผล

ถึงแม้เด็กวัยที่ชอบขว้างปาสิ่งของจะยังเล็กมาก แต่เด็กก็สามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อธิบายได้ เมื่อพ่อแม่พบเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมขว้างปาสิ่งของมากเกินไป หรือเริ่มปาแรงขึ้น ปาไปโดนข้าวของชิ้นอื่น ควรหยุดการเล่นนั้น แล้วบอกให้เขารู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่น่ารัก ไม่ควรทำ และอาจทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บได้

 

2. กำหนดกติกาในการเล่นขว้างปาสิ่งของ

ในวัยเด็กทารก กิจกรรมการเล่นอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักเล่นกับลูกคือการเล่นขว้างปาสิ่งของ แต่การเล่นเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกให้ชัดเจน และให้เล่นขว้างปาสิ่งของเพียงชิ้นที่กำหนดไว้เท่านั้น เช่น ลูกบอล เพื่อฝึกให้ลูกเรียนรู้ว่าของสิ่งนี้สำหรับขว้างปาเล่น แต่ของสิ่งอื่นไม่ควรนำมาขว้างปา นอกจากนี้หลังจากเล่นเสร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บของเล่นนี้ไว้ให้พ้นมือลูก เพื่อป้องกันการนำมาขว้างเล่นจนอาจเกิดความเสียหายในบ้านได้

 

 

3. หาวิธีการลงโทษที่เหมาะสม

หากลูกยังไม่เลิกพฤติกรรมชอบขว้างปาสิ่งของเมื่ออารมณ์ไม่ดีหรือไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรต่อว่าหรือใช้ความรุนแรง เพราะอาจเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมของลูกให้รุนแรงยิ่งขึ้น ควรปล่อยให้ลูกระบายความรู้สึกออกมาจนสงบก่อน แล้วจึงค่อย ๆ พูดจาด้วยเหตุและผล ให้เขาเห็นการกระทำของตนเองว่าขว้างปาข้าวของแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง จากนั้นจึงชักชวนกันมาเก็บกวาดห้องให้เรียบร้อย และชื่นชมที่ลูกเป็นเด็กดีมาช่วยกันเก็บของให้เรียบร้อย

 

การที่เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกที่รุนแรง เรียกร้องความสนใจ อาจมาจากการที่เขายังไม่รู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสม หากคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำและสอนเขาเรื่องการจัดการกับอารมณ์ และการแสดงออกก็จะช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงอย่างขว้างปาข้าวของให้ลดลงไปได้ เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้ เขาก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow