Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การช่างไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
11,262 Views

  Favorite

การช่างไทย

 

ถ้าโรงเรียนจัดนิทรรศการผลงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน และให้โอกาสบุคคลภายนอกเข้าชม นักเรียนเคยคิดอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ไปชมผลงานศิลปหัตถกรรม อันเป็นฝีมือของตนบ้างหรือไม่

งานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เกิดจากการปลูกฝังความรู้ในงานพื้นฐานอาชีพ และเสริมสร้างลักษณะนิสัยของนักเรียนให้รู้จักความประณีต ความรักในสิ่งสวยงาม ตลอดจนการรู้จักประดิษฐ์สิ่งของใช้สอยในบ้าน เช่น การพับกระดาษให้เป็นรูปสัตว์ การระบายสีรูป การทำปลาตะเพียน การทำพัด ทำบ้านจำลอง ทำกระเช้ากล้วยไม้ เป็นต้น

สิ่งของเครื่องใช้สอยในบ้านที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนเราทำขึ้นทั้งสิ้น นับตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับบ้าน โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย จนถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน วัดวาอาราม ตึก สะพาน พระราชวัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คนเราเป็นผู้คิดทำขึ้นทั้งนั้น ผู้ที่มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ ให้มีความสวยงาม และให้ได้ประโยชน์ในการใช้สอย เราเรียกว่า "ช่าง" ส่วนวิธีประดิษฐ์ให้ประณีตสวยงาม เช่น การนำหินสีสวยๆ มาเจียระไนเป็นหัวแหวน การปักลวดลายบนเสื้อผ้า จนถึง การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้มีรูปทรงต่างๆ กันนั้น ช่างซึ่งเป็นคนทำ จะมีวิธีการทำที่แตกต่างกันไปเรียกว่า "การช่าง"

การช่างมีมาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังพำนักอาศัยอยู่ตามป่าเขา และถ้ำ ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เช่น คนสมัยหิน รู้จักกะเทาะหินแหลมมาทำเป็น มีด พร้า และอาวุธล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อคนเรามีความรู้มากขึ้น รู้จักสร้างบ้านเรือนเป็นที่พำนักอาศัย รู้จักนำดินเหนียวมาปั้นหม้อ ไห รู้จักการจักสานภาชนะใส่สิ่งของใช้ในบ้าน รู้จักการถักทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มแทนใบไม้ และหนังสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานว่า คนสมัยโบราณมีความสามารถในการช่างบ้างแล้ว

ในเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นเผ่า และดำเนินชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน ย่อมคิดประดิษฐ์สิ่งของใช้สอยในลักษณะเดียวกัน เช่น หมู่บ้านคนไทยในที่ต่างๆ จะคิดประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีวิธีการทำที่เป็นแบบอย่างเฉพาะของคนไทยสืบต่อๆ กันมา อย่างนี้เรียกว่า "การช่างไทย"

 

 

 

 

 

มีคำพังเพยแต่โบราณว่า "เมื่อหมดหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก" คำพังเพยนี้บ่งบอกความเป็นมาของการช่างไทย กล่าวคือ แต่เดิมการช่างของไทย เริ่มจากบุคคลในครอบครัวก่อน เมื่อเสร็จจากการทำนาและเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้ชายก็จะใช้เวลาตีเหล็ก เพื่อทำ มีด พร้า จอบ เสียม และอื่นๆ ส่วนผู้หญิงก็ทำงานเบากว่าอย่างการทอผ้า จักสานเครื่องใช้จำพวกกระด้ง กระจาด เป็นต้น บางครอบครัวอาจผลิตสิ่งของได้มาก จนเหลือใช้ ก็จะนำไปแลกเปลี่ยน กับเครื่องใช้สอยอื่น ที่ตนไม่สามารถผลิตได้  ทำให้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายเครื่องมือเครื่องใช้ทางหัตถกรรมประเภทต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้าน หรืออาจขยายออกไปเป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างต่างหมู่บ้าน ต่างเมืองไกลออกไป

การทำหัตถกรรม ในครัวเรือนดังกล่าวนี้ เป็นระยะเริ่มแรกของการช่างไทย โดยผู้ใหญ่มักเป็นผู้สอนให้ลูกหลานทำ และถ่ายทอดกันจากครอบครัวไปสู่หมู่บ้าน จึงเกิดเป็นหมู่บ้านช่างชนิดนั้นๆ เป็นหมู่บ้านไป เช่น หมู่บ้านทำบาตรพระ ก็เรียกว่า "บ้านบาตร" เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมี "บ้านกระดาษ" "บ้านหม้อ" "บ้านพานถม" และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในเมืองใหญ่ และเมืองเล็ก

 

การช่างของไทยแต่เดิมเริ่มจากในครอบครัวก่อน เช่น การทอผ้าของผู้หญิง และการตีเหล็กของผู้ชาย เพื่อทำเครื่องใช้บางอย่าง

 

นอกจากการช่างที่ชาวบ้านทำใช้ในครอบครัวแล้ว บางครั้งช่างชาวบ้านยังทำถวายภิกษุ ถวายวัดเป็นการทำบุญ มีมาตั้งแต่การซ่อมสร้างสิ่งเล็กในวัด จนถึงสิ่งใหญ่ เช่น กุฏิ ศาลา โบสถ์ และวิหาร การก่อสร้างขนาดใหญ่มักมีเศรษฐี หรือผู้ที่มีฐานะดี ช่วยบริจาคเงินให้ช่างทำ บางครั้งเด็กลูกหลานตามผู้ใหญ่ที่เป็นช่างไปวัด เด็กก็พลอยช่วยผู้ใหญ่ทำงานช่าง นานเข้าก็ชำนาญ คนที่ชอบการช่าง อาจให้พ่อแม่ฝากกับช่าง ที่รู้จักชอบพอกัน และนับถือในฝีมือ โดยไปเป็นลูกศิษย์คอยรับใช้ และฝึกฝนการช่างต่อไป เด็กดังกล่าวเหล่านี้ เมื่อโตขึ้นกลายเป็นช่างฝีมือประจำหมู่บ้าน

ช่างอีกฝ่ายหนึ่งที่เราอาจพบเห็นในเมืองต่างๆ ได้แก่ "พระช่าง" พระช่าง คือ ภิกษุที่มีความสามารถทางการช่างประเภทต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างสลัก ช่างหล่อ ช่างลงรักปิดทอง เป็นต้น ดังนั้นในการซ่อมสร้างส่วนต่างๆ ในวัดวาอาราม จึง เห็นพระช่างร่วมมือกับช่างชาวบ้านบูรณปฏิสังขรณ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น  

วัดในสมัยโบราณเป็นโรงเรียนของหมู่บ้าน มีพระเป็นผู้ให้วิชาความรู้ทางหนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ วิชาแพทย์แผนโบราณ ตลอดจนวิชาการช่างต่างๆ ดังนั้นคนที่เคยเป็นเด็กวัดก็ดี สามเณรก็ดี มีโอกาสเรียนรู้วิชาการช่างจากวัด เมื่อโตขึ้น ก็สามารถใช้วิชาช่างนี้ ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ถ้าสมัครเข้ารับราชการงานช่าง ก็จะได้ร่วมงาน ช่างในราชสำนัก และได้ชื่อว่าเป็น "ช่างหลวง"

การช่างของไทยมีหลายประเภทแตกต่างกันไป นอกจากการสร้าง เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสร้างขึ้นตามความเชื่อ ตามขนบประเพณี และเพื่ออุทิศถวายเป็น พุทธบูชาด้วย เช่น การสร้างตุงกระด้าง ซึ่งเป็นธงไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ที่พุทธศาสนนิกชน ในภาคเหนือ หรือชาวล้านนาทำถวายวัดเป็นพุทธบูชา สัตภัณฑ์ หรือที่ปักเทียนขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านล้านนาทำถวายวัดเป็นพุทธบูชา สำหรับปักเทียนบูชาพระพุทธรูปในวิหาร และการทำธงหรือธงขนาดใหญ่ที่ทอด้วยฝ้าย และไม้ไผ่ของชาวอีสาน เพื่อตกแต่งวัด ในงานบุญเทศน์มหาชาติ เป็นต้น

ดังกล่าวแล้วเป็นการช่างพื้นบ้านพื้นเมืองของไทย การช่างเหล่านี้ ทำให้เกิดการช่าง ที่มีเอกลักษณ์เป็นของไทยขึ้นมากมายหลายประเภท เช่น การทำเครื่องจักสาน การทำเครื่องปั้นดินเผา การปั้น การแกะสลักไม้ การทอผ้า ทอเสื่อ และการเย็บปักถักร้อย การหล่อโลหะ การก่อสร้าง การเขียนภาพ การทำเครื่องกระดาษ การทำหุ่นกระดาษ การทำยานพาหนะ การทำเครื่องประดับ การทำเครื่องเขิน เป็นต้น

 

การสร้างโบสถ์ส่วนใหญ่จะมีผู้ที่มีฐานะดีบริจาคเงินสร้าง โดยจ้างช่างที่มีฝีมือในละแวกนั้น ๆ
พระภิกษุที่มีความสามารถในด้านการช่างประเภทต่างๆ
เรียกว่า "พระช่าง"
การทำหุ่นกระดาษซึ่งเป็นการช่างพื้นบ้านพื้นเมืองของไทย ทำให้เกิดการช่างที่มีเอกลักษณ์เป็นของไทย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow