Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จิตรกรรมไทย แบบประเพณี

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
60,241 Views

  Favorite

จิตรกรรมไทย แบบประเพณี

      ผนังโบสถ์และวิหารของวัดต่าง ๆ มักมีรูปภาพสวยงามเล่าเรื่องประวัติพระพุทธเจ้าบ้าง ชาดกบ้าง ทำให้เด็ก ๆ  ได้รู้จักเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้วยังเรียนรู้ธรรมะได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน บางครั้งได้รู้จักประวัติศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันด้วย ภาพสวยงามตามผนังโบสถ์และวิหารเหล่านั้นเรียกว่า จิตรกรรมฝาพนัง อันเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีอย่างหนึ่ง ช่างไทยเขียนภาพเช่นนี้มาแต่โบราณท่านใช้สีที่ได้มาจากแร่ธาตุธรรมชาติ เช่น สีดำทำจากเขม่าหรือถ่น สีแดงมาจากดินสีแดง สีทองก็ใช้ทองคำเปลว  ส่วนพู่กันที่ท่านใช้ทำจากรากต้นลำเจียกหรือทำจากเปลือกต้นกระดังงา     ถ้าเป็นพู่กันขนาดเล็กใช้สำหรับตัดเส้นก็ทำมาจากขนหูวัว ช่างไทยท่านสร้างสรรค์สั่งสมสืบทอดกลวิธีการเขียนภาพมาหลายชั่วอายุคน นับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีนี้เป็นศิลปะที่คนไทยควรภาคภูมิใจ

 

 

ผนังโบสถ์
ผนังโบสถ์

 

 

 

 

      ภูมิปัญญาและฝีมือของช่างเขียนไทยแต่โบราณนั้น สะท้อนแนวความคิด และเรื่องราวทางพุทธศาสนา กิจกรรมทางสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภาพจิตรกรรมประเภทนี้ เป็นศิลปะ ที่ช่างไทยสร้างสรรค์สั่งสม สืบทอด ปรับปรุงกันมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นศิลปะ ที่มีระเบียบงดงาม มีความชัดเจนแนบเนียน จนกลายเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ปรากฏให้เห็นทั่วไปในภาพจิตกรรมฝาผนังของโบสถ์และวิหาร

จิตรกรรมไทยแบบประเพณี 

จิตรกรรมในพุทธศาสนา 
     เข้าใจกันว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ ตั้งแต่อารยธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทย ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทวาราวดีมีการสร้างงานประติมากรรมเล่าเรื่องในพุทธศาสนา เช่น สร้างพระพุทธรูปสลักหินหรือใช้ปูนปั้นซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่  เชื่อว่ายังมีงานจิตรกรรมด้วยแต่ไม่ปรากฏหลักฐานโดยคาดว่างานจิตรกรรมคงชำรุด เสียหายไปหมดแล้วเพราะงานจิตรกรรมเขียนด้วยวัสดุไม่คงทนอาจถูกแดดถูกฝนทำลายชะล้างไปสิ้น

 

 

ปูนขาว

 

      การมีสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงและกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกล  ทำให้มีการถ่ายรับอิทธิพลทางด้านจิตรกรรม เช่น ในสมัยสุโขทัยประเทศไทยมีการติดต่อทางพุทธศาสนากับพม่าและลังกาจิตรกรรมของไทยจึงได้รับอิทธิพลจากพม่าและลังกาอยู่บ้างแต่ก็ยังคงรักษาลักษณะของไทยเอาไว้  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไทยติดต่อค้าขายกับจีนจิตรกรรมไทยก็รับอิทธิพลของจิตรกรรมจีนไว้เป็นอันมาก  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชไมตรีกับประเทศตะวันตกจิตรกรรมไทยแบบประเพณีก็ได้รับอิทธิพลของประเทศตะวันตกไว้มากเช่นกันไม่ว่าจะเป็นสาระเรื่องราวที่นำมาเขียนภาพหรือแนวการเขียนภาพแบบตะวันตก

 

ปูนส้ม

 

ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี 

      จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ ประการหนึ่ง คือ การระบายสีเรียบ อีกประการหนึ่ง คือ การตัดเส้นเพื่อแสดงรูปร่างและแสดงรายละเอียดของภาพงานตัดเส้นนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะนอกจากจะแสดงฝีมือเชิงช่างแล้วยังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับระดับของสังคมอีกด้วย เช่น การเขียนภาพพระราชา เจ้านาย และบ่าวไพร่ จะมีกฏเกณฑ์ในการแสดงภาพแตกต่างกัน การตัดเส้นแสดงภาพพระราชาจะต้องให้ดูอ่อนช้อยแต่สง่างามราวกับสมมติเทพเครื่องทรงของพระองค์ก็เขียนอย่างประณีตปิดทองตัดเส้นอย่างงดงาม

       ประการสุดท้าย คือ การมีรูปลักษณ์อย่างอุดมคติกึ่งสมจริง เช่น ภาพพระพุทธเจ้าจะเป็นภาพผสมผสานของลักษณะสมจริงกับพุทธลักษณะอันเป็นอุดมคติที่ระบุไว้ในคัมภีร์  จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมักจะเน้นพุทธบารมีโดยเขียนเป็นกรอบประภามณฑลรอบพระวรกายหรือกรอบรอบพระเศียรหรือพระรัศมีมีรูปเปลวเหนือพระเศียร  แม้การแสดงภาพพระราชาให้ดูสง่างามราวกับสมมติเทพก็เป็นความพยายามที่จะแสดงลักษณะอุดมคติกึ่งสมจริงในจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเช่นกัน

 

ปูนแดง

 

การจัดวางภาพ 

      ช่างเขียนไทยมีวิธีการจัดวางภาพได้แนบเนียนยิ่งนัก กล่าวคือท่านเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ก่อน - หลังตามเนื้อเรื่องคั่นแต่ละฉากแต่ละตอนด้วยภาพทิวทัศน์ เช่น ต้นไม้หรือบ้านเรือน ช่างเขียนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประดิษฐ์กรอบรูปสามเหลี่ยมที่ขอบหยักเป็นฟันปลาเรียกว่า "สินเทา" เพื่อแบ่งฉากทำให้เน้นแต่ละฉากได้ชัดเจนงดงามมากขึ้น

การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยสมัยโบราณ 

      ก่อนอื่นช่างต้องเตรียมผนังให้มีพื้นผิวเรียบและต้องไม่ดูดสีที่ระบาย  ขั้นต้นช่างหมักปูนขาวที่จะฉาบผนังไว้ราว ๓ เดือนหรือนานกว่านั้นระหว่างนั้นจะต้องหมั่นถ่ายน้ำจนความเค็มของปูนลดน้อยลงจึงนำปูนหมักมาผสมกับน้ำอ้อยเคี่ยวที่เหนียวประดุจน้ำผึ้งและกาวจากยางไม้หรือจากหนังสัตว์  ช่างบางท่านร่อนทรายละเอียดผสมด้วยส่วนผสมทั้ง ๔ นี้ จะทำให้ปูนฉาบแข็งเหนียวและมีผิวเรียบเป็นมัน  เมื่อปูนฉาบแห้งสนิทแล้วให้ชโลมผนังด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กเพื่อให้ผนังลดความเป็นด่างเพราะด่างอาจทำปฏิกิริยากับสีบางสี เช่น ทำสีแดงให้จางซีด วิธีทดสอบว่าผนังยังมีความเป็นด่างอยู่หรือไม่ช่างโบราณใช้ขมิ้นขีดหากสีเหลืองของขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงแสดงว่าผนังยังมีความเป็นด่างอยู่ต้องชะล้างด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กต่อไปอีก

 

 

ปูนเขียว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 20

 

ภาพวาดบนผนัง
ความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมน้ำ จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓

 

      เมื่อเตรียมผนังพร้อมแล้วจะต้องทารองพื้นก่อนการเขียนภาพ  ส่วนผสมของรองพื้นประกอบด้วย ดินสอพองบดละเอียดหมักในน้ำกรองสิ่งสกปรกออกให้หมดแล้วจึงทับน้ำให้ดินสอพองหมาด นำมาผสมกับกาวที่ได้จากน้ำต้มเม็ดในของมะขามเมื่อรองพื้นแห้งแล้วจึงขัดให้เรียบก่อนเขียนภาพ  สีที่ใช้เขียนภาพช่างโบราณเตรียมจากธาตุแร่ เช่น สีดำได้จากเขม่าถ่านของไม้เนื้อแข็ง สีเหลือง สีนวลได้จากดินธรรมชาติ สีแดงได้จากดินแดง สีทองได้จากแผ่นทองคำเปลว ช่างไทยใช้สีแดง เหลือง เขียว คราม ขาว ดำ เป็นหลัก ผสมกันเกิดเป็นสีอื่น ๆ ได้อีก

 

ภาพวาดบนผนัง2
การตัดเส้นแสดงรูปร่างและรายละเอียดของเครื่องประดับ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯสมัยกรุงรัตนสินทร์ตอนต้น

 

      น้ำผสมสีใช้น้ำผสมกาวที่เตรียมจากหนังสัตว์หรือกาวกระถินผสมไว้ในภาชนะเล็ก ๆ เช่น โกร่งหรือกะลาเมื่อใช้ไปสีแห้งก็เติมน้ำใช้สากบดฝนให้กลับเป็นน้ำสีนำมาใช้งานได้อีก  หากต้องการให้ภาพแวววาวประดุจทองช่างจะใช้ทองคำเปลวปิดส่วนนั้นก่อนปิดทองต้องทากาวที่ทำจากต้นรักหรือยางต้นมะเดื่อ เมื่อปิดทองแล้วช่างมักตัดเส้นด้วยสีแดงหรือสีดำเพราะทั้ง ๒ เส้นนี้ช่วยขับสีทองให้เปล่งประกายได้ดีกว่าสีอื่น ๆ

 

ภาพพุทธประวัติสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธบิดาส่งทูตมาเชิญเสด็จและตอนแสดงปาฏิหาริย์ท่ามกลางพระประยูรญาติวัดราชสิทธาราม
บางกอกใหญ่กรุงเทพฯ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

      พู่กันที่ช่างใช้ระบายสีนั้นมีหลายขนาดหากใช้ตัดเส้นช่างใช้พู่กันขนาดเล็กซึ่งช่างนิยมเรียกว่า พู่กันหนวดหนู ทั้ง ๆ ที่ทำจากขนหูวัว  หากใช้ระบายพื้นที่ขนาดใหญ่ช่างใช้แปรงทำจากรากต้นลำเจียกหรือทำจากเปลือกต้นกระดังงาโดยนำมาตัดเป็นท่อนให้พอเหมาะกับความต้องการใช้  นำไปแช่น้ำให้อ่อนนุ่มเพื่อจะได้ทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอยใช้เป็นขนแปรงได้  สำหรับจิตรกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่างคิดประดิษฐ์วิธีเขียนใบไม้เป็นกลุ่มเป็นพุ่มด้วยการ "กระทุ้ง" คือ ใช้แปรงแตะสีหมาด ๆ แล้วแตะแต้มให้เกิดเป็นกลุ่มหรือพุ่มใบไม้ตามต้องการ

ช่างเขียน 

      ก่อนที่จะมีระบบโรงเรียนฝึกช่างเขียนนั้นผู้ที่รักจะเป็นช่างเขียนจะต้องฝากตัวเป็นศิษย์ในสำนักของช่างเขียนที่อาจจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาส  ศิษย์จะต้องปรนนิบัติรับใช้ครูพร้อม ๆ กับฝึกเขียนภาพไปด้วย ครูแต่ละสำนักต่างก็มีลักษณะและกลวิธีการเขียนภาพเฉพาะของตนอย่างที่เรียกกันว่า "สกุลช่าง"

 

สีฝุ่น
สีฝุ่น

 

      นอกจากช่างท้องถิ่นซึ่งมีฝีมือและลักษณะต่าง ๆ กัน ตามสกุลช่างของตนแล้วยังมีช่างหลวงจากราชสำนักอีกด้วย  ช่างหลวงนี้มีระเบียบแบบแผนในการเขียนภาพของตนเป็นที่ยอมรับนับถือว่า เป็นงานจิตรกรรมที่ประณีตงดงาม งานของช่างหลวงจึงมักมีอิทธิพลต่อการเขียนภาพของช่างท้องถิ่นเสมอ 
      ผลงานของช่างเขียนจิตรกรรมไทยแบบประเพณีส่วนมากมักปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และวิหารเป็นภาพแบบอุดมคติกึ่งสมจริง  จำลองแนวคิดความศรัทธาในพุทธศาสนาอีกทั้งยังสอดแทรกกิจกรรมทางสังคมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจากจิตรกรรมไทยแบบประเพณีนี้  นอกจากจะให้เราตระหนักถึงภูมิปัญญาและฝีมือของช่างไทยแล้วยังให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์อันมีค่ายิ่งแก่อนุชนรุ่นต่อ ๆ มาด้วย

 

พู่กัน
พู่กัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow