Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การตัดชำ (Cuttings)

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
9,687 Views

  Favorite

การตัดชำ (Cuttings)

 

การตัดชำ คือ การทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดราก หลังจากที่ตัดกิ่งหรือต้นออกมาจากต้นแม่แล้ว การตัดชำเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมทำกับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจใช้กับการขยายพันธุ์ไม้ผลบ้างบางชนิด แบบต่างๆ ของการตัดชำ (types of cuttings) เราอาจจะใช้ส่วนต่างๆ ของต้นพืช นอกเหนือจากดอกหรือผลมาตัดชำได้ เช่น อาจจะใช้ต้น กิ่ง ราก หรือใบ ดังนั้นแบบของการตัดชำจึงขึ้นอยู่กับส่วนของพืช ที่จะนำมาตัดชำ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการตัดชำโดยใช้ต้นเท่านั้น

 

ขั้นตอนในการตัดชำกิ่งมะนาว

 

การเลือกและริดใบของกิ่งชำ
การเลือกและริดใบของกิ่งชำ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

นำกิ่งชำจุ่มฮอร์โมน
นำกิ่งชำจุ่มฮอร์โมน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

นำกิ่งไปปักชำในวัตถุที่เตรียมไว้
นำกิ่งไปปักชำในวัตถุที่เตรียมไว้
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

การตัดชำโดยต้นหรือกิ่ง (stem cuttings)

เป็นวิธีการตัดชำที่มีความสำคัญ และนิยมกันกว้างขวางกว่าการใช้ส่วนอื่นๆ ของต้น แบ่งการตัดชำวิธีนี้เป็นวิธีการย่อยๆ โดยพิจารณาอาหารที่มีอยู่ในกิ่ง และชนิดของเนื้อไม้เป็น ๔ แบบ ซึ่งวิธีการใด จะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปี รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ผู้ตัดชำจะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจะทำให้การตัดชำได้ผลดี

๑. การตัดชำแบบใช้กิ่งแก่ไม่มีใบ 

ได้แก่ การนำส่วนของต้น หรือกึ่งพืชที่แก่ หรือเจริญมาแล้วนานๆ มาตัดชำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้กิ่งที่มีอายุไม่เกิน ๑ ปี เป็นกิ่งที่ไม่มีใบติด สีผิวของกิ่งเป็นสีน้ำตาล ลักษณะกิ่งแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นกิ่งที่อยู่ในระยะพักตัว หรือหยุดเจริญ การตัดชำกิ่งแบบนี้ อาจปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้ 

ก. เลือกกิ่งที่มีลักษณะดังกล่าวและมีขนาดโตราวครึ่งนิ้วหรือขนาดดินสอดำ
ข. ตัดกิ่งเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนยาว ราว ๘ นิ้ว 
ค. ตัดปลายและโคนกิ่งให้เฉียง ทำมุมกับกิ่งประมาณ ๔๕-๖๐ องศา 
ง. ตัดปลายกิ่งให้เฉียงขึ้นทางตาบน และ ห่างตาประมาณ  ๑/๔ - ๑/๒ นิ้ว 
จ. ตัดให้รอยตัดโคนกิ่งผ่านข้อ หรือใต้ข้อเล็กน้อย
ฉ. ถ้ามีการใช้ฮอร์โมนช่วยการออกราก ก็จะจุ่มโคนกิ่งลงในสารละลายฮอร์โมนลึกประมาณ  ๑/๒ นิ้ว 

การปักชำ 

ก. ปักกิ่งที่ตัดเรียบร้อยแล้วลงในวัตถุปักชำ ซึ่งอาจเป็นทราย ถ่านแกลบ หรือทรายผสมถ่าน แกลบก็ได้ โดยจัดปักให้กิ่งเอนเล็กน้อยประมาณ ๖๐ องศา และห่างกันประมาณ ๓-๔ นิ้ว 

ข. ปักกิ่งให้ลึกลงไปในวัตถุปักชำ ๒ ส่วน ใน ๓ ส่วน หรือมีตาเหลือประมาณ ๑-๒ ตา 

ค. จัดปักให้ตาบนสุดหงายหรือตั้งขึ้น 

ง. รดน้ำให้โชก และคอยรดน้ำต่อไปให้ วัตถุปักชำชื้นอยู่เสมอ จนกระทั่งกิ่งตัดชำออกราก มากพอจึงย้ายปลูกได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๔-๖ สัปดาห์

๒. การตัดชำกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน 

การตัดชำกิ่งแบบนี้ มักจะใช้สำหรับการตัดชำไม้ผลบางชนิด ที่ออกรากไม่ยากนัก เช่น การตัด ชำชมพู่ ฝรั่ง ส้มบางชนิด มะกอกน้ำ รวมทั้งไม้ประดับบางอย่างที่ออกรากค่อนข้างยาก กิ่งพืชที่จะใช้ในการตัดชำแบบนี้ก็คือ เป็นกิ่งที่มีการเจริญมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งอาจมีอายุ ๒-๓ เดือน มีใบเขียวเข้ม สีผิวของกิ่งเริ่มมีลายสีน้ำตาลอ่อน หรือสีครีมเป็นบางส่วน ลักษณะกิ่งกลม และมีเนื้อไม้แข็ง การตัดกิ่งแบบนี้ ปฏิบัติดังนี้ 

ก. เลือกกิ่งให้มีลักษณะดังกล่าว และมี ขนาดโตประมาณ  ๑/๔ - ๑/๒  นิ้ว แล้วแต่ชนิดของพืช 
ข. ตัดกิ่งออกเป็นท่อนๆ ให้มีความยาวของแต่ละท่อนประมาณ ๖ นิ้ว การตัดปฏิบัติเช่นเดียว กับการตัดชำแบบใช้กิ่งแก่ (ข้อ ๓, ๔) ค. ริดใบบริเวณโคนกิ่งออกประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนของกิ่ง
ง. กรีดเปลือกโคนกิ่งเป็น ๒ รอย ตรงข้าม กัน โดยให้รอยกรีดยาวประมาณ  ๑/๒ - ๑ นิ้ว ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้โคนกิ่งมีเนื้อที่ออกรากได้มากขึ้น 

จ. ใช้ฮอร์โมนช่วยการออกราก โดยจุ่มกิ่ง ลงในสารละลายฮอร์โมนเช่นเดียวกับการตัดชำแบบกิ่งแก่

 

การปักชำ 

ก. ปักกิ่งในกระบะพ่นหมอก หรือในที่ที่จะรักษาให้ใบสดอยู่ได้ เช่น ในกระถางแล้วสวม กระถางด้วยถุงพลาสติก หรือคอยพรมน้ำเลี้ยงใบ ให้สดติดอยู่กับกิ่งจนกระทั่งกิ่งเกิดราก 

ข. ปักกิ่งตรงๆ ลงในวัตถุปักชำ ๑ ใน ๓ ส่วน หรือเท่าที่ริดใบโคนกิ่งออก 

ค. ปักกิ่งให้ห่างกันประมาณ ๔" x ๔" หรือพอให้ใบเริ่มชนกันหรือทับกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อมิให้ใบบังแสงกันเอง และถ้าเห็นว่าใบไหนโตเกินไปก็อาจตัดให้สั้นลงได้ 

ง. รดน้ำให้โชก แล้วคอยดูแลให้ใบสดติด อยู่กับกิ่ง จนกว่ากิ่งจะเกิดรากมากพอ จึงถอนย้าย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓-๔ สัปดาห์

 

การตัดชำกุหลาบต้นตอแบบใช้กิ่งแก่ จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5
การตัดชำกุหลาบต้นตอแบบใช้กิ่งแก่
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

๓. การตัดชำกิ่งอ่อน 

เป็นวิธีการตัดชำกิ่งพืชพวกไม้ดอกไม้ประดับทั่วๆ ไป ที่ออกรากง่าย ดังเช่น การปักชำยี่โถ กุหลาบ มะลิ ดอนย่า เป็นต้น ส่วนวิธีการตัดชำทำคล้ายกับการตัดชำแบบการใช้กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ผิดกันที่ว่าการตัดชำแบบนี้มักจะใช้ กิ่งที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกิ่งยอดๆ วิธีการตัดชำอาจทำได้ดังนี้ 

ก. ใช้กิ่งยอด หรือกิ่งรองยอดที่ใบเจริญเต็ม ที่แล้ว และลักษณะกิ่งค่อนข้างกลม 
ข. ตัดกิ่งเป็นท่อนๆ ยาว ๓-๖ นิ้ว แล้วแต่ ชนิดของพืช การตัดปฏิบัติเช่นเดียวกับการตัดชำ กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน 

การปักชำปฏิบัติเช่นเดียวกับการปักชำกิ่ง กึ่ง แก่กึ่งอ่อน ซึ่งการตัดชำแบบนี้จะใช้เวลาในการออก รากราว ๒-๓ สัปดาห์ 

๔. การตัดชำไม้เนื้ออ่อน 

เป็นการตัดชำพืชบางชนิดที่มีเนื้อไม้ฟ่าม เปลือกหนา ต้นค่อนข้างจะชุ่มน้ำ (succulent) ดังเช่น การตัดชำมะเขือเทศ รักเร่ เบญจมาศ คาร์เนชัน และเวอร์บีนา เป็นต้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีเนื้ออ่อน และชุ่มน้ำ ฉะนั้น การชอกช้ำ หรือโอกาสที่กิ่งจะเน่าเสียหายจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ การใช้วัตถุปักชำจึงต้องควรคำนึงถึงการระบายน้ำให้มาก และต้องระวังขณะตัด ไม่ให้ชอกช้ำง่าย ที่สำคัญก็คือ ต้องใช้วัตถุปักชำที่ใหม่ หรือปราศจากเชื้อโรคที่จะทำให้เกิดโรคเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปักชำต้นคาร์เนชัน วิธีการตัดชำปฏิบัติเช่นเดียวกับการตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน แต่อาจใช้ขนาดกิ่งที่สั้นกว่า ปกติมักใช้กิ่งยาวไม่เกิน ๓ นิ้ว และไม่ต้องทำแผลโคนกิ่ง สำหรับอายุการออกรากในการตัดชำกิ่งพืชพวกนี้ โดยทั่วไปจะเกิดรากเร็วกว่าการใช้กิ่งอ่อน ปกติใช้เวลาราว ๑-๒ สัปดาห์เท่านั้น

ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี 

ทั้งสภาพภายในกิ่ง และสภาพแวดล้อมภาย นอก มีส่วนอยู่มากที่จะทำให้กิ่งเกิดรากดีหรือไม่ดี ซึ่งในการตัดชำ ผู้ปฏิบัติจะต้องคัดเลือกทั้งสภาพภายในกิ่งและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเกิดรากและการเกิดยอด จึงจะทำให้การตัดชำนั้น ได้ผลดี สภาพดังกล่าว ได้แก่ 

ก. สภาพภายในกิ่ง 

เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้ 

๑. การเลือกกิ่ง 

ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ 

๑.๑ เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่ง สำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน ๑ ปี) อาหารยิ่ง สะสมอยู่ภายในกิ่งมาก ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อน หรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน รวมทั้งการตัดชำพืชพวกไม้เนื้อ อ่อน อาหารจะมีอยู่ที่ใบบนกิ่ง ถ้ากิ่งยิ่งมีใบมาก ก็แสดงว่า อาหารภายในกิ่งยิ่งมีมาก การเกิดรากและแตกยอดก็ง่ายขึ้น 

๑.๒ อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำ ควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด) เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย จะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ 

๑.๓ เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือ 

ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภาย ในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อน หรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง 

ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกบริเวณที่ เป็นโคนกิ่ง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อน หรือกิ่งมีใบ ควรเลือกบริเวณปลายกิ่งหรือส่วนยอดของกิ่ง 

ควรเลือกตัดโคนกิ่งให้รอยตัดอยู่บริเวณที่ เป็นข้อหรือใต้ข้อเล็กน้อย เพราะที่ข้อมีอาหารมาก กว่าบริเวณที่เป็นปล้อง ซึ่งจะทำให้การออกรากเกิดมากขึ้น 

ควรเลือกใช้กิ่งที่เป็นกิ่งใบ (vegetative shoots) คือกิ่งที่อยู่ในระยะการเจริญ ซึ่งจะช่วยให้ เกิดรากง่ายกว่าใช้กิ่งดอก หรือกิ่งที่อยู่ในระยะการ ออกดอกและติดผล 

๑.๔ การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งใน ระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตา บนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำ กิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่ง โดยกิ่งที่เจริญนั้นมีความแข็ง (firmness) พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผล หรือไม้ประดับบางชนิด ที่ออกรากค่อนข้างยาก การใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อย จะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน

๒. การปฏิบัติบางอย่างต่อกิ่งตัดชำ

๒.๑ การเลือกกิ่งที่มีตาและใบ 

ถ้าเป็นกิ่งแก่ควรเลือกกิ่งที่มีตา เพราะจะช่วยให้ออกรากได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตานั้นอยู่ในระยะเริ่มเจริญ ส่วนการตัดชำแบบกิ่งอ่อน หรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ใบบนกิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเกิดราก เพราะใบช่วยสร้างอาหาร และฮอร์โมนช่วยการออกรากให้แก่กิ่งตัดชำ

๒.๒ การจัดวางกิ่งตัดชำให้ถูกต้องตามหัวท้ายของกิ่ง 

ในการตัดชำต้น รากจะออกที่โคนกิ่ง และแตกยอดที่ปลายกิ่ง ส่วนการตัดชำรากก็จะเกิดรากที่ปลายท่อนราก และจะเกิดยอดที่โคนท่อนราก ฉะนั้นในการวางกิ่งตัดชำ ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งหรือต้น จึงต้องเอาโคนกิ่งปักลงในวัตถุปักชำ ส่วนการตัดชำราก จะเอาโคนท่อนรากโผล่ขึ้น และเอาปลายท่อนรากปักลง การปักกิ่งกลับทิศทาง จะไม่ทำให้ตำแหน่งของการเกิดรากและแตกยอดต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่จะทำให้กิ่งไม่เกิดราก และเกิดยอด

๒.๓ การทำแผลโคนกิ่ง

แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับพืชที่เกิดรากเฉพาะที่แผลรอยตัดแห่งเดียว นอกจาก จะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้ว ยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย

๒.๔ การใช้ฮอร์โมน และสารบางอย่างช่วยการออกราก

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น คือช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไว และรากเจริญได้เร็วขึ้น สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ นั้นมักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือ ไอ บี เอ (IBA) หรือชื่อเต็ม คือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneacetic acid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้า คือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้น ที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืชนั้นๆ เพราะการใช้ฮอร์โมนที่อ่อนไปจะไม่ได้ผลเลย (เหมือนจุ่มน้ำ) ส่วนการใช้ฮอร์โมนที่แรงเกินไปจะเป็นการทำลายกิ่ง คือ โคนกิ่งจะไหม้ดำ (เหมือนจุ่มกิ่งในน้ำกรด)

 

นอกจากจะมีการใช้ฮอร์โมนทำให้กิ่งพืชออกรากแล้ว ยังมีการใช้สารอื่นๆ รวมทั้ง แร่ธาตุบางอย่างในการตัดชำพืชบางชนิดอีกด้วย เช่น มีการใช้ วิตามิน บี ๑ (B1) ช่วยการเจริญของปลายราก และ การใช้โบรอน (boron) ใส่ลงในวัตถุปักชำ จะช่วยให้กิ่งตัดชำของพืชบางชนิดออกรากดีขึ้น

 

การตัดชำกิ่งแก่ของยี่โถ
การตัดชำกิ่งแก่ของยี่โถ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

 

ข. การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก 

๑. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ กิ่งตัดชำ 

ความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับการตัดชำกิ่ง พืชที่มีใบซึ่งได้แก่ การตัดชำแบบใช้กิ่งอ่อน กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน การตัดชำไม้เนื้ออ่อน รวมทั้งการตัดชำใบด้วย โดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สด และติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมา และใบก็จะไม่เหี่ยว ด้วยเหตุนี้การตัดชำกิ่งมีใบจึงต้องรักษา ความชื้นของอากาศรอบๆ ใบ ให้สูงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราอาจทำได้ โดยคอยรดน้ำที่พื้นที่ข้างๆ กระบะ ปักชำเสมอๆ หรือคอยพรมน้ำกิ่งตัดชำบ่อยๆ ฉีด หรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ (autometic mist) ก็ได้

๒. อุณหภูมิกับการออกรากของกิ่งตัดชำ 

โดยปกติ อุณหภูมิที่จะทำให้กิ่งตัดชำออก รากได้ดีจะอยู่ระหว่าง ๗๐ องศา - ๘๐ องศา ฟ. สำหรับบ้านเรา อุณหภูมิที่จำเป็น ในการการออกรากในพืชทั่วๆ ไป จะไม่ค่อยเป็นปัญหา เช่น กุหลาบ สามารถออกราก ได้ดีไม่ว่าปักชำในฤดูหนาว ฤดูฝน หรือฤดูร้อน ก็ตาม เว้นแต่ในพืชบางชนิดที่เจริญได้ดีในฤดูร้อน เช่น ใน มะลิ จะออกรากได้ดีในฤดูร้อนหรือฤดูฝน แต่จะไม่ค่อยออกรากหรือออกรากยาก เมื่อปักชำในฤดูหนาว 

๓. แสงสว่างกับการออกราก 

แสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่ง พืชที่ต้องมีใบติดและการตัดชำใบ เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมน เพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ ฉะนั้นในกิ่งตัดชำที่มีใบและเป็นพืชชอบแดด การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้นเท่านั้น 

ส่วนพืชที่ไม่ทนแสง (แสงแดด) เช่น พืชที่ใช้ประดับในอาคาร (house plants) การพรางแสงให้กับกิ่งโดยให้เหลือแสงเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างน้อยที่สุด ๑๕๐-๒๐๐ แรงเทียน จะช่วยให้กิ่งเหล่านี้ออกรากได้ดี 

ส่วนการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ รวมทั้งการตัดชำราก ซึ่งจะออกรากได้ดีในที่มืด แต่จะต้องการ แสงเพิ่มขึ้น เมื่อกิ่งเกิดยอด ในทางปฏิบัติจึงควรปักชำกิ่งแก่และปักชำรากไว้ในที่ที่มีแสงราว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ 

๔. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำ 

การออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น (moisture) และอากาศ (areation) ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้น และมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย วัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดี จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก และโดยที่พืชแต่ละชนิดต้องการอากาศมากน้อยต่างกัน ฉะนั้น การที่จะใช้วัตถุใดเหมาะกับพืชใด จึงต้องศึกษา และทดลองในแต่ละพืชไป สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้าง ด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow