Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการจัด 4 อันดับ Admissions รู้ไว้...มีชัยไปกว่าครึ่ง

Posted By Plook TCAS | 24 เม.ย. 60
47,396 Views

  Favorite

          นอกจากการอ่านหนังสือสอบ เพื่อให้ได้คะแนนสูง ๆ แล้ว การรู้เทคนิคการจัด 4 อันดับ Admissions ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน บางคนได้คะแนนสูงแต่แอดมิชชั่นไม่ติด ในขณะที่บางคนได้คะแนนไม่สูงมาก แต่กลับแอดมิชชั่นติดซะงั้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลกับการสอบติดแอดมิชชั่น ก็คือ “การจัด 4 อันดับ” นั่นเอง บอกแล้วว่า “รู้ไว้...มีชัยไปกว่าครึ่ง”

          ก่อนที่เราจะจัด 4 อันดับ Admissions มาถึงตอนนี้ทุกคนคงคำนวนคะแนนของตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว ใครยังไม่คำนวณหรือคำนวณไม่เป็น ก็สามารถไปคำนวณด้วยโปรแกรมการคำนวณอัตโนมัติในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการ และก่อนที่เราจะเลือก เราควรศึกษารายละเอียดคณะ และข้อกำหนดต่าง ๆ ว่าตนเองได้ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดหรือไม่ เช่น บางคณะอาจจะกำหนดเกรดเฉลี่ย (GPAX) ขั้นต่ำไว้ หากเกรดเราไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ จะทำให้เสียอันดับไปฟรี ๆ นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ อีกด้วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนสอบ เช่น สุขภาพร่างกาย ตัวอย่างคณะที่มีเกณฑ์กำหนด เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มีข้อกำหนดว่า นิสิตนักศึกษาจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีตาบอดสีชนิดรุนแรงทั้งสองข้าง ซึ่งถ้าคนที่มีปัญหาด้านนี้ มาเลือกคณะนี้ แล้วสอบผ่านทั้งรอบแอดมิชชั่นและสอบสัมภาษณ์ อาจจะมีปัญหาตอนตรวจสุขภาพร่างกายได้ ดังนั้น น้อง ๆ ควรศึกษาเกณฑ์กำหนดต่าง ๆ ของคณะที่เลือกไว้ให้ดี

          Admissions เราสามารถเลือกได้ 4 คณะ/สาขาวิชา โดยพี่แนะนำให้น้องเขียนรายชื่อคณะทั้งหมดที่ใฝ่ฝันจะเข้าเรียนมาทั้งหมด ประกอบกับความเป็นไปได้ที่จะสอบติด แม้โอกาสจะน้อยก็เขียนไปก่อนครับ จากนั้นให้เรียงคะแนนคณะที่มีคะแนนสูงสุดไปต่ำสุด นำคะแนนต่ำสุดของปี 59 ของแต่ละคณะ/สาขาที่เราเลือกมาเรียง เรียงจากมากสุดไปน้อยสุด จากนั้นลองดูคะแนนต่ำสุด 5 ปี ย้อนหลัง สังเกตว่าแต่ละปี คะแนนเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างการเรียงคะแนนสูง-ต่ำ
(นาย ก. มีคะแนน 19,500 คะแนน อยากเข้าวิศวะ จุฬา)
อับดับ 1 สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.จุฬาฯ คะแนนต่ำสุดปี 59 = 20,322
อันดับ 2 วิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาเขตบางเขน ม.เกษตร คะแนนต่ำสุดปี 59 = 18,116
อันดับ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.เชียงใหม่ คะแนนต่ำสุดปี 59 = 15,823
อันดับ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ม.บูรพา คะแนนต่ำสุดปี 59 = 14,363

จากข้างบนจะเห็นว่า อันดับ 1 คะแนน นาย ก. ติดลบอยู่ 822 คะแนน ซึ่งถ้าปีนี้คะแนนลดลงมากกว่า 1000 ก็มีสิทธิ์ติดอันดับที่ 1 แต่ถ้าปีนี้คะแนนเพิ่มขึ้น นาย ก. ก็หลุดจากอันดับที่ 1 แต่ยังมีอันดับ 2, 3 และ 4 ไว้อยู่ อันดับที่ 1 คือคณะในฝัน อยากเข้าคณะไหนก็เลือกไปเลย แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม ทั้งนี้ต้องดูด้วยนะครับ ว่าถ้าคณะในฝันนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะสอบติดเลย เช่น คณะที่คะแนนปีเก่า ๆ อยู่ในระดับที่สูงกว่าคะแนนเรามาก ๆ ก็ไม่ควรเลือกให้เสียอันดับจริงมั้ยครับ อันดับที่ 2 และ 3 ควรเลือกคณะที่มีโอกาสติด มากขึ้นตามลำดับ เช่น คณะอันดับ 2 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 30-50% และ คณะอันดับ 3 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 70-90% อันดับ 4 ให้เลือกคณะที่มีโอกาสติด 100% เท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว หากน้องพลาดคณะอันดับ 4 ไป น้องจะกลายเป็นคนที่แอดมิชชั่นไม่ติด แม้ว่าน้องจะมีคะแนนสอบสูงกว่าเพื่อนที่สอบแอดมิชชั่นติดคนอื่นก็ตาม

สรุปการจัดอันดับ
อันดับ 1 คณะในฝัน อยากเข้าคณะไหนก็เลือกไปเลย แม้โอกาสน้อยแต่ก็พอเป็นไปได้
อันดับ 2 คณะที่มีโอกาสติด 30-50%
อันดับ 3 คณะที่มีโอกาสติด 70-90%
อันดับ 4 คณะที่มีโอกาสติด 100% เท่านั้น

           สุดท้ายนี้ ต้องบอกน้อง ๆ ก่อนเลยว่า เทคนิคการจัดอันดับคณะนั้น ไม่มีกฏตายตัว ไม่มีผิด ไม่มีถูก แล้วแต่แนวทาง จุดยืน ประสบการณ์ของผู้แนะนำแต่ละคน และแนวโน้มของคะแนนปีการศึกษาที่น้องสอบเข้านั้น อาจจะเป็นหรือไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ได้นะครับ เพราะบางปีการศึกษา คะแนนของบางคณะ บางมหาวิทยาลัยอาจจะสูงหรือต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น เกณฑ์การคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนผู้สมัครที่เปลี่ยนแปลงไปจากกระแสความนิยมคณะต่าง ๆ ณ ขณะนั้น ซึ่งคาดเดาได้ยาก และเป็นอะไรที่ตาเรามองไม่เห็น ดังนั้นพี่ไม่อยากให้น้องมีความรอบคอบในการเลือกคณะ เผื่อใจในบางคณะที่อาจจะต้องผิดหวัง และอย่าเสียใจนานในสิ่งที่ผิดหวัง แต่ให้ปรับปรุงตนเองเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น

 

เรื่อง : พี่บอส วรุตม์ เก่งกิตติภัทร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow