Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
60,882 Views

  Favorite

 

ลำธาร
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกของเรานี้ จะอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา ลองนึกดูถึงลูกนก เมื่อเกิดใหม่ในรัง ยังไม่ลืมตา ขนปีกขนหางยังไม่งอก ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยแม่นก พ่อนก หาอาหารมาป้อน คอยระวังปกป้องให้พ้นภัยจากศัตรู จนกว่าจะเติบใหญ่มีขนปีกขนหางยาวพอที่จะบินได้ แต่ถึงกระนั้น พ่อนก แม่นก ก็ยังต้องเฝ้าดูแล หัดสอนบิน แนะให้รู้จักแหล่งอาหาร รู้จักเพื่อน และรู้จักระวังภัยให้พ้นจากศัตรู

 

นก
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

ตัวเราก็เช่นเดียวกับลูกนก ต้องอาศัยพ่อแม่ญาติพี่น้องคอย ดูแล เลี้ยงดูมา ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ เมื่อโตขึ้น ก็มิใช่ว่าจะอยู่ได้โดยลำพัง ยังคงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ต่อไป จนตลอดชีวิต

 

บ้านทุ่งดอกไม้
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งมีทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรา จะขาดเสียมิได้

 

ครอบครัว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ความสัมพันธ์อันแนบแน่น และซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เราเรียกว่า ระบบนิเวศ

 

มดแดง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ถ้าสิ่งแวดล้อมดี อากาศดี น้ำสะอาด ดินมีคุณภาพ และป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ก็จะส่งผลให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก

 

ดอกไม้
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อากาศเสีย น้ำเน่า ดินเสื่อม และป่าไม้หมดไป สิ่งมีชิวิตทั้งหลายทั้งปวงในระบบนิเวศนั้น ก็อยู่ไม่ได้

 

ภูเขา
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ระบบนิเวศ หมายถึง ระบบของสิ่งมีชีวิต ซึ่งอยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ

ในระบบนิเวศอันใดอันหนึ่ง ย่อมประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบสำคัญสองส่วน คือ องค์ประกอบที่มีชีวิต และองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต

 

วัว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

องค์ประกอบที่มีชีวิต แบ่งย่อยออกได้เป็น 

ผู้ผลิต เช่น พืช ซึ่งสามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเองจากเกลือแร่ใน ดินและน้ำเพราะมีสารสีเขียวชื่อว่าคลอโรฟีลล์ ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือจากพลังงานแสงอาทิตย์

ผู้บริโภค ซึ่งสร้างอาหารไม่ได้ต้องกินพืชและสัตว์อื่นๆ เป็นอาหาร ตัวอย่างของผู้บริโภค ได้แก่ วัว ควาย เสือ สุนัข แมว ไก่ และอื่นๆ 

ผู้ย่อยสลาย ซึ่งปรุงอาหารเองไม่ได้ ต้องอาศัยซากของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอาหาร ได้แก่ จุลินทรีย์ต่างๆ เป็นต้น

 

เสือ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ส่วนองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต แบ่งย่อยออกได้เป็น 

อนินทรียสาร เช่น ออกซิเจน น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ 

อินทรียสาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ซึ่งพืชและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก  สังเคราะห์ขึ้นมาจากอนินทรียสาร

ภูมิอากาศ เช่น แสง น้ำฝน และความชื้น

 

น้ำท่วม
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ต้องกินอาหาร ซึ่งได้แก่สิ่งมีชีวิตด้วยกัน ถ้าไม่กินพืช ก็ต้องกินสัตว์ หรือกิน ทั้งพืช ทั้งสัตว์ จึงเกิดการถ่ายทอดพลังงานจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง การถ่ายทอดพลังงานนี้เราเรียกว่า ห่วงโซ่อาหาร แบ่งออกได้เป็นสามรูปแบบ คือ แบบการล่าเหยื่อ แบบปรสิต และแบบซากอินทรีย์ 

โซ่อาหารแบบการล่าเหยื่อ เป็นโซ่อาหารที่เริ่มจากพืช ไปยังสัตวฺ์เล็ก แล้วต่อไปยังสัตว์ใหญ่กว่า เช่น หญ้าเป็นอาหารของกวาง และกวางเป็นอาหารของเสืออีกต่อหนึ่ง

โซ่อาหารแบบปรสิต เป็นโซ่อาหารที่เริ่มจากสัตว์ใหญ่ไปหาสัตว์เล็กตามลำดับ เช่น กวางถูกเห็บและไรกัดกินเลือดเป็นอาหาร ส่วนเห็บ ไร ก็ถูกบัคเตรีกิน และบัคเตรีก็ถูกไวรัส ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากินอีกทอดหนึ่ง 

โซ่อาหารแบบซากอินทรีย์ เป็นโซ่อาหารที่เริ่มต้นจากซากชีวิตที่ตายแล้ว ไปยังสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ซากหนูที่ตายแล้ว ถูกย่อยสลายโดยบัคเตรี ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อบัคเตรีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็จะมีแมลงมากัดกินบัคเตรีอีกต่อหนึ่ง

ในระบบนิเวศสิ่งที่ไม่มีชีวิต จะทำหน้าที่เป็นสิ่งแวดล้อมให้แก่สิ่งที่มีชีวิต เพราะเป็นผู้เกื้อหนุนพลังงาน และสสาร ให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพลังงาน และสสาร ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต ในขณะที่สิ่งมีชีวิตทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย โดยมีผู้ย่อยสลายเป็นตัวสำคัญที่สุด ในการเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตให้หมุนเวียนเป็นวัฎจักรอยู่ในระบบนิเวศ

ความสมดุลของระบบนิเวศย่อมจะคงอยู่ได้ ตราบเท่าที่มีความหลากหลายของชีวิตภายในระบบ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบ และซับซ้อน แต่ถ้าองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดถูกทำให้กระทบกระเทือน แม้เพียงเล็กน้อย ผลกระทบนั้น ก็จะถูกส่งทอดต่อไปยังองค์ประกอบอื่นๆ ทั่วทั้งระบบ ถ้าความกระทบกระเทือนนั้น เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะแห่งความสมดุลได้ใหม่ ระบบนั้นก็คงอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าผลกระทบนั้น รุนแรงเกินกว่าที่ระบบจะปรับตัวให้เข้าสู่สภาวะสมดุลได้ ระบบทั้งระบบ ก็จะแตกสลายลง

มนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งของระบบนิเวศ มนุษย์สามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลาย การทำลายสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ป่าไม้ อากาศ น้ำ และดิน จนเสื่อมโทรม และสูญเสียสภาพนั้น อาจทำให้ระบบนิเวศของเราแตกสลายลง จนไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะสมดุลได้อย่างเดิม 

เราจึงไม่ควรทำตัวเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเป็นผู้สร้างที่ดี โดยรู้จักใช้ และรู้วิธีถนอมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้ อากาศ น้ำ และดิน ให้ระบบนิเวศของเราคงอยู่ในสภาวะสมดุล เพื่อความผาสุก และความอยู่รอดปลอดภัยร่วมกันของพวกเราทุกคน

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow