Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 ขั้นตอนควรใช้เมื่อลูกทำพฤติกรรมขัดใจแม่

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 21 เม.ย. 60
3,754 Views

  Favorite

โบราณกล่าวไว้ว่า ลิ้นกับฟันเป็นของคู่กัน และต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ครูพิมคิดว่าสัจธรรมข้อนี้คงไม่ได้มีไว้สำหรับคู่รักเท่านั้น แต่ทว่าบางครั้ง เรื่องราวระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกเล็กก็อาจจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

 

จะทำอย่างไรดี ให้ความขัดใจในแต่ละครั้งนั้น ไม่ก่อเป็นการปะทะอารมณ์หรือสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับลูก วันนี้ครูพิมมีขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ เลยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. เมื่อลูกยั่วโมโหหรือทำพฤติกรรมขัดใจเรา ขอให้เราตั้งสติให้ได้มากที่สุด

ยังไม่ต้องพูด ส่งเสียง หรือลงมือทำอะไรทั้งนั้น พยายามควบคุมการหายใจให้เป็นปกติที่สุดก่อนนะคะ

 

2. หยุดสิ่งที่ลูกกำลังทำ

หากว่าเป็นสิ่งที่อันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น เล่นเลอะของใช้ในบ้าน หรือเล่นน้ำใกล้ปลั๊กไฟ ให้หยุดสิ่งนั้นด้วยการลงมือทำด้วยตัวเองเท่านั้นนะคะ อย่าตวาดหรือบังคับให้ลูกเป็นคนทำ (เพราะเขาจะไม่ทำแน่นอน)

 

3. พาตัวเองและลูกออกมาจากสถานการณ์โดยยังไม่ต้องพูดอะไร

ถ้าเปิดทีวีอยู่ ให้ปิดหรือหรี่เสียง (ป้องกันการระเบิดอารมณ์ของคุณเองนั่นหละค่ะ)

 

4. ตั้งสติคิดคำพูดที่สั้นและกระชับที่สุด

ต้องเป็นคำพูดที่คิดว่าจะทำให้ลูกเข้าใจ ว่าลูกทำอะไรผิด โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายยืดยาว ตัวอย่างในที่นี้เช่น “แม่บอกแล้วใช่ไหมครับว่า อย่าเอาดินมาเล่นในบ้าน ลูกเห็นไหมว่ามันเลอะไปหมดแล้ว” ซึ่งวิธีพูดจะต้องใช้น้ำเสียงปกติ และพูดช้า ๆ ชัด ๆ นะคะ

 

5. สำหรับเด็กเล็ก (ต่ำกว่า 7 ขวบ) เมื่อพูดจบ ให้คุณบอกเงื่อนไขเลยค่ะว่า ลูกจะต้องทำอย่างไร

เช่น “วันนี้ลูกไม่ได้ฟังที่แม่ห้าม เพราะฉะนั้น แม่จะไม่พาออกไปทานไอศกรีมทั้งสัปดาห์นี้” เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีความเข้าใจทางด้านตรรกะ ดังนั้นการพูดให้เด็กคิดเอง อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนัก และยังเป็นการกดดันเด็กจนเกินไปด้วยค่ะ แต่สำหรับเด็กโต คุณอาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ในกรณีที่เกิดความเสียหายกับทรัพย์สิน เช่น ถ้าของใช้เสีย คุณอาจจะบอกว่า แม่จะต้องหักเงินค่าขนมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เป็นต้นค่ะ เพราะเด็กวัยนี้จะมีความเข้าใจตรรกะ และความถูกผิดในเบื้องต้นบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ยังไม่เท่าผู้ใหญ่ค่ะ และนี่คือเหตุผลที่เราสอนเด็กด้วยการอธิบายอย่างยืดยาวอย่างไรก็ไม่ได้ผลนั่นเอง

 

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์และไม่ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ไปมา สิ่งใดที่พูดหรือตั้งเงื่อนไขกับเด็กและตกลงกันไว้แล้ว ก็ควรที่จะเป็นตามนั้น เพราะการที่เราดุบ้าง ปล่อยบ้าง ในสถานการณ์เดียวกัน จะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้ และทำให้การปรับพฤติกรรมในอนาคตยากขึ้นนั่นเองค่ะ

 

และนี่คือ 5 ขั้นตอนที่แม้จะดูเรียบง่ายแต่ครูพิมก็ทราบดีค่ะว่า อาจจะไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน แต่หากว่าเราฝึกฝนเป็นประจำแล้วหละก็ การหยุดพฤติกรรมชวนขัดใจก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากทีเดียวและที่สำคัญคือ การสอนในลักษณะนี้ จะไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณกับลูกอีกด้วยนะคะ ครูพิมคอนเฟิร์มค่ะ 

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow