Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การผลิตทองรูปพรรณ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
8,914 Views

  Favorite

      ในวันพิเศษบางวัน เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันคล้ายวันเกิด เมื่อพ่อแม่พาเด็กๆ ไปกราบผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มักจะมี ของขวัญให้แก่เด็กๆ ซึ่งอาจเป็นของเล่น ของใช้ เงิน หรือเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน หรือกำไลทองคำ หากผู้ใหญ่ให้เครื่องประดับที่เป็นทองคำ ก็เท่ากับเป็นการมอบของมีค่าให้ เพราะทองคำเป็นสิ่งที่มีราคา สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินที่นำไปจับจ่ายใช้สอยได้ โดยทั่วไป ทองคำมักมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ใหญ่จึงนิยมมอบทองคำให้เป็นของขวัญแก่ผู้ที่เป็นที่รักหรือผู้ที่ชอบพอ เพราะนอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีค่า และมีราคาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาด้วย แทนที่ใช้แล้วจะลดค่าลงเหมือนของใช้อื่นๆ

 

ร้านทอง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


      ทองคำเป็นแร่ธาตุที่มีลักษณะเป็นโลหะที่มีเนื้ออ่อน สีเหลืองสุกปลั่ง เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนขุดพบตามภูเขา หรือแหล่งแร่ ที่มีธารน้ำไหลผ่าน แร่ทองคำที่พบมักปนมากับแร่ธาตุอื่นๆ เราจึงต้องนำมาถลุง คือ แยกแร่ทองคำออกจากแร่ธาตุอื่นๆ เมื่อได้เนื้อทองคำแล้ว เราจึงนำเนื้อทองคำที่ได้ไปแปรรูปในลักษณะต่างๆกัน เช่น นำ ไปตีเป็นแผ่นบางๆ ใช้ปิดองค์พระพุทธรูปเรียกว่า "ทองคำเปลว" หรือนำไปทำเครื่องประดับต่างๆ เรียกว่า "ทองรูปพรรณ" การทำทองรูปพรรณต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือจำนวนมาก รวมทั้งช่างทองที่มีฝีมือ 
ทองคำมีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ มีเนื้อสีเหลืองสุกปลั่งเป็นประกาย ไม่เป็นสนิม ไม่หมอง และไม่มีคราบไคล จึงดูสะอาดตา สวยงาม และนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทองคำเป็นแร่ที่หายาก มีปริมาณน้อย จึงเป็นของมีราคา เราควรดูแลรักษาไว้ให้ดี ในสมัยก่อนผู้คนนิยมซื้อและใส่เครื่องประดับทองคำกันมาก ผู้ใดมีเครื่องประดับทองคำมากๆ แสดงว่า มีฐานะร่ำรวย ในปัจจุบันทองคำยังเป็นของมีค่าที่ผู้คนนิยมซื้อหาไว้ใช้ แต่เนื่องจากมีพวกมิจฉาชีพมาก เด็กๆ จึงไม่ควรใส่เครื่องประดับทองคำไปในสถานที่ต่างๆ ตามลำพัง เพราะไม่ปลอดภัย อาจสูญหาย หรือถูกพวกมิจฉาชีพทำร้าย เพื่อแย่งชิงเครื่องประดับเหล่านั้นไป

 

 

 

ในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนเมือง เรามักพบเห็นร้านขายทองคำแท่ง และทองรูปพรรณอยู่ทั่วไป และมักเห็นคนเดินเข้าออกร้านทองอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่า ทองคำเป็นของมีราคา และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป

 

แร่ทองคำ
แร่ทองคำ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

ทองคำเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในจำพวกโลหะที่มีเนื้ออ่อน สีเหลืองสุกปลั่ง คุณสมบัติทั่วไปของทองคำคือ มีสีเหลืองมันวาว ไม่เป็นสนิม ไม่หมอง ไม่มีคราบไคล สูตรทางเคมีคือ Au เป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีปริมาณน้อย 
ลักษณะที่พบโดยทั่วไปเป็นเกล็ด หรือเป็นเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ มักเกิดผสมกับแร่เงิน (Ag) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) และเทลลูเรียม (Te) ดังนั้น จึงต้องนำมาถลุงเพื่อแยกเอาเนื้อทองคำแท้ออก ในอดีต ประเทศไทยเคยมีการทำเหมืองทองคำมาแล้วหลายแห่ง เช่น ในภาคเหนือมีที่จังหวัดเชียงราย และลำพูน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีที่จังหวัดเลย ในภาคตะวันออกมีที่จังหวัดปราจีนบุรี ในภาคตะวันตกมีที่จังหวัดกาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และในภาคใต้มีที่จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมีเหมืองทองคำขนาดใหญ่อยู่ที่จังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์     
ทองคำที่ผสมกับแร่ธาตุต่างๆ จะมีลักษณะของเนื้อทองแตกต่างกันด้วย ทำให้มีคุณภาพ และราคาที่แตกต่างกัน ความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำคิดเป็น กะรัต (carat) โดยกำหนดให้ทองคำ ๒๔ กะรัต เป็นทองคำบริสุทธิ์

เมื่อได้เนื้อทองคำมาแล้ว จำเป็นต้องนำมาแปรรูป เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ รูปลักษณ์ของทองคำ ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ทองคำเปลว ทองรูปพรรณ และทองแท่ง

 

เนื้อทองคำ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

ทองคำเปลว เป็นทองคำที่ได้รับการตีออกเป็นแผ่นบางๆ ใช้ปิดองค์ พระพุทธรูป ทำให้พระพุทธรูปดูสวยงาม สุกปลั่ง เป็นมันวาว นอกจากนั้น ยังใช้ในงานหัตถกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในงานไม้แกะสลัก โดยใช้กรรมวิธีที่เรียกว่า "ลงรักปิดทอง" คือ มีการทารักซึ่งทำจากน้ำยางของพืช มีคุณสมบัติเป็นน้ำเหนียวๆ แล้วใช้แผ่นทองคำเปลวปิดลงไปบนวัตถุ ตามลวดลายที่ต้องการ

 

ทองคำเปลว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

ทองรูปพรรณ เป็นทองคำที่นำมาจากกรรมวิธีการหลอม หล่อ และรีดให้เป็นชิ้นงานตามต้องการ ต้องอาศัยการออกแบบ และฝีมือช่างที่มีความประณีตและชำนาญ จึงออกมาเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม ในประเทศไทยนิยม ทำจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่า ทอง ๒๔ กะรัต     

 

ทองรูปพรรณ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

การผลิตทองรูปพรรณต้องอาศัยทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และกรรมวิธี รวมทั้งฝีมือของช่างทองในการออกแบบ และแกะลวดลายต่างๆ โดยเริ่มจากการคัดเลือกเนื้อทองซึ่งมีคุณภาพต่างๆ กัน นำทองคำไปหลอมด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ ๑๐๖๓ องศาเซลเซียส ให้หลอมละลาย แล้วเทลงในเบ้าหรือแบบพิมพ์ต่างๆ ตามที่ต้องการ รวมทั้งมีการทำลวดลาย หรือการรีดทองคำให้เป็นเส้นขนาดเล็ก เพื่อนำไปสาน หรือถักให้เป็นชิ้นงานต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการทำไข่ปลา คือ การนำทองที่รีดแล้วมาตัดเป็นท่อนเล็กๆ แล้วนำไปเผาไฟ และเป่าแล่นให้หลอมละลายเป็นก้อนกลมเล็กๆ เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประดับของทองรูปพรรณ

 

การผลิตทองรูปพรรณ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow