Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ช้างเผือก

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
12,567 Views

  Favorite

 

ช้าง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ช้างเป็นสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งในยามสงบ และในยามเกิดศึกสงคราม ทั้งนี้ เพราะช้างมีความอดทน แข็งแรง สามารถใช้เป็นพาหนะบรรทุกของหนักได้เป็นจำนวนมาก และมีความอดทนต่อการเดินทางในป่า ตลอดจนขึ้นเขาลงห้วยลึกได้ดีกว่าสัตว์ ซึ่งใช้เป็นพาหนะ เช่น ม้าและวัว

 

 

ช้างคู่
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

นอกจากนี้นักรบโบราณยังใช้ช้างเป็นพาหนะในการต่อสู้กัน โดยที่คู่ต่อสู้นั่งอยู่บนคอช้าง แล้วใช้อาวุธฟันกัน ดังเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงฟันพระมหาอุปราชาของพม่า ด้วยพระแสงของ้าว จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

 

 

คนขี่ช้าง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ยังมีช้างอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกนำมาใช้งานใดๆ ทั้งสิ้น คือ ช้างเผือก
ช้างเผือกเป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษ นอกจากสีของหนัง เช่น สีของเล็บ สีขน สีตา สีขนหาง ฯลฯ ผู้ที่มีความรู้โดยเฉพาะ จึงจะบอกได้ว่า เป็นช้างเผือกหรือไม่ 
ด้วยเหตุที่ช้างเผือกมีลักษณะพิเศษหาได้ยาก คนสมัยโบราณ จึงถือว่า เป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ สามัญชนมิควรเลี้ยงไว้เป็นของส่วนตัว พระมหากษัตริย์พระองค์ใด
มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมาก จะมีพระเกียรติเป็นที่ยำเกรงต่อประเทศอื่นๆ และเป็นที่ภาคภูมิใจของพลเมืองประเทศนั้น

ในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการนำรูปช้างเผือกขึ้น เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยมีความเป็นมาดังนี้

 

 

ธงชาติไทยสมัยก่อน
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี ๓ เชือก และในระยะเวลานั้น รัฐบาลไทยได้ส่งเรือสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีธงแสดงสัญชาติไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางผืนธงสีแดง สำหรับชักขึ้นบนเรือรัฐบาลไทย

 

 

ธงชาติไทยสมัยก่อน ช้างเกราะ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ต่อมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อทางการเมือง การค้า และการศึกษามากขึ้น ชาวต่างประเทศเหล่านั้น มีธรรมเนียมต้องชักธงชาติตามสถานที่ราชการของเขาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่บนบก

 

ธงชาติไทยสมัยก่อน ช้างเกราะ2
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสร้างธงชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำธงรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวบนพื้นสีแดง ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายรัฐบาลไทยในท้องทะเล มาดัดแปลง นำเอาวงจักรสีขาว ซึ่งหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ออก คงเหลือแต่รูปช้างสีขาวคือ ช้างเผือกอยู่ตรงกลางผืนธงสีแดง และได้ใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติไทยมาเกือบ ๑๐๐ ปี

 

 

ธงชาติไทยสมัยก่อน ช้างเกราะ3
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงสถาปนาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

 

 

กองทัพเรือ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ถึงแม้ไทยจะใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยแล้ว แต่ยังมีหน่วยราชการบางหน่วยยังใช้ธง ซึ่งมีรูปช้างเผือกอยู่ เช่น ธงราชนาวีไทย จะเห็นได้ตามสถานที่ราชการของกองทัพเรือทุกแห่ง

 

นอกจากช้างเผือกจะได้เป็นสัญลักษณ์ของไทย โดยปรากฎบนธงชาติ และธงราชนาวีแล้ว ช้างเผือกยังได้เป็นเครื่องหมายของเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของไทย อีกตระกูลหนึ่งด้วย

 

มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสถาปนาธงช้างเผือกเป็นธงชาติไทยแล้ว พระองค์ยังทรงสร้างตราช้างเผือก สำหรับประดับนอกเสื้อ พระราชทานผู้มียศต่างๆ ในพระราชอาณาจักร และชาวต่างประเทศที่มีความชอบ

 

ประถมาภรณ์ช้างเผือก
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้น โดยมีลำดับชั้น และสายสะพายขึ้นอีกหลายตระกูล ทรงนำตราช้างเผือกมาสถาปนา เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกตระกูลหนึ่ง พระราชทานนามว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก" มีลำดับทั้งหมด ๘ ชั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒

 

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ ความเชื่อถือเรื่องความสำคัญของช้างเผือก จะไม่มากเหมือนสมัยโบราณ เพราะช้างบางเชือกมิได้มีสีขาว แต่อาจมีสีบัวโรย สีใบตองแห้งสีทองแดง ฯลฯ ทั้งนี้เพราะช้างเหล่านี้มีลักษณะสำคัญบางอย่าง ซึ่งเข้าข่ายเป็นช้างสำคัญดังมีรายละเอียดในตอนต่อไป

 

คนไทยได้รับคติความนับถือช้างเผือกมาจากอินเดีย โดยผ่ายทางการศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี และศาสนา

อย่างไรก็ตามความรู้เรื่องช้างเผือก และประเพณีเกี่ยวกับการยกย่อง และเลี้ยงดูช้างเผือก โดยได้รับการดูแลอย่างดี ในฐานะเป็นช้างของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นความรู้ที่สมควรศึกษา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับช้างเผือกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ถ้าจะพิจารณาถึงความละเอียดถี่ถ้วนของตำราว่าด้วย ช้างเผือก ช้างสำคัญ และช้างเนียมแล้ว น่าจะเป็นวิธีการสงวนพันธุ์ช้าง ที่มีลักษณะพิเศษหาได้ยาก ไว้เป็นสมบัติของบ้านเมืองสืบไป อีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากความเชื่อถือว่า ช้างเผือกเป็นสิริมงคลต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชนพลเมืองของประเทศนั้นๆ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow