Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกขี้อวด จะปรับพฤติกรรมได้อย่างไร

Posted By Plook Parenting | 10 เม.ย. 60
8,026 Views

  Favorite

พฤติกรรมขี้อวดพบบ่อยในเด็กวัยอนุบาล เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และการเข้าสังคม เมื่อเด็กมีกลุ่มเพื่อนเป็นของตัวเองย่อมต้องการให้เพื่อนสนใจและให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าคนอื่น หรือเรียกอีกอย่างว่า การอยากเอาชนะ

 

บางครั้งเด็กอาจเผลอคุยโอ้อวดตนเองให้อยู่เหนือกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ ไป อาทิ เพื่อนคุยว่ามีรถของเล่นชิ้นใหม่ เด็กก็อาจคุยทับว่าตนเองมีรถของเล่นที่ใหม่กว่า ดีกว่า และคันใหญ่กว่า เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเด็กรู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้น แต่หากเด็กยังคงมีพฤติกรรมขี้อวด คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เด็กอาจมีปมอะไรในใจจึงสร้างภาพโอ้อวดคนอื่น หรือเด็กอาจรู้สึกอ่อนแอเพราะเพื่อนไม่สนใจ จึงต้องสร้างภาพและสร้างเรื่องราวมาดึงดูดความสนใจจากเพื่อน เมื่อคุณพ่อคุณแม่ค้นพบสาเหตุแล้ว ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกก่อนจะติดเป็นนิสัยไปจนโต

 

ภาพ : ShutterStock

 

วิธีการ

1. อธิบายให้ลูกเข้าใจ

หากพบว่าลูกคุยโอ้อวดกับคุณพ่อคุณแม่ หรือคุยข่มเพื่อน เช่น ทำแบบฝึกหัดเสร็จเร็วกว่าคนอื่น วาดรูปสวยกว่าคนอื่น หรือตอบคำถามได้ดีที่สุดในห้อง คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การเป็นเด็กเก่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรเปรียบเทียบกับเพื่อน เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักและอาจทำให้เพื่อนเสียใจได้

 

2. ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ดี

นอกจากการอธิบายว่าพฤติกรรมโอ้อวดเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ โดยการแนะนำให้ลูกสอนหรืออธิบายเพื่อนในสิ่งที่ลูกทำได้ดี เมื่อลูกรู้จักแบ่งปันและมีน้ำใจ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กที่น่ารักและเป็นที่รักของทุก ๆ คน

 

3. อย่าตำหนิลูกต่อหน้าผู้อื่น

การพูดขัดจังหวะลูกขณะที่เขากำลังพูดคุยโอ้อวดกับเพื่อน ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกเสียหน้าแล้ว ยังอาจส่งผลให้ลูกรู้สึกอับอายและขาดความมั่นใจได้ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกพูดคุยโอ้อวดเกินจริงมากเกินไป ควรเลี่ยงพาลูกไปที่อื่น หรือทำกิจกรรมอื่นแทน เมื่อกลับถึงบ้านจึงพูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมโอ้อวดของลูกต่อไป

 

4. อย่าต่อว่าให้ลูกเสียใจ

การต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงและน้ำเสียงที่ดุเกินไป จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อลูกรู้ว่าตัวเองทำผิดหรือประพฤติตัวไม่น่ารัก ไม่เหมาะสม ก็รู้สึกไม่ดีมากพออยู่แล้ว ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ตำหนิด้วยความรู้สึกรุนแรงจะยิ่งสร้างบาดแผลในจิตใจให้ลูกมากขึ้นไปอีก หากต้องการให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง ควรชี้แจงด้วยเหตุผลอย่างใจเย็น เพื่อให้ลูกคิดและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และหาทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

 

5. สำรวจพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่

เด็กเรียนรู้จากพฤติกรรมของคนใกล้ชิดเป็นหลัก หากคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีพฤติกรรมชอบคุยโอ้อวด หรือคุยทับผู้อื่น เด็กก็อาจจดจำและนำมาประพฤติตามจนติดเป็นนิสัยได้ หากต้องการปรับเปลี่ยนนิสัยของลูก ควรเริ่มต้นจากผู้ใหญ่ใกล้ชิด เมื่อเด็กเห็นว่าไม่มีใครแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ เขาก็จะเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่น่ารัก และจะเลิกคุยโอ้อวดไปเอง


 

แม้พฤติกรรมโอ้อวดของเด็กถึงจะไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงแต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะเด็กอาจมีปมปัญหาอะไรในใจที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบ การรู้เท่าทันปัญหาของลูกจะช่วยให้เขาผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นไปได้ และมีพัฒนาการที่ดีสมวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow