Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Posted By Greenpeace Thailand | 30 มี.ค. 60
2,556 Views

  Favorite

“บนโลกใบนี้ จะมีสิ่งอื่นใดที่มั่นคงไปกว่าอาหาร? ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อม คือความมั่นคง ความงดงาม การมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ ในวันนี้เราแทบจะไม่เหลือพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หลากหลายพอที่ลูกหลานจะอยู่ได้ ต่อไปเวลาลูกหลานเราจะกิน เราอาจต้องจ่ายลิขสิทธิ์ เราไม่เคยซื้อขายเมล็ดพันธุ์ แต่ในอนาคตหากเมล็ดพันธุ์ตกอยู่ในลิขสิทธิ์ของจีเอ็มโอจะแพงยิ่งกว่าทองคำ”

คุณโจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์

greenpeace

เคยไหมที่ซื้อเมล็ดพันธุ์พืชที่ระบุข้างซองไว้ว่า “ไฮบริดจ์ F1” และไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อด้วยเมล็ดได้  หรือหากได้ก็จะไม่ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ หนึ่งในจุดประสงค์สำคัญในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์จำพวกนี้ก็คือเพื่อให้เราซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ขายทุกครั้งที่เราจะปลูก นี่คือการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์โดยภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้เราจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งที่เมล็ดพืชคือของขวัญจากธรรมชาติที่เราทุกคนควรมีสิทธิที่จะปลูกและขยายพันธุ์ ไม่ใช่ถูกจำกัดเป็นเพียงสมบัติของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง 

ารผูกขาดเมล็ดพันธุ์เช่นนี้คือลักษณะที่ปรากฎอยู่ในเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มเช่นกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมจีเอ็มโอกำลังสร้างมายาคติว่าพืชจีเอ็มโอคือทางออกของเกษตรกรรมโลก แต่ที่จริงแล้วคำลวงนี้กลับเป็นสิ่งที่คุกคามและทำลายความมั่นคงและหลากหลายของพืชพรรณอาหารของไทย ทางออกที่แท้จริงคือเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เป็นภูมิปัญญาไทยแท้ดั้งเดิมของเรา ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพืชพรรณ และการปลูกเพื่อเป็นอาหารไม่ใช่เพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม  หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดเพื่อนำมาเพาะปลูกในฤดูการถัดไป วิธีการเช่นนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยมีสายพันธุ์พืชชั้นดีจำนวนมาก  การคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือแนวทางที่คุณโจน จันได  (ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์) พยายามถ่ายทอดให้กับผู้สนใจเพื่อรักษาความมั่นคงหรืออธิปไตยทางอาหารให้กับคนรุ่นต่อไป

ความสำคัญของการเก็บเมล็ดพันธุ์ และความมั่นคงทางอาหาร

คุณโจน จันได  ได้กล่าวไว้ว่า “เมล็ดพันธุ์คืออาหาร อาหารคือชีวิต ไม่มีอาหารก็ไม่มีชีวิต เมล็ดพันธุ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกกันไม่ได้ หากเมล็ดพันธุ์หายไป ชีวิตเราก็จะแย่ลง” พันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ คือแนวทางการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถทำได้เอง ด้วยการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง โดยผลของการพัฒนาด้วยวิธีการที่ไม่พึ่งพาการดัดแปลงพันธุกรรม คือความหลากหลายของสายพันธุ์เนื่องจากแต่ละคนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ออกมาได้แตกต่างกัน ดังที่พันพรรณได้เผยแพร่อบรมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าไม่ยากเกินไป ต่างจากที่บริษัทสามารถทำได้เพียงไม่กี่พันธุ์  และปัจจุบันเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงมาก การมีเมล็ดพันธุ์จึงช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล และการหายไปหรือการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์นั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหาร

“พืชแต่ละพันธุ์จะมีการทนทานโรคระบาด ฝนแล้ง สภาพอากาศอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเน้นพัฒนาเพียงแค่สายพันธุ์เดียว เมื่อเผชิญกับวิกฤตอะไรสักอย่าง ก็จะจบ ความมั่นคงก็จะลดน้อยลง เมล็ดพันธุ์เป็นความมั่นคงของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของสรรพสิ่ง ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด วันนี้ชีวิตเรากลับไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของบริษัทไม่กี่บริษัท เราได้กินพืชพันธุ์อาหารเพียงไม่กี่พันธุ์ เพราะบริษัทเป็นเจ้าของพันธุ์เหล่านั้น ซึ่งไม่ได้พัฒนามาเพื่อคนกิน แต่เพื่อยึดครองตลาดเป็นหลัก” คุณโจน จันได  กล่าว

greenpeace

“แหล่งที่อยู่อาศัยของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านถูกลบออก ถูกแย่งที่โดยข้าวโพดบริษัท ผืนดินแย่ลง มีการคัดพันธุ์เหล่านั้นให้ชอบปุ๋ยยี้ห้อนี้ ยาฆ่าแมลงนี้เป็นหลัก ทำให้ต้นทุนสูงแต่คุณภาพห่วย เกษตรกรเป็นหนี้มากขึ้น พันธุ์พืชสัตว์ในปัจจุบัน ถึงเบียดบังโดนบริษัท เมื่อเกษตรกรปลูกพันธุ์แท้ ก็ไม่มีใครรับซื้อ เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ปลูกในสองปี ก็จะไม่งอกอีก การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันจึงน่าเป็นห่วง สิ่งนี้เป็นการชี้ชะตาว่ามนุษยชาติจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ในวันนี้เราไม่เหลือความหลากหลายพอที่จะพึ่งพาได้”

นอกจากนี้ คุณโจน จันได ยังเสริมว่า เมล็ดพันธุ์ไฮบริดจ์และจีเอ็มโอเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และทางอ้อมคือเป็นการบีบให้คนปลูกจีเอ็มโอไปด้วยเนื่องจากกลัวผลกระทบที่ตามมาจากการถูกปนเปื้อน ดังที่เห็นในกรณีที่เกษตรกรทั่วโลกถูกฟ้องร้องและแพ้คดีความให้กับบริษัทจีเอ็มโอ 

คุณโจนเล่าว่า “แต่ก่อนผมเป็นเด็ก เรากินข้าวแต่ละมื้อไม่ต่ำกว่า 5 สายพันธุ์ การกินอะไรที่หลากหลายคือความมั่นคงยั่งยืนของชีวิต ได้สารอาหารหลายชนิด การกินชนิดเดียว คือได้อาหารชนิดเดียว ถึงแม้จะมีเงินมาก แต่เป็นโรคขาดสารอาหารกันโดยไม่รู้ตัว การที่หายไปของเมล็ดพันธุ์ทำให้เราเหลือพันธุ์พืชเพียงไม่กี่พันธุ์ และที่เหลืออยู่นั้น อุตสาหกรรมกลับเลือกพันธุ์ที่ผลิตได้จำนวนมากในระยะเวลาสั้นเท่านั้น เป็นการเน้นที่ปริมาณไม่ใช่สารอาหาร”

เมล็ดพันธุ์ มรดกแห่งชีวิต ไม่ควรเป็นลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรม

คุณโจน จันได  กล่าวไว้ว่า “การยึดครองอาหารอย่างเดียว คือการยึดครองโลกได้ทั้งโลก" นั่นหมายความว่าข้าวทุกคำที่ป้อนให้ปาก ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัททั้งหมด การถูกผูกขาดทางเมล็ดพันธุ์ และการถูกตัดขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ปลูกนั้นถือเป็นวิกฤตของธรรมชาติ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ‘มะม่วงนี้อร่อย เก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อให้ลูกหลานกิน’ นี่คือการส่งต่อมรดกชีวิต” เมื่อคนปลูกไม่รู้จักกับคนกิน ความใส่ใจในการปลูกอย่างปลอดภัยก็จะขาดหายไปเช่นกัน เราต้องรวมตัวกัน เชื่อมต่อกันให้ได้ระหว่างคนปลูกและคนกิน และสิ่งสำคัญของการรู้ที่มาของอาหารและกระบวนการตลอดห่วงโซ่การผลิต คือการดูแลสุขภาพของเราเอง เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะดำรงอยู่ได้ต้องพึ่งพาอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ 

ปัจจุบันนี้ภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศเท่าที่ควร แต่กลับสนับสนุนการใช้สารเคมี ดังเช่นกรณีที่ปุ๋ยเคมีไม่ต้องจ่ายภาษี มีการตัดป่ามากขึ้นเพื่อทำพื้นที่ทางการเกษตร แต่เกษตรกรที่เพาะปลูกเชิงนิเวศไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ อีกทั้งมายาคติของจีเอ็มโอที่กล่าวอ้างว่าให้ผลผลิตสูง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นนั้น แท้ที่จริงแล้ว พืชที่โตเร็วจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก จำเป็นต้องมีอาหารเลี้ยงเพียงพอเพื่อที่จะได้ผลผลิต นอกจากนี้ยังมีกระแสการต่อต้านจีเอ็มโออยู่เสมอ ในขณะที่ไม่เคยมีใครปฏิเสธอาหารอินทรีย์ ที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรจะรับฟัง เพราะทางออกที่เป็นความหวังของประเทศไทยที่แท้จริง คือพันธุ์พืชอันหลากหลายของเรา ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์คือเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของไทย

“ขนาดยังไม่เป็นจีเอ็มโอ เราก็ได้กินพืชผักที่น้อยชนิดอยู่แล้ว เราก็ได้กินแค่คะน้า ผักบุ้ง กะหล่ำ แต่หากเป็นจีเอ็มโอ เราจะได้กินเพียงถั่วเหลืองและข้าวโพด มันน่าเสียดายว่าเมืองไทยมีมันมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่เราได้กินแค่มันฝรั่ง ประเทศไทยมีพืชพันธุ์ดีๆ จำนวนมากที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร การเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งเร่งด่วนที่เราต้องทำในวันนี้ ก่อนที่จะสาย ทุกคนมีสิทธิที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ คนเมืองคือผู้บริโภค ถ้าคนเมืองสนับสนุนเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ เก็บเมล็ดพันธุ์ จะทำให้เกษตรกรเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีคนต้องการ เขาก็จะปลูกมากขึ้น ช่วยกันเก็บ ช่วยกันกิน เก็บไว้ในวิถีชีวิต ไม่ใช่ในห้องเย็น ต้องเก็บวิธีปลูก กิน ใช้ และกินอะไรที่หลากหลายมากขึ้น นั่นคือความมั่นคงสูงสุดในชีวิต” คุณโจน จันไดกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow