Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล...

Posted By Greenpeace Thailand | 30 มี.ค. 60
4,005 Views

  Favorite

มหาสมุทรเป็นของทุกคน คำกล่าวที่ว่า “ One planet , One Ocean ” อาจเป็นแนวคิดที่ฟังเป็นอุดมคติของนักอนุรักษ์ แต่ทฤษฎีของนักธรณีวิทยาได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าก่อนที่เปลือกโลกจะแยกออกจากันนั้น มหาสมุทรของโลกเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน

มหาสมุทร เป็นผืนน้ำทะเลขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 71 ของพื้นผิวโลก แบ่งออกเป็น 4 มหาสมุทรโดยใช้ทวีปและกลุ่มเกาะขนาดใหญ่เป็นแนวแบ่ง ดังนี้ มหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 361 ล้านตารางกิโลเมตร ปริมาตร 1,370 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 3,790 เมตร

 

ภาพ : Greenpeace

 

ตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้เราจินตนาการถึงผืนน้ำขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนจะไร้ขอบเขตไร้ที่สิ้นสุด แต่ท่ามกลางความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรนี้ เราอาจไม่รู้ว่ามหาสมุทรกำลังถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเร่งให้มหาสมุทรมีความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม การทำประมงเกินขนาด (Over fishing) และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ซึ่งการใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ ฉลาม ผู้ล่าของท้องทะเล โดยข้อมูลปี พ.ศ. 2556

 

องค์กรที่มีการรณรงค์หยุดบริโภคฉลามที่สำคัญในประเทศไทย เช่น องค์กร Fin-Free Thailand ให้ข้อมูลว่าฉลามถูกฆ่าประมาณ 100 ล้านตัวต่อปี โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น ติดมากับอวนของชาวประมงซึ่งส่วนใหญ่เป็นอวนแบบผิดกฏหมาย ขณะนี้จำนวนฉลามและสัตว์น้ำอื่นๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าตกใจ อาจถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามว่า เราควรหันมาปกป้องฉลามและสัตว์ทะเลต่างๆ แล้วหรือยัง

 

https://pixabay.com

 

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ทะเลไทยกันบ้างข้อมูลจากสถิติการทำประมงที่กรมประมงศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ที่มีการนำอวนลากเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเรืออวนลาก คือเรือที่ใช้อวนขนาดใหญ่ตาถี่ โดยมีแผ่นโลหะและยางขนาดใหญ่ที่จะเคลื่อนกวาดหน้าดินใต้ทะเลพร้อมกับอวนที่ถี่มากพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลาก อยู่ที่ชั่วโมงละ 297.6 ก.ก. ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากอ่าวไทยพุ่งขึ้นมากหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับผลจับก่อนหน้านี้ แต่แล้วกลับเริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยในปี พ.ศ. 2525 อัตราการจับเหลือชั่วโมงละ 49.2 ก.ก. และเหลือเพียงชั่วโมงละ 22.78 ก.ก. ในปี พ.ศ. 2534 และเป็นที่น่าตกใจ ที่พบว่า ในปี พ.ศ. 2549

 

อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียงชั่วโมงละ 14.126 ก.ก. เท่านั้น  ในขณะที่งานวิจัยเรื่ององค์ประกอบของผลผลิตอวนลากได้ พบว่าสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัตว์ส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน สัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อนในทะเลไทยถูกกวาดขึ้นมาด้วยเรืออวนลากเข้าสู่โรงงานปลาป่นและป้อนให้กับธุรกิจอาหารสัตว์อย่างไม่มีใครสามารถควบคุมได้แม้แต่อำนาจรัฐ

 

https://pixabay.com

 

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลคือคำตอบ... 

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล คืออาณาเขตทางทะเลที่ซึ่งสรรพสิ่งได้รับการคุ้มครองจากการคุกคามของมนุษย์ ที่ซึ่งทุกคนในโลกมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อรักษาความสวยงามและความหลายทางชีวภาพไว้อย่างยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

ในปัจจุบันทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกยังไม่มีเขตพื้นที่ที่ให้การคุ้มครองระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ที่มีการกำหนดและมีข้อตกลงในทางปฎิบัติที่ใกล้เคียงกันส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองเฉพาะพืชหรือสัตว์บางชนิดพันธุ์หรือเพื่อควบคุมกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเท่านั้น  โดยจำนวนและขนาดของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งส่วนใหญ่จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลพื้นที่คุ้มครองทั่วโลก(The World Database on Protected Areas: WDPA) จากข้อมูลดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า พื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตคุ้มครองนั้นมีข้อจำกัดในบางประเด็น คือ การไม่ได้ระบุถึงพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนของพื้นที่คุ้มครองหลายแห่ง ทำให้การศึกษาวิเคราะห์พื้นที่คุ้มครองแห่งนั้นๆ อย่างสมบูรณ์เป็นไปได้ยาก

 

https://pixabay.com

 

ก่อนที่ฉลามจะหมดทะเล ก่อนที่สัตว์น้ำอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลกสูญสิ้น ก่อนที่ทะเลจะเหลือเพียงแค่ท้องน้ำอันว่างเปล่าและมลพิษ เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลคงเป็นคำตอบสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และจากระดับนานาชาติ ในการกู้วิกฤติมหาสมุทรและทะเลที่กำลังมีสัตว์น้ำจำนวนน้อยลงอย่างชัดเจนในปัจจุบัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow