Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศธ. พลิกโฉมระบบ"วิทยฐานะครู" ยึดหลัก 3P ระบบสากล

Posted By Plook Teacher | 27 มี.ค. 60
7,345 Views

  Favorite

          การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาชาติของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในปัจจุบัน นอกจากจะยึดแนวทางตาม "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579)" ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 6 ยุทธศาสตร์ อันได้แก่ 1.ความมั่นคง 2.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4.การสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันด้านสังคม 5.การสร้าง การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐแล้ว ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาอีกด้วย


          นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 มีพระราชหัตถเลขาชิ้นสำคัญส่งถึงองคมนตรี ใจความว่า "ปัญหาปัจจุบันคือครูมุ่งเขียนวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี Reward" ซึ่ง ศธ.ได้น้อมนำฯ มาเป็นนโยบายในการปรับปรุงระบบวิทยฐานะครูและบุคลากรด้านการศึกษาในปัจจุบัน


          "ที่ผ่านมา การได้มาซึ่งวิทยฐานะนั้น ครูต้องทำผลงานเอกสารทางวิชาการหรืองานวิจัย และบางกรณีก็มีการจ้างคนอื่นทำเอกสารวิชาการแทน ในขณะที่ครูขยัน ทุ่มเทและมุ่งสอนหนังสือ แต่ไม่มีความชำนาญในการจัดทำผลงานวิชาการ กลับไม่ได้รับอะไรตอบแทน เป็นความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่อจากนี้ไป รูปแบบการประเมินวิทยฐานะ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีความยุติธรรม และมีความทันสมัยเป็นสากลมากขึ้น เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ครูทุกคนรอคอยและต้องการให้เปลี่ยนแปลง" นพ.ธีระเกียรติกล่าว


          สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะในนิยามใหม่นั้น ยึดหลัก 3P ตามระบบสากล ได้แก่ Proficiency (ทักษะการทำงานหรือความเก่ง) Performance (ผลงาน) และ Potential (ศักยภาพ) ซึ่ง ศธ. ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่นั้น ไม่สร้างความยุ่งยากหรือสร้างภาระให้ครูแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่ครูปฏิบัติในหน้าที่ที่เป็นปกติอยู่แล้วนั่นคือ "การสอนในชั้นเรียน" นั่นเอง โดยวัดจาก 2 เรื่องหลัก คือ


          1. เชิงปริมาณ พิจารณาจากชั่วโมงการสอน จากจำนวนชั่วโมงสอนขั้นต่ำที่ส่วนราชการกำหนด ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของครู มีกรอบคือ เป็นครูผู้ช่วย2 ปี ชำนาญการ 5 ปี ชำนาญการพิเศษ5 ปี เชี่ยวชาญ 5 ปี และเชี่ยวชาญพิเศษ 5 ปี ซึ่งการประเมินวิทยฐานะในแต่ละขั้น ครูต้องมีชั่วโมงสอน 800 ชั่วโมงต่อปี กล่าวคือเมื่อครูชำนาญการสอนครบ 5 ปี หรือมีชั่วโมงสอนครบ 4,000 ชั่วโมง สามารถขอประเมินวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษ อย่างไรก็ตาม ครูที่ขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะจากเชี่ยวชาญเป็นเชี่ยวชาญพิเศษนั้น ยังคงต้องใช้เอกสารวิชาการและผลงานวิจัยอยู่
          2. เชิงคุณภาพ  ส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ด้วยการเปิดโอกาสให้ครูแต่ละคน สามารถเลือกเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ ศธ.ให้การรับรองที่แตกต่างกันในแต่ละวิทยฐานะ นอกจากนี้ จะต้องผ่านการอบรม PLC (Professional Learning Community) หรือ "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ" ซึ่งมีแนวคิดคือ การนำครูในหลายๆ ระดับ ทั้งครูใหม่-ครูเก่ามาอยู่รวมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ และแบ่งปันความรู้กันระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม จนกระทั่งเกิดการสะท้อนความคิดในด้านต่างๆ ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนา อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู และไม่ให้เกิดการใช้เวลาอบรม PLC มาก จนกระทั่งครูไม่มีเวลาสอนเด็กในชั้นเรียน จึงกำหนดให้ครูสามารถนำชั่วโมงการอบรม PLC ไปรวมกับชั่วโมงการสอนหนังสือที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะประกาศใช้ได้ด้วย


          ทั้งนี้ การพัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ จะนำไปใช้กับการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรด้าน การศึกษากลุ่มใหม่ กลุ่มที่ค้างการประเมินที่มีประมาณ 5,000 คน และกลุ่มที่ได้รับวิทยฐานะไปแล้ว ซึ่งต้องมีการประเมินเพื่อคงสภาพตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าครูยังคงมีคุณภาพในการปฏิบัติงานและความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับวิทยฐานะที่ได้รับ


          "เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่ นอกจากไม่สร้างภาระให้กับครูในการทำเอกสารวิชาการแล้ว ยังสร้างโอกาสให้ครูเข้าถึงวิทยฐานะได้ง่ายขึ้นอีกด้วย พร้อมกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังพัฒนาระบบไอที เพื่อให้ครูได้บันทึกข้อมูลได้ด้วยตัวเองในรูปแบบพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับรองชั่วโมงการสอนของครู ผ่านระบบ Logbook" นพ.ธีระเกียรติกล่าว


          การเปลี่ยนโฉมรูปแบบการประเมิน "วิทยฐานะ" ของครูในครั้งนี้ ถือเป็นการนำครูกลับมาสู่ห้องเรียนและทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มที่ เป็นวิธีตอบแทนครูที่สอนทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นธรรมและยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความรู้ความสามารถของครูและเด็กนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น อันนำไปสู่การพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยอย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล
ศธ. พลิกโฉมระบบ
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow