Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"จิม ทอมป์สัน" ราชาผ้าไหมไทยหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

Posted By Plookpedia | 26 มี.ค. 60
12,788 Views

  Favorite

26 มีนาคม พ.ศ.2510 (ค.ศ. 1967 ) 
"จิม ทอมป์สัน" ราชาผ้าไหมไทยหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

•"จิม ทอมป์สัน" ราชาผ้าไหมไทยผู้มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย และก่อตั้งบริษัทซึ่งมีชื่อเดียวกับเขาเองขึ้นเพื่อรองรับกิจการค้าผ้าไหมในไทย ได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยระหว่างที่ไปพักผ่อนกับเพื่อนที่แคมเมอรอนไฮแลนด์ แหล่งตากอากาศในประเทศมาเลเซียทางภาคเหนือ ในช่วงสุดสัปดาห์ของเทศกาลอีสเตอร์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้มีการจัดทีมค้นหาร่องรอยการหายตัวไปของเขาอย่างจริงจังเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ปรากฏเงื่อนงำที่นำไปสู่การหายสาบสูญไปอย่างลึกลับของเขา มีเพียงพยานรู้เห็นว่า เขาได้เดินออกจากที่พักตามปกติและไม่กลับมาอีกเลย

• มีทฤษฎีเกี่ยวกับการหายตัวไปของจิม ทอมป์สันออกมามากมาย ทั้งทฤษฎีสมคบคิดกันทางการเมือง ถูกคู่แข่งทางธุรกิจสังหาร โดนเสือกิน หรือแม้แต่เรื่องเหนือธรรมชาติ และยังมีทฤษฎีที่ว่าเขาได้วางแผนโดยใช้การหายตัวไปของตัวเองเป็นข้ออ้าง เพื่อออกจากประเทศไทยไปอย่างมีเกียรติ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับกรมศิลปากรในเรื่องที่เขาชอบเก็บสะสมโบราณวัตถุเอาไว้เป็นจำนวนมาก
 

 

http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311834
"จิม ทอมป์สัน" ราชาผ้าไหมไทย จาก, http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311834

 

 

ที่มาของฉายาราชาผ้าไหมไทย

"จิม ทอมป์สัน" หรือชื่อเต็ม "เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน" ( James Harrison Wilson Thompson) เป็นสถาปนิกผู้มีใจรักในศิลปะ แต่เดิมทีจิมทำงานอยู่ในนิวยอร์กจนถึงปี 1940 ในระหว่างนั้นได้เกิดสงครามขึ้นในยุโรป เขาได้อาสาสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จิมได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานด้านยุทธศาสตร์  ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหน่วยสอบสวนกลาง (CIA) ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปหลายที่ทั่วโลก และได้มากรุงเทพฯ ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 เพื่อปฏิบัติภารกิจทางทหาร


ด้วยความหลงใหลที่มีต่อเมืองไทย ทำให้จิมตัดสินใจย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่หลังจากปลดประจำการในปี 1946  โดยทำงานปรับปรุงโรงแรมโอเรียลเต็ลที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเทพฯ ไปด้วย ขณะนั้นเขามีโอกาสได้เดินทางไปหลายแห่งในภาคอีสาน และเกิดความสนใจอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมในครัวเรือน จิมได้สังเกตว่าผ้าไหมทอมือของชาวบ้านนั้นมีคุณภาพดีแต่ยังขาดซึ่งเอกลักษณ์ เขาจึงวางแผนที่จะฟื้นฟูกิจการทอผ้าไหมของไทย โดยทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และเริ่มหันมาจับธุรกิจการทอผ้าไหม

 

http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311828
"จิม ทอมป์สัน" ศึกษาการทอผ้าไหม จาก, http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311828

 

 

ชุมชนทอผ้า "ชุมชนบ้านครัว"

ในปี 1947 ขณะที่จิมเริ่มเสาะแสวงหาผ้าไหมนั้น เขาได้พบว่าส่วนใหญ่ตระกูลช่างทอผ้าต่างเลิกอาชีพดั้งเดิมกันไปหมด ทั้งยังกระจัดกระจายไปยังตำบลอื่น ๆ เพราะการทอผ้าแบบเดิมนั้นมีรายได้ที่น้อย และเมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเริ่มแพร่ขยายเข้ามาในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20  ผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักรซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าที่ผลิตจากโรงงานในยุโรปและญี่ปุ่น ก็เข้ามาตีตลาดจนทำให้การทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมต้องประสบปัญหาส่วนครัวเรือนต่าง ๆ ที่ยังทอผ้าอยู่นั้น ก็เริ่มทอผ้าใช้กันเองเสียมากกว่า โดยไม่สนใจซึ่งคุณภาพและความปราณีตอีกต่อไป 

 

จิมที่ยังคงออกสำรวจชุมชนทอผ้า ได้ไปพบกับชุมชนทอผ้าแห่งหนึ่งในพระนคร ชื่อว่า "ชุมชนบ้านครัว" ริมคลองแสนแสบนั่นเอง เขาหมั่นไปสำรวจที่ชุมชนบ้านครัวจนเกิดความสนิทสนมกับช่างทอผ้าที่นั่น ซึ่งได้ความว่าเป็นแขกจามที่อพยพมาอยู่กรุงเทพฯ นับแต่ครั้งไทยรบกัมพูชาเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จิมได้ปรึกษา "เจมส์ สกอตต์" ทูตพาณิชย์สหรัฐประจำประเทศไทย และตกลงกันว่าจะผลักดันการผลิตผ้าตกไหมแบบซีเรียให้พัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้

 

http://www.isan.clubs.chula.ac.th/simboard/post_view.php?room_no=0&id_main=1538&star=20&pg=3
ชุมชนบ้านครัว จาก, http://www.isan.clubs.chula.ac.th/simboard/post_view.php?room_no=0&id_main=1538&star=20&pg=3

 

 

กิจการผ้าไหมไทยรุ่งเรือง

จิมได้นำตัวอย่างผ้าไหมแบบดั้งเดิมไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา บรรดาผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นได้สนใจในผ้าไหมนี้เป็นอย่างมาก กระทั่งเสื้อผ้าไหมจากนักออกแบบเสื้อผ้าผู้มีชื่อเสียงของนิวยอร์ก "วาเลนทินา" (Valentina) ได้อวดโฉมลงในนิตยสาร Vogue อย่างสง่างาม ผ้าไหมไทยจึงได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายนับแต่นั้นมา จิมจึงก่อตั้งบริษัทจิม ทอมป์สัน ขึ้นในปี 1948 โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าโดยอิสระ แล้วไปรับซื้อโดยตรง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และคงไว้ซึ่งคุณภาพ จนกิจการผ้าไหมไทยเกิดความเฟื่องฟู

 

http://thaicafe.blogspot.com/2012/08/1967.html
"จิม ทอมป์สัน" คัดเลือกผ้าไหม จาก, http://thaicafe.blogspot.com/2012/08/1967.html

 

 

http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311833
ผ้าไหม จาก, http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311833

 

 

http://www.tomdithomas.com/en/pages/time-for-a-journey/craftsmen-and-creators/jim-thompson.html
http://www.tomdithomas.com/en/pages/time-for-a-journey/craftsmen-and-creators/jim-thompson.html

"จิม ทอมป์สัน" ในห้องทำงาน ถ่ายเมื่อต้นปี ค.ศ. 1967 เพียง 2-3 ดือนก่อนหน้าที่เขาจะหายสาบสูญไปอย่างลึกลับ

 

 

มรดกของ "จิม ทอมป์สัน"

หลังจากการหายสาบสูญของจิม สิ่งที่เขาได้หลงเหลือไว้ คือ มรดกจากอุตสาหกรรมไหมไทยที่คนรุ่นหลังช่วยกันสืบสาน ทั้งร้านจิม ทอมป์สัน (ขายของที่ทำจากผ้าไหมไทย) จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม (พื้นที่ปลูกหม่อนไหม และจำลองวิถีชีวิตบ้านเรือนของชาวอีสาน)  และเรือนไทยไม้สักบ้านของจิมที่อยู่ตรงข้ามชุมชนบ้านครัว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้เป็นจำนวนมาก พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2539 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

http://www.jimthompsonfarm.com/
จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จาก, http://www.jimthompsonfarm.com/

 

 

http://www.phuket.com/phuket-magazine/jim-thompson.htm
ร้านค้าที่สืบทอดตำนาน จิม ทอมป์สัน จาก, http://www.phuket.com/phuket-magazine/jim-thompson.htm

 

 

http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311833
พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน  จาก, http://www.vogue.it/en/uomo-vogue/people-stars/2013/11/thompson#ad-image311833

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow