Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แก้ปัญหาเด็ก Perfectionist

Posted By Plook Parenting | 15 มี.ค. 60
14,110 Views

  Favorite

เด็กที่มีลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionism มักจะเป็นคนที่เข้มงวดและเคร่งครัดเกินไป ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ทำอะไรอยู่ในกรอบ ถึงแม้จะดูเป็นเด็กมีวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง รู้จักวางแผนเป็นขั้นตอน แต่ไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดได้

เมื่อมีอุปสรรคขัดขวาง เขาจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ บางคนแสดงความคับข้องใจออกมาด้วยความก้าวร้าว เพราะไม่สามารถยอมรับต่อสถานการณ์ที่ผิดไปจากที่วางแผนไว้ได้ สุดท้ายก็สะสมเป็นความเครียดและกดดันตัวเองโดยไม่รู้ตัว จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของตัวเด็กเอง

 

ลักษณะของเด็ก Perfectionist

     • สนใจรายละเอียดปลีกย่อยทุกขั้นตอนว่าต้องครบถ้วนและสมบูรณ์ ห้ามขาด ห้ามข้าม หรือห้ามมีขั้นตอนใดเพิ่มเข้ามา

     • มักหงุดหงิดหรือไม่พอใจทุกครั้งเมื่อเห็นผู้อื่นแต่งตัวไม่เรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่ถูกต้อง

     • ทุ่มเทให้กับการทำงานหนึ่ง ๆ มากเกินไป จะไม่ยอมละทิ้งงานที่กำลังทำอยู่จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

     • เครียดและวิตกกังวลง่าย เนื่องจากกลัวความผิดพลาด คิดแต่ว่าคนอื่นจะมองยังไง ถ้าทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น

     • เป็นเด็กจริงจังในทุกเรื่อง และไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง

     • คาดหวังสูงกับตัวเอง

     • หวั่นไหวง่ายมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์

     • ถ้าต้องทำอะไรที่คิดแล้วว่าทำได้ไม่ดี จะพยายามหลีกเลี่ยง

     • พยายามปกปิดว่าตัวเองรู้สึกยังไง และไม่ค่อยอยากสุงสิงกับคนอื่น

     • จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยเป็น ลังเลไปมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที ไม่เลือกทางไหนไปสักทาง

     • ถ้าทำอะไรแล้วผลลัพธ์ออกมาแย่กว่าที่คาด อาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง บ่อย ๆ

 

ภาพ Shutterstock

 

ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีลักษณะนิยมความสมบรูณ์แบบ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามาจากสองปัจจัยด้วยกันคือ “เด็กมีลักษณะนิสัยนี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด” และอย่างที่สองพบว่ามาจากการเลี้ยงดู เช่น

     • ได้รับคำยกย่องชมเชยจากคนรอบตัวมากเกินไป ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าตัวเด็กเองก็มีบางอย่างให้น่าชมเชยจริง ๆ เช่น สองขวบก็อ่านหนังสือได้แล้ว หรือมีทักษะดนตรี กีฬาบางอย่างที่โดดเด่น ใครเห็นเป็นต้องชม

     • พ่อแม่เรียกร้องและคาดหวังจากลูกมากจนเกินไป

     • พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีลักษณะ Perfectionist ทำให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว

     • พ่อแม่สร้างเงื่อนไขให้ลูกเข้าใจว่า ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่ต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่หวังไว้เท่านั้น หรือแสดงท่าทีให้ลูกเห็นว่า ถ้าไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ พ่อแม่จะรักน้อยกว่าลูกคนอื่น ๆ

 

ทางการแพทย์พบว่า คนที่มีลักษณะ Perfectionism มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า ขี้วิตกกังวล และทำร้ายตัวเองได้ ดังนั้นหากปล่อยให้เด็ก Perfectionist เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ Perfectionist โดยไม่ช่วยเหลือลูกให้เต็มที่ก่อน อาจเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่เจตนา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยปรับแต่งพฤติกรรมให้ลูกลดความสมบรูณ์แบบลงได้

 

วิธีการ

1. สอนลูกคิดบวก

เด็กที่นิยมความสมบูรณ์แบบมักมีความเถรตรงมากเกินไป เมื่อเกิดเหตุผิดพลาด หรือไม่ประสบความสำเร็จ เด็กจะรู้สึกผิดหวังมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรชี้ให้เห็นว่าความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป อาจชี้ให้เห็นถึงข้อดีของความล้มเหลว เช่น เป็นการฝึกฝนให้เราเกิดความชำนาญ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และนำสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต

 

2. ไม่ดุหรือทำโทษเด็กรุนแรง

เมื่อเด็กประสบความล้มเหลว หรือผลไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ควรต่อว่าหรือทำโทษเด็ก เนื่องจากจะไปตอกย้ำและกระตุ้นให้เด็กรู้สึกผิดที่ล้มเหลว กลายเป็นความเครียดและความกดดันตัวเองมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวชมเชยและให้กำลังใจ สอนให้เขารู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาด เปลี่ยนความกดดันเป็นกำลังใจ และแสดงออกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักเขาเหมือนเดิม

 

3. ไม่กดดันเด็กมากเกินไป

การกำหนดเป้าหมายให้เด็กถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เด็กก้าวไปจนถึงเป้าหมายนั้นได้ แต่พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่าเด็กต้องการกำลังใจและแรงสนับสนุนจากครอบครัว หากพ่อแม่จัดสรรเวลาในการเรียนและเล่นให้กับเด็กอย่างเหมาะสม เด็กก็จะรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่

 

4. ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นที่เก่งกว่า เพื่อให้ลูกมีความมุ่งมั่นและมานะพยายาม แต่หารู้ไม่ว่าการทำแบบนั้นกลับสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจและความกดดันให้ลูกเป็นอย่างมาก เด็กจะรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะทำอย่างไรก็เก่งสู้เด็กคนอื่นไม่ได้ จึงพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเกลียดความพ่ายแพ้ไปในที่สุด

 

5. ฝึกลูกจัดการความเครียด

เวลาที่เด็กเกิดความเครียดเพราะไม่ได้ดังใจ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนวิธีลดความเครียดให้ลูก ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ฝึกทำสมาธิ ฝึกเจริญสติ ฝึกการหายใจ ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความตึงเครียดทั้งทางกายและทางใจที่เกิดขึ้น

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการสอนให้เด็กมีความพยายามและเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มากกว่าการปลูกฝังให้เด็กพยายามมุ่งไปข้างหน้าโดยไม่ได้สอนว่าหากล้มแล้วต้องลุกอย่างไรจึงจะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow