Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคซึมเศร้าในเด็ก รับมืออย่างไร

Posted By Plook Parenting | 15 มี.ค. 60
8,804 Views

  Favorite

บางบ้านอาจประสบปัญหาเด็กที่มักจะป่วยตอนจะไปโรงเรียน เด็กไม่ค่อยพูดกับใครแม้กับคนในครอบครัว หรือเด็กที่ติดพ่อแม่มาก ๆ จนไม่ยอมที่จะห่างออกไปไหน อย่าเพิ่งคิดว่าลูกงอแงหรือแกล้งทำ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าในเด็กก็ได้

 

ภาวะซึมเศร้า ต่างจากอารมณ์เศร้าโดยทั่วไป เนื่องจากอารมณ์เศร้ามักเกิดขึ้นไม่นานก็จางหายไป และเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ส่วนภาวะซึมเศร้าจะเป็นความรู้สึกที่ติดค้างอยู่กับตัวเองตลอดเวลา ในทางการแพทย์ถือว่า “ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง” ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และภาวะนี้เด็กเล็กก็เป็นได้เช่นกัน

 

ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจดังนี้

1. ปัจจัยทางกาย

      • เกิดจากสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทในสมองบางอย่างแปรปรวนไม่สมดุล ซึ่งพบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยพบมีสารสื่อประสาทที่สำคัญเช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดต่ำลง

       สาเหตุด้านกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

       เกิดจากโรคบางชนิด ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายของสมอง เช่น เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเส้นเลือดแข็งตัวผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคทางกายที่อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น โรคตับอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน โรค SLE เป็นต้น

 

2. ปัจจัยทางจิตใจ

       ความเครียด จากการเรียน การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับชั้นต่าง ๆ กดดันตัวเองมากเกินไปจนเกิดเป็นความเครียดสะสม

       เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง หมดกำลังใจ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

       ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอ ๆ จนกลัว กังวล กับบุคคลรอบข้างเพราะมีความรู้สึกที่ไม่ดีหรือไม่สบายใจที่ต้องอยู่ด้วย ทำให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน

       การเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป เด็กไม่สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ตนต้องการได้ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่เท่านั้น และมีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่มากจนเกินไป โดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูก

       การสูญเสีย เสียชีวิตของพ่อแม่หรือคนในครอบครัว การที่พ่อแม่แยกทางกัน

 

ภาพ Shutterstock

 

วิธีการรับมือ

1. หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของลูก

เด็กที่เริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เด็กเล็กมักจะมีอาการแกล้งป่วย ไม่ไปโรงเรียน ติดพ่อแม่ กังวลว่าพ่อแม่จะเสียชีวิต ส่วนเด็กโตจะนิ่งไม่พูด มีปัญหาที่โรงเรียน มองโลกในแง่ร้าย ซึ่งหากลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาสาเหตุและดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด การสอบถามพูดคุยถึงสาเหตุที่เขารู้สึกทุกข์ใจ เพื่อให้ลูกเล่าความในใจออกมา เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกสบายใจที่สุด นอกจากนี้การได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ ได้โอบกอด และได้แบ่งปันเรื่องราวแล้วมีคนรับฟังเป็นการบรรเทาอาการทุกข์ใจต่าง ๆ ให้คลายลง

 

2. สอนให้ลูกรับมือกับความทุกข์

ถึงแม้ว่าลูกยังเล็ก แต่การสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกตัวเอง และให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรแนะนำลูก เมื่อเห็นว่าลูกจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ไม่ได้ ก็อาจแนะนำให้มาปรึกษาพ่อหรือแม่ เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันหาคำตอบด้วยเหตุและผลไปด้วยกัน เมื่อลูกรู้ว่าตนเองมีที่พึ่งพิงยามทุกข์ใจ เขาก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น และสามารถรับมือกับปัญหาที่จะตามมาอีกมากมายได้ดีขึ้นเช่นกัน

 

3. พ่อแม่หันมาสังเกตตนเอง

บางครั้งพ่อแม่อาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ลูกเครียด จนลุกลามกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ อาทิ คาดหวังในตัวลูกสูงเกินไป เลี้ยงดูลูกเคร่งครัดและอยู่ในระเบียบวินัยมากเกินไป พ่อแม่มีปากเสียงทะเลาะกัน หรือเกิดความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเด็กต้องอยู่ในสภาวะความกดดันมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กได้ง่าย

 

4. พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครู

พฤติกรรมบางอย่างลูกอาจไม่ได้แสดงออกที่บ้าน แต่กลับแสดงออกที่โรงเรียน ฉะนั้นพ่อแม่จึงควรไปพบคุณครูเพื่อขอคำปรึกษา หาสาเหตุ และหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน หากเด็กโดนกลั่นแกล้งหรือมีปัญหาที่โรงเรียน คุณครูจะได้คอยช่วยเหลือและดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อพ่อแม่และครูมีทิศทางการแก้ปัญหาไปในทางเดียวกัน ก็จะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กได้ง่ายและเร็วขึ้น

 

5. หากิจกรรมทำร่วมกัน

การทำกิจกรรมสนุก ๆ หรือกิจกรรมที่ลูกชอบร่วมกันทั้งสามคนพ่อแม่ลูก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และคลายความกังวลที่มีในใจลงได้ โดยเฉพาะการได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้จิตใจปลอดโปร่งแล้ว ลูกยังได้ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงได้อีกด้วย

 

6. ปรึกษาแพทย์

หากคุณพ่อคุณแม่ลองทุกวิธีการแล้วสภาพจิตใจของลูกก็ยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป อาจโทรไปปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือแฟนเพจ @ helpline1323 เพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนก็ได้เช่นกัน

 

 

 

ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการทางจิตเวชที่ควรรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพราะสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของลูกไปด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจ เข้าใจ และมอบความรักความอบอุ่นให้กับลูก สภาพจิตใจของลูกก็จะดีขึ้น และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow