Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปิดตำรา เปลี่ยนชีวิต เพราะ “ไรน้ำนางฟ้า”

Posted By Do Good | 08 มี.ค. 60
3,870 Views

  Favorite

    เมื่อความรู้ในตำราไม่อาจตอบข้อสงสัยเรื่องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าได้ นักศึกษาวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์กลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาค้นหาคำตอบ ด้วยการ “ลงมือทำจริง” จนสามารถเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าในภาคใต้ได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมเกิดแหล่งเรียนรู้ที่ให้ผู้ขายปลาสวยงามและผู้สนใจทั่วไปเข้ามาศึกษาแล้ว ทีมงานยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทั้งการมีเป้าหมายในชีวิต รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ และก้าวข้ามความกลัวที่เคยไม่กล้าแสดงออก

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


    “ไรน้ำนางฟ้า” ชื่อนี้ฟังดูไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่สำหรับผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงปลาสวยงามรู้ดีว่า ไรน้ำนางฟ้าคืออาหารมีชีวิตชั้นดีของปลาสวยงาม ที่มีโปรตีนสูง ช่วยสร้างสีสันสดใสให้แก่ปลา และไม่เป็นพาหะนำโรคแบบไรแดง หรือหนอนขี้หมู ทว่าไรน้ำนางฟ้ากลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากเพาะพันธุ์ยาก ทำให้นักศึกษา ปวส.2 แผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย ปลา-เปรมกมล กาญจนราษฎร์ สมาย-ขนิษฐา แก้วยอด และเนย์-ธัญญา ทองขำ พยายามค้นหาคำตอบด้วยการทดลองเพาะเลี้ยง เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามเข้ามาศึกษา เพื่อช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาและเพิ่มศักยภาพการจำหน่ายปลาสวยงามในท้องตลาดให้มากขึ้นด้วยการทำโครงการไรน้ำนางฟ้า ภายใต้โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

   กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด แต่ข้อมูลที่ค้นพบมีน้อยมาก ทีมจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ด้วยการไปดูของจริงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพัทลุง โดยศึกษาตั้งแต่การเพาะเลี้ยงคลอเรลล่า (Chlorella) สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กที่เป็นอาหารของไรน้ำนางฟ้า จากนั้นจึงลงพื้นที่สำรวจร้านปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา เพื่อค้นหาองค์ความรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้า รวมทั้งคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับร้านค้าที่ต้องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าให้เป็นอาหารของปลา จนมีความรู้มากพอจึงลงมือเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า แต่ด้วยความไม่พร้อมของข้อมูล และเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน การทำงานจึงติดขัดอยู่หลายครั้ง จนทีมเกือบถอดใจเลิกทำ

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


สมาย เล่าว่า ช่วงแรกเลี้ยงเท่าไรก็ตาย ทั้งที่หลักวิชาการบอกว่า ไรน้ำนางฟ้ามีอายุ 24 วัน แต่พอทดลองทำจริงแค่ 10-15 วันก็ตาย เลี้ยงกันจนท้อ และเหนื่อยมาก กระทั่งคุยกันว่าไม่เลี้ยงแล้ว เลิกทำดีกว่า แต่พอคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทีมพยายามฮึดสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดสิ่งที่ทุ่มเททำก็สำเร็จดังหวัง เมื่อพวกเธอสามารถเพาะไข่ไรน้ำนางฟ้าได้ และเลี้ยงดูจนสามารถนำไปเป็นอาหารแก่ปลาสวยงามได้จริง

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


    ผลจากการค้นคว้าหาคำตอบด้วยการลงมือทำเพื่อช่วยคลี่คลายความหนักใจให้ผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา กระทั่งเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ที่เปิดกว้างพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทุกคนแล้ว ทีมงานยังได้ส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้รุ่นน้องในวิทยาลัยเข้ามาสานต่อ ด้วยคิดว่าเมื่อพวกเธอจบการศึกษา น้อง ๆ ในวิทยาลัยจะได้มีโอกาสพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นเดียวกับพวกเธอ ที่ได้ค้นพบบทเรียนภายในอันทรงคุณค่า จนพูดได้เต็มปากว่า “ถ้าไม่ตัดสินใจทำโครงการในวันนั้น อาจไม่ถูกหล่อหลอมให้เป็นเช่นวันนี้

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


ปลา บอกว่า “โครงการนี้ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตทุกด้าน ที่สำคัญคือฝึกคิดและจัดระบบข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจ คล้ายกับการวัดความรู้ของเราว่า รู้มากแค่ไหน และรู้แล้วถ่ายทอดได้หรือไม่”  นอกจากนั้น ปลายังยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนที่พูดตรงและแรง ช่วงแรกที่มาทำงานด้วยกัน จึงมักทำให้เพื่อนโกรธบ่อย ๆ แต่เมื่อทำงานด้วยกันนานขึ้น เธอก็ค่อย ๆ ลดความตรงและแรง ส่วนเพื่อนก็เข้าใจเธอมากขึ้นว่า เวลาที่เธอพูดไม่ได้มีเจตนาร้าย แค่เป็นคนพูดไม่เพราะเท่านั้น การที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับปรับตัวเข้าหากัน เพราะต่างรู้ว่าการทำงานจะประสบผลสำเร็จได้ คนในทีมต้องรู้จักให้อภัยกัน

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


ด้านสมาย เล่าว่า เมื่อก่อนทำอะไรก็มักโดนพ่อแม่ตำหนิ เนื่องจากมีนิสัยดื้อ ติดเกม และไม่ช่วยงานที่บ้าน จึงไม่อยากคุยกับพ่อแม่ โดนแม่บ่นทุกวัน จนวันหนึ่งทนไม่ไหวจึงบอกพ่อแม่ว่า ให้หยุดว่า แล้วจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ดู จึงเริ่มเลี้ยงปลากัด ทั้งที่ไม่มีความรู้เลย แค่เห็นว่าขายได้ราคาแพงเท่านั้น สุดท้ายก็ขาดทุนหมด เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากนำความรู้ไปต่อยอดเลี้ยงปลากัดอีกครั้ง ซึ่งในที่สุดเธอก็สามารถนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการมาปรับใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด จนมีรายได้สัปดาห์ละ 1,500-2,000 บาท สามารถส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่รบกวนทางบ้าน และปรับความเข้าใจกับพ่อแม่ได้สำเร็จ แต่ที่ดียิ่งกว่าคือโครงการนี้ทำให้เธอได้ค้นพบเป้าหมายชีวิตในอนาคต นั่นคือการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายปลาสวยงามนั่นเอง

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


ส่วน เนย์ กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า โครงการนี้พลิกชีวิตของเธอไปตลอดกาล  “เดิมหนูเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน แต่เมื่อปลามาชวนทำโครงการก็อยากลอง ครั้งแรกที่ไปนำเสนอโครงการมีแค่หนูกับสมาย กังวลและกลัวจนนั่งร้องไห้ เพราะปลารู้เรื่องโครงการมากที่สุด แต่ติดฝึกงาน ไม่ได้ไปด้วย ตอนคณะกรรมการซักถาม จำได้ว่ามือสั่นมาก พยายามตอบขั้นตอนที่ได้ทำ ปรากฏว่าตอบได้ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หนูกล้าเข้าสังคม กล้าแสดงออก และกล้าพบปะผู้คนมากขึ้น”

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล


    จากความสงสัยใคร่รู้และอยากช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลาสวยงาม จนเกิดเป็นโครงการไรน้ำนางฟ้า ที่สามารถสร้างองค์ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าได้แล้ว ผลจากการทำโครงการยังก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ ส่งต่อความรู้แก่ส่วนรวมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และยังทำให้พวกเขาค้นพบเส้นทางเดินของชีวิตในอนาคต ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของกระบวนการ “การเรียนรู้จากการลงมือทำ” ที่เพียงแค่ผู้ใหญ่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้ก็สามารถสร้างการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งความรู้เชิงวิชาการ และทักษะชีวิต ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ดี และกลายเป็นพลเมืองดีที่ลุกขึ้นมาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของประเทศต่อไป

ภาพ : มูลนิธิสยามกัมมาจล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ คุณสุวิภา ตรีสุนทรรัตน์ มูลนิธิสยามกัมมาจล
โทร. 08-7806-3782

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Do Good
  • 4 Followers
  • Follow