Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พลังเยาวชน Gen A สร้างโมเดล “สานสายใยเด็กพลัดถิ่น”

Posted By Do Good | 02 มี.ค. 60
3,644 Views

  Favorite

    อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูเชื่อมโยงประเทศไทยไปสู่เมืองย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์ ส่งผลให้มีแรงงานทั้งไทยและเมียนมาร์เข้ามาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงแรงงานไทยใหญ่ กระเหรี่ยง คนพลัดถิ่นและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แน่นอนว่า เมื่อมีคนต่างเชื้อชาติมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ปัญหาจึงเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ปัญหาสุขภาวะ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างสังคมของกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

พลังเยาวชนในโครงการ โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

   ด้วยเหตุนี้ โครงการ “รู้รักษ์แผ่นดินไทย สานสายใยคนพลัดถิ่น เสริมสร้างชีวิน ท้องถิ่นร่มเย็น” โดยกลุ่มเยาวชนหัวใจอาสาแห่งโรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 28 โครงการจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ Gen A (Empower Active Citizen) 2016

ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อาทิ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงพลังสร้างสรรค์สังคมผ่านการทำโครงการจิตอาสา ตามศักยภาพที่ตนมี อันถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น

    โครงการ “รู้รักษ์แผ่นดินไทย สานสายใย คนพลัดถิ่น เสริมสร้างชีวิน ท้องถิ่นร่มเย็น” โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ. ตาก เริ่มต้นจากการมองเห็นและหยิบยกปัญหารอบตัวมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์กิจกรรมจิตอาสา ด้วยแนวคิดที่ว่า “ปัญหาจะไม่มีวันหมดไป ถ้าไม่มีใครคิดที่จะลุกขึ้นมาแก้ไข” น้อง ๆ เยาวชนกลุ่มนี้จึงเริ่มลงพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อสำรวจปัญหาของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยและผู้พลัดถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในอำเภอแม่สอด ซึ่งปัญหาที่ได้พบก็คือ ปัญหาด้านการใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร ปัญหาด้านสุขภาวะ ปัญหาด้านการไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของกฎจราจร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้บั่นทอนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยกับผู้พลัดถิ่น

เด็ก ๆ ผู้พลัดถิ่นเรียนรู้เรื่องกฎจราจร โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด


    และเพื่อให้คนไทยกับผู้พลัดถิ่นเหล่านั้นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พลัดถิ่นเหล่านั้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทยให้มากขึ้น น้อง ๆ เยาวชนจิตอาสา จึงได้จัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทยและผู้พลัดถิ่น โดยการสร้าง “Relationship Model” เป็นแกนกลางช่วยแก้ปัญหา 3 ด้าน ผ่าน 5 กิจกรรม “Friend day” ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านการดำเนินชีวิตและจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีต่อกัน

บรรยากาศการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ผู้พลัดถิ่น โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด


    นายพงศธร ยะหัวฝาย หรือ น้องบี นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนสรรพวิทยาคม หัวหน้าโครงการฯ  กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่มักจะมองกลุ่มแรงงานที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเพียงแค่กลุ่มคนชายขอบที่แค่เข้ามาใช้แรงงานหาเงิน โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ วิถีชีวิตที่จะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะการไม่เข้าใจกฎหรือเครื่องหมายจราจร ปัญหาด้านสุขภาวะและโรคต่าง ๆ ที่อาจจะแพร่เชื้อโรคไปยังคนรอบข้างได้ เมื่อพบปัญหาที่เกิดขึ้นสมาชิกโครงการจึงได้ร่วมกันออกแบบโมเดลในการทำงาน โดยได้เริ่มทำโครงการกับเด็กพลัดถิ่นที่ศูนย์การเรียนรู้ปารมี ซึ่งมีเด็กพลัดถิ่นอยู่ประมาณ 200 คน และได้มีการขยายผลการจัดกิจกรรมไปยังโรงเรียนอื่น ๆ โดยรอบ”

    สำหรับกิจกรรมที่จัดเรียกว่า “กิจกรรม Friend day” แบ่งเป็น Friend day Communication เป็นการเรียนรู้ภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และจัดทำห้องสมุด Friend day Health 1 และ 2 เป็นการรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมทำสบู่ สิ่งที่ใช้รักษาความสะอาดในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย ชุมชน และการคัดแยกขยะ Friend day Society เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎจราจร สัญลักษณ์ที่ใช้ในการจราจรเบื้องต้น Friend day Thai Empire เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสุขภาวะ โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด


    น้องบี เล่าต่ออีกว่า หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมไปทุกกิจกรรมแล้ว จะมีวัดผลด้วยการทบทวนความรู้อีกรอบ ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น เด็ก ๆ ผู้พลัดถิ่นมีการไหว้ การทักทาย เมื่อเจอพี่ ๆ ใช้การสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาวะ การรักษาความสะอาด รวมถึงเรื่องกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง และในฐานะที่ตนเป็นคนอำเภอแม่สอด ที่อยากมีส่วนร่วมในการลดปัญหา รู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่ตนมีอยู่ไปช่วยแก้ไขปัญหาของผู้พลัดถิ่นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เด็ก ๆ พลัดถิ่นเรียนรู้เรื่องภาษาไทย โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด


    ด้าน เด็กหญิงซอว ซินพุ หรือ น้องปลา อายุ 11 ปี นักเรียนในศูนย์การเรียนรู้ปารมี บอกเล่าว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่มีพี่ ๆ เยาวชนจิตอาสามาจัดกิจกรรมให้ความรู้ทุกอาทิตย์ ซึ่งกิจกรรมที่ตนชื่นชอบเป็นพิเศษคือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาไทย เพราะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และอยากให้พี่ ๆ เยาวชนจิตอาสามาจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้อีก เพื่อเป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนไทยและผู้พลัดถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

น้อง ๆ เยาวชนจิตอาสา ส่งมอบความสุขให้แก่เด็กผู้พลัดถิ่นเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ โดย บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด


    การที่คนไทยและผู้พลัดถิ่นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั้น ผู้พลัดถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักบริบทของประเทศไทย ในเรื่องของการสื่อสาร สุขภาวะ และกฎจราจร ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสานสายใยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และทำให้คนทุกเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขบนผืนแผ่นดินไทย

 

บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
สิทธิ วัฒนายากร   โทรศัพท์ 0-2610-2384
สโรบล แสงคำ      โทรศัพท์ 0-2610-2375

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Do Good
  • 4 Followers
  • Follow