Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น "โรคลมชัก"

Posted By Plook Parenting | 18 ม.ค. 66
7,223 Views

  Favorite

เมื่อลูกมีอาการชัก มักสร้างความตระหนกตกใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย ซึ่งอาการชักเป็นอาการแสดงของโรคหลาย ๆ ชนิด พบได้บ่อยโดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะสมองของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดปกติออกมาในสมอง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการชัก เกร็งกระตุกขึ้นได้

 

 

สาเหตุมักเกิดจากการเจ็บป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ปวดบวม หูอักเสบ ท้องเสีย และมีภาวะน้ำตาลหรือเกลือแร่ในเลือดต่ำส่วน โรคลมชัก (Epilepsy) คือ อาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สามารถเกิดได้จากความผิดปกติของเกลือแร่ ภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง หรือมีไข้สูง โรคลมชักเป็นปัญหาทางระบบประสาทที่พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 5 ปีแรก หลังจากนั้นความเสี่ยงการเกิดโรคลมชักจะลดลง ซึ่งอาการชักที่เกิดขึ้นในครั้งแรก มีโอกาสจะเกิดซ้ำได้อีก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตรวจพบมีความผิดปกติของคลื่นสมอง โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง ได้รับอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อสมอง มีประวัติพัฒนาการล่าช้า หรือเคยมีประวัติไข้สูงแล้วชัก และเกิดจากกรรมพันธ์ุ สำหรับอาการชักที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวยังไม่แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก 

 

ภาพ Shutterstock

                      

ลักษณะอาการ

     • อาการชักทั้งตัว มีการกระตุกทั่วร่างกาย เวลาชักจะเกร็งตัวประมาณ 1-2 นาที

     • อาการชักเฉพาะอวัยวะบางส่วนของร่างกาย

     • อาการชักเหม่อนิ่ง เด็กจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก มีอาการชักไม่เกิน 30 วินาทีแล้วจะหายเอง สามารถกลับมาเล่นและพูดคุยได้ตามปกติ

เด็กแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการชักต่างกัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว โดยส่วนมากมักจะรับมือกันไม่ถูก หลายครั้งที่ความช่วยเหลือกลายเป็นอันตรายตามมาหากทำไม่ถูกวิธี

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักและอาการชักของลูก เพื่อที่จะได้รับมืออย่างถูกต้อง

 

วิธีการ

1. เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการชัก อันดับแรกเลย คือตั้งสติให้ดี ควบคุมอารมณ์เตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า

 

2. จับเด็กนอนราบก่อน จากนั้นตะแคงตัวเด็กไปด้านข้างเพื่อไม่ให้ลิ้นและน้ำลายไปอุดทางเดินหายใจ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น หากพบว่าร่างกายแข็งเกร็ง อย่าพยายามนวด ง้าง ดึง และหากพบว่าเด็กมีไข้ ให้รีบลดความร้อนด้วยการเช็ดตัวให้ไข้ลด

 

3. คลายเสื้อผ้าที่รัดออก กันคนมุงออกไปห่าง ๆ พยายามนำตัวเด็กไปยังที่โล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท และควรอยู่ให้ห่างของมีคม เช่น มุมโต๊ะ หรือวัตถุต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ

 

4. ห้ามนำอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งของยัดใส่เด็กขณะชักเด็ดขาด นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายในช่องปาก เช่น ฟันหักอุดหลอดลม สำลัก อาเจียน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

5. ถ้าเด็กชักสั้น ๆ ไม่กี่นาทีแล้วหายกลับมาเป็นปกติดีทุกอย่าง อาจพาไปปรึกษาแพทย์ในวันรุ่งขึ้นได้ แต่หากมีอาการชักนานเกิน 5 นาที หรือมีอาการชักแล้วหยุดแล้วชักอีกโดยที่ยังไม่กลับมารู้สึกตัวในระหว่างชัก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

โปรดจำไว้เสมอหลังจากที่ลูกมีอาการชักทุกครั้ง อย่าละเลย ต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะได้ทำการรักษา หรือเลือกยากันชักให้เหมาะสมกับรูปแบบของการชัก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะการเปิดโอกาสให้เด็กชักซ้ำ ๆ นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อสมองของเด็กแล้ว ยังทำให้อาการทวีความรุนแรงขึ้นจนยากที่จะควบคุมอีกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow