Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปวดท้อง ร้องกวน ระวัง ... โรคลำไส้กลืนกันในเด็ก

Posted By Plook Parenting | 16 ก.พ. 60
4,289 Views

  Favorite

โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) คือภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรงของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย (ลักษณะเหมือนการถลกแขนเสื้อขึ้น) จัดเป็นโรคร้ายแรง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว พบได้บ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุประมาณ 3 เดือน ถึง 2 ปี และมักเกิดขึ้นในเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรงดี

 

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน เพียงแต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แล้วทำให้ต่อมน้ำเหลืองในลำไส้เล็กส่วนปลายโตขึ้น เป็นจุดนำให้ลำไส้เล็กมุดเข้าไปในโพรงลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการอุดตันและการขาดเลือดของลำไส้ส่วนที่ถูกกลืน

 

ภาพ ShutterStock

 

อาการ

1. เด็กจะมีอาการปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง ตัวซีด เหงื่อออกตามร่างกาย

2. ร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15 - 30 นาที แล้วก็จะเริ่มเริ่มร้องอีก โดยเวลาที่ร้องไห้เด็กจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง

3. มีอาการท้องอืดและอาเจียน ระยะแรกสิ่งที่อาเจียนจะเป็นนมหรืออาหารที่ลูกกินเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปน

4. อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก

5. ในบางรายอาจจะมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย และประมาณร้อยละ 50 – 70 ของผู้ป่วย จะคลำเจอก้อนในท้อง

 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการร้องกวนมากผิดปกติ บวกกับเด็กมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกันมี 2 วิธี คือ การทำอัลตราซาวน์ (Ultrasound) และการตรวจด้วยการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี (Barium Enema) หากพบภาวะลำไส้กลืนกันเด็กจำเป็นต้องถูกรักษาตัวในโรงพยาบาล งดน้ำและอาหาร โดยจะได้รับแต่น้ำเกลือแร่ และยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด รวมทั้งใส่สายสวนทางจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อระบายลมและอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร

 

วิธีการรักษา

สามารถทำการรักษาได้ 2 วิธีคือ

1. ดันลำไส้

โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้การสวนด้วยสารทึบรังสีหรือใช้ลมเป็นตัวดัน หรือใช้แป้งสวนโดยรังสีแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อให้ส่วนที่ม้วนตัวนั้นยืดคลายออกมาเป็นปกติ ถ้าสำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เด็กส่วนใหญ่ก็จะสามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1 - 2 วัน และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2 - 3 วัน แต่หากมีลำไส้กลืนกันมาเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง จนมีการเน่าตายของลำไส้จากการขาดเลือด หรือใช้วิธีการรักษาโดยดันลำไส้แล้วแต่ไม่สำเร็จ คุณหมอจะทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต่อไป

2. การผ่าตัด

คุณหมอจะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน แต่ถ้าอาการรุนแรงถึงขั้นมีการเน่าตาย หรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้วก็จำเป็นต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออกและทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน ซึ่งวิธีการนี้ อาจใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าวิธีดันลำไส้ แต่ในที่สุดแล้วเด็กก็จะสามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติหลังจากนั้นภายใน 3 - 5 วัน

 

สิ่งสำคัญในการรักษาโรคลำไส้กลืนกัน คือระยะเวลาในการเกิดโรค ซึ่งอาการในระยะแรก ๆ ลูกอาจเพียงแค่อาเจียนและถ่ายอุจจาระเหลว โดยที่ยังไม่มีเลือดปน ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นเพียงลำไส้อักเสบธรรมดา จึงเพียงแค่ให้กินยาฆ่าเชื้อ โดยไม่ได้รีบพาลูกไปพบแพทย์ กว่าจะรู้ว่าลูกผิดปกติก็ต่อเมื่อมีอาการหนักจนลำไส้เริ่มขาดเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปน มีอาการของโรคลำไส้กลืนกันแล้ว ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกร้องกวนหนักมากผิดปกติ มีอาการปวดท้องจนตัวเกร็งควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อที่จะได้ทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow