Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไข้เลือดออก ... ภัยร้ายจากยุงลาย

Posted By Plook Parenting | 16 ก.พ. 60
3,824 Views

  Favorite

ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever – DHF) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการป่วยตั้งแต่เป็นไข้จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ตามระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ

 

ไข้เลือดออกมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน (DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4) โดยมียุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค การติดเชื้อจะเริ่มจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นต่อ ทำให้เชื้อไวรัสเดงกี่เข้าไปเกาะกับเซลล์เม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด ซึ่งเม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารออกมาต่อต้าน ทำให้เกิดอาการไข้ ในขณะเดียวกันเกล็ดเลือดก็มีปริมาณลดลง ทำให้แผลที่เกิดจากหลอดเลือดฝอยไม่แข็งตัว และทำให้มีเลือดออกภายในร่างกาย

 

ภาพ Pixabay

 

 

อาการของโรคไข้เลือดออก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน 39-41 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นไข้สูงลอยตลอดเวลา (รับประทานยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว กระหายน้ำ ซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจพบอาการไข้สูงร่วมกับอาการชักได้

 

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติ

พบในช่วงวันที่ 3–7 มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกี่ที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4  โดยอาการไข้จะเริ่มลดลง ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่ากำลังจะหายจากไข้ แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก บางรายจะมีอาการท้องอืดมากขึ้น ปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว และมีความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อค ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว คลำชีพจรไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เนื่องจากเส้นเลือดเปราะ หรืออาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบ ๆ ถ้าเลือดออกมักจะทำให้เกิดภาวะช็อครุนแรงและผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ในระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ต่อไป

 

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหาร แล้วอาการต่าง ๆ ก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 7-10 วัน (หลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 มาแล้ว) ถ้ารวมเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นไข้จนแข็งแรงดีก็จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ส่วนในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็หายได้เอง ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน หรือบางรายอาจนานเป็น 10 วันก็ได้

 

วิธีการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก

1. ให้ผู้ป่วยพักผ่อนในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และหมั่นเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อย ๆ บริเวณหน้า ลำตัว แขน และขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง และขาหนีบ ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที  ระหว่างการเช็ดตัวถ้าผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ด แล้วให้ผู้ป่วยห่มผ้า พอหายหนาวสั่นจึงค่อยเช็ดต่อ แล้วให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่ไม่หนามากหรือห่มผ้าบาง ๆ 

 

2. ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้เวลามีไข้สูง ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามตัว โดยให้กินห่างกันอย่างน้อย 4  ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นเด็ดขาด โดยเฉพาะยาแอสไพริน ยาซองลดไข้ทุกชนิด หรือยาพวกไอบรูโพรเฟน เพราะอาจจะทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือตับวายได้

 

3. ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อและไม่รับประทานยาอื่นที่ไม่จำเป็น 

 

4. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อย ๆ บ่อย ๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว ควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น นม ไอศกรีม ข้าวต้ม งดเว้นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือสีน้ำตาล

 

5. รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ และไปตรวจเลือดตามนัดทุกครั้ง

 

 

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง การรักษาจึงรักษาไปตามอาการ หากติดเชื้อไม่รุนแรงมากก็สามารถหายได้เอง ซึ่งหากมีการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงของอาการก็จะสามารถพ้นจากระยะวิกฤติได้ แต่หากได้รับเชื้อในระดับรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน รักษาความสะอาดเรียบร้อย ไม่ให้มีกองสิ่งของหรือมุมมืดที่ให้ยุงอาศัยได้ รวมถึงแหล่งน้ำขังต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก็ไม่ควรมีในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ควรระวังไม่ให้ยุงกัดลูกโดยการติดมุ้งลวด หรือมีมุ้งครอบเวลานอน ก็พอจะช่วยให้ปลอดภัยจากยุงลายได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow