Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรเมื่อลูกชอบ “พูดโกหก”

Posted By Plook Parenting | 15 ก.พ. 60
3,684 Views

  Favorite

พฤติกรรมการโกหกของเด็กเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ซึ่งอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เช่น ในเด็กช่วงอายุ 2-6 ปี อาจพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรคือจินตนาการ

 

ในเด็กบางคนอาจโกหกเพื่อเล่นสนุก หรือทดสอบว่าพ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าเขาพูดไม่จริง สำหรับเด็กในวัย 4 ปีขึ้นไป เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มรู้จักอะไรถูกอะไรผิด บางครั้งโกหกเพื่อปิดบังความผิด หรือโยนความผิดนั้นให้พ้นตัวไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ แต่การโกหกของเด็กที่เกิดขึ้นบ่อยเกินไป อาจแสดงว่าลูกกำลังมีปัญหาบางอย่าง เช่น ปัญหาทางอารมณ์ และหากมีพฤติกรรมโกหกติดไปจนโต อาจจะมีพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง ทั้งการลักขโมย หลอกลวง ทำลายของสาธารณะ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นอาชญากรได้ในที่สุด ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบ ควรรีบหาวิธีในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น

 

ภาพ multiplemayhemmamma.com

 

วิธีการ

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความไว้วางใจและรับฟังลูกเสมอ

เพื่อเวลาที่ลูกทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าบอกและกล้าปรึกษากับพ่อแม่ แทนที่ลูกจะกลัวความผิดและใช้วิธีการโกหกหรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการผิด ๆ

 

2. ไม่ควรลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิดหรือจับได้ว่าลูกโกหก

เพราะจะทำให้ลูกหวาดกลัวการถูกลงโทษ ทำให้เวลาที่ลูกทำผิดเขาจะใช้วิธีโกหกหรือปิดบัง เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกลงโทษ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ เด็กอาจใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ้นความผิดติดเป็นนิสัยไปจนโต วิธีที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกันด้วยเหตุผล ถามถึงสาเหตุที่ลูกโกหก และหากจำเป็นต้องลงโทษจริง ๆ ควรใช้วิธีอื่นแทนการตีหรือดุด่า เช่น ลดค่าขนม งดการพาไปเที่ยว หรืองดสิ่งที่ลูกชอบ

 

3. ไม่ควรจับผิดลูกมากจนเกินไป

เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกขาดอิสระ หลีกเลี่ยงการซักถามที่แสดงความไม่ไว้ใจลูก หรือกดดันคาดคั้นให้ลูกพูดจนมากเกินไป เด็กอาจจะใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม หรือเพื่อหลบหลีกสถานการณ์ต่าง ๆ

 

4. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

ด้วยการไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เพราะเข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้

 

5. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ 

เช่น โรคซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษา และควรทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งการที่เด็กโกหกอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงเพราะอาการป่วย หากสงสัยว่าลูกมีอาการทางจิต ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็ก เช่น คิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเองได้

 

สุดท้ายแล้ววิธีการรับมือลูกชอบโกหกที่ดีที่สุด คือการที่คุณพ่อคุณแม่เปิดใจรับฟังสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสาร  หากเด็กทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควรทำและควรทำ ที่สำคัญต้องสอนให้ลูกรู้จักพูดคำว่า “ขอโทษ” เมื่อผิด และเมื่อลูกขอโทษแล้ว ก็ควรจะให้อภัยและไม่ควรพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำ ๆ อีก

 

ภาพปก http://www.babysitting.academy/5-things-you-should-do-when-your-kids-lie/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow