Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หุ่นยนต์กับการรับรู้อารมณ์ของมนุษย์

Posted By Plook Creator | 10 ก.พ. 60
6,179 Views

  Favorite

ค.ศ. 1750 - 1850 คือช่วงที่ทำให้เราได้รู้จักเครื่องจักร การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดอุปกรณ์ทุ่นแรง เพิ่มผลผลิตในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกมาให้ปริมาณมาก สินค้าแต่ละชนิดไม่ใช่ Hand-made ทำมืออีกต่อไป คุณภาพสินค้าแต่ละชิ้นเป็นไปตามมาตรฐานเหมือน ๆ กัน อย่างไรก็ตามการปฏิวัติทางเศรษฐศาสตร์และการผลิตนี้เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรก ที่นำเราไปสู่การใช้เทคโนโลยีมาเพื่อทดแทนการทำงานของมนุษย์

 

ภาพ : Pixabay

 

ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในทุกแง่มุมของมนุษย์ ทำให้อารยธรรมของเราพัฒนาไปอีกขั้น และนำไปสู่แนวคิดเรื่องหุ่นยนต์ เครื่องจักรที่ทำได้มากกว่าการทำตามคำสั่ง เครื่องจักรที่อาจจะหน้าตาใกล้เคียงกับคนเรา สามารถโต้ตอบทั้งในด้านการสื่อสารในการทำงาน การทำความเข้าใจ การคิดอ่าน การวิเคราะห์ ใช้ความรู้ที่หลากหลายมาช่วยคิด รวมไปถึงการทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคน
 

ทุกวันนี้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาทางด้านความรู้ของคนเราส่งผลให้เราคิดค้น และพัฒนาให้มันเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การใช้ภาษา เทคนิคต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาตามแต่เราจะวางแผนให้มันเป็น ทุกวันนี้เราแข่งหมากรุกแพ้เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์แล้ว จำแนกสิ่งที่เห็นได้ มีความสามารถที่จะตอบโต้เป็นภาษาที่หลากหลายกว่าร้อยภาษา แน่นอนว่ามันแปลได้ด้วย เราคาดว่ามันคงจะค่อย ๆ ชนะเราในอีกหลาย ๆ เกมส์ หลาย ๆ เรื่อง หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องยังมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าความสามารถที่มันทำได้ทั้งหมดในตอนนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือโปรแกรมที่เราสอนมันให้ทำ แต่มันก็มีการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับเนื้อหาและความรู้ได้เอง และความใฝ่ฝันสูงสุดของนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คน คือการทำให้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรเหล่านี้รับรู้ ความรู้สึก Feeling และอารมณ์ Emotion ของคนได้

การที่หุ่นยนต์สามารถเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของเราจะทำให้มันสามารถอ่าน หรือเข้าใจเราได้ดีขึ้น เข้าใจเราได้โดยไม่ต้องบอกว่าอยู่ในอารมณ์ไหน ความรู้สึกได้ เพราะเรื่องง่าย ๆ อย่างคำพูดเพียงไม่กี่คำ หรือไม่กี่ประโยค ก็อาจสื่อสารไปคนละทาง ประโยคเดียวกันอาจจะมีความหมายแตกต่างกันหากประมวลเอาน้ำเสียงและอารมณ์เข้าไปด้วย แต่ในทางกลับกันมันก็อาจจะปั่นหัวเราได้เช่นกัน
 

ภาพ : Pixabay

 

แต่อารมณ์ไม่ใช่ศาสตร์แห่งตัวเลข ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ อารมณ์สามารถอธิบายได้ด้วยปรัชญาและจิตวิทยามากกว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ง่าย มันไม่ใช่ขาวหรือดำ ไม่ใช่หนึ่งหรือศูนย์ ไม่ใช่ถูกหรือผิด แต่อารมณ์มักเปรียบเทียบด้วยความหลากหลายของสีสัน เป็นสีเทา เป็นทศนิยม เป็นความก้ำกึ่ง และมักไม่ชัดเจน อารมณ์แปรผันตามประสบการณ์ ภูมิหลัง พื้นฐานทางความคิดอ่าน สภาวะทางจิตใจ เกี่ยวพันกับนิสัย บุคลิกภาพและแรงจูงใจ หากแต่ก็เกี่ยวพันกับฮอร์โมน สารประกอบทางเคมีในร่างกาย การกระตุ้นของสารสื่อประสาทต่าง ๆ แล้วคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าใจสิ่งซับซ้อนอย่างอารมณ์ได้หรือไม่ แต่มันอาจจะยังเป็นการเดินทางอีกยาวไกล เพราะแม้แต่คนเราเองยังเข้าใจอารมณ์คนอื่นได้ยาก บางความรู้สึกและบางอารมณ์มันไม่สามารถอธิบายได้ด้วย ดัชนีทางเคมี สัญลักษณ์ หรือคำพูด แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรซึ่งเข้าใจความหมายของภาษาตัวเลข 1 และ 0 เท่านั้นจะเข้าใจอารมณ์ของเรา

เราจะเปลี่ยนอารมณ์เป็นเลขฐานสองได้อย่างไร ดร. พอล เอ็กแมน Dr. Paul Ekman ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์และได้สรุปออกมาเป็นอารมณ์พื้นฐานซึ่งเห็นเพียงแค่หน้าตาก็สามารถรับรู้ได้ไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมไหน ชนชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์อะไรก็สามารถรู้ได้จากหน้าตา เช่น ยิ้ม โกรธ ดีใจ เสียใจ เป็นต้น ซึ่ง วิทยาการสมัยใหม่ในปัจจุบันสามารถตรวจจับรูปหน้าและวิเคราะห์ลักษณ์การวางตัวของอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าได้ และนำมาจับคู่กับสภาพอารมณ์ที่ควรจะเป็น กอปรกับความสามารถในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ Machine Learning ทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้อารมณ์ของคนเราได้
 

ภาพ : Pixabay

 

ท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรหากหุ่นยนต์รู้ถึงอารมณ์ของเรา แน่นอนว่าเป้าหมายในปัจจุบันคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลที่สามารถสื่อถึงอารมณ์ของเราได้ อุปกรณ์ต่าง ๆ คงจะตอบสนองเราได้ดีและเหมาะสมมากขึ้น รายการทีวีอาจจะเปลี่ยนเป็นรายการตลกหากรู้ว่าผู้ชมกำลังเศร้าใจ มีการแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลหรือศูนย์ประสานงานฉุกเฉินหากคนในบ้านอยู่ในสภาวะหดหู่อย่างรุนแรงจนอาจจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่อยู่ตัวคนเดียว หรือผู้สูงวัยที่ต้องการคนปลอบประโลมและเอาใจใส่


ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดเห็นจะเป็นการที่ Facebook มีอัลกอริทึ่มหรือเครื่องมือที่ตรวจจับความผิดปกติทางอารมณ์จากโพสต์ของผู้ใช้ซึ่งอาจแสดงถึงความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะกระทำอันตรายต่อตัวเองหรือฆ่าตัวตาย และตอบสนองในการนำเสนอข้อมูลเพื่อป้องกัน หรือชักชวนให้เข้าโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้พ้นจากสภาวะทางอารมณ์เช่นนั้น แต่การที่จะตรวจจับอารมณ์และเช็คกับข้อมูลแวดล้อมจำนวนมากเพื่อวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่จะถูกจัดเก็บและวิเคราะห์จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดอยู่ตามตัว กล้อง และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ มันจึงยังเป็นเหมือนหนังเรื่องยาวที่ยังต้องดำเนินต่อไป ทั้งการพัฒนาความสามารถนของคอมพิวเตอร์ และประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและการเก็บข้อมูล จนกว่าจะถึงตอนนั้น "คุณคงต้องฝึกอ่านใจอ่านอารมณ์คนข้างตัวไปก่อน ขอให้โชคดี"


ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow