Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกท้องผูก

Posted By Plook Parenting | 03 ก.พ. 60
6,264 Views

  Favorite

อาการท้องผูกในเด็กเป็นปัญหาหนักใจอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงพบเจอ ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ถ้าปล่อยให้ลูกท้องผูกไปนาน ๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ได้ ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการท้องผูกของลูกให้ดี เพื่อจะได้หาวิธีการป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

อาการท้องผูก

ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็ง ๆ หรือที่เรียกกันว่า ลูกกระสุน หรือถ่ายแข็งเป็นก้อนใหญ่หรือมีร่องลึกที่ผิวอุจจาระ เวลาถ่ายอุจจาระเบ่งด้วยความยากลำบาก ทำให้มีอาการปวดท้อง จุกเสียด เนื่องจากอุจจาระตกค้างอยู่ในร่างกาย หรือบางครั้งมีเลือดปนออกมาด้วย นําไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ทําให้มีบาดแผลที่ทวารหนัก 

 

ลักษณะของอึที่พึงสังเกต

 

 

ระยะที่ 1 อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็งมาก (เหมือนลูกกระสุน)

ระยะที่ 2 อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแต่อยู่ติดกัน และค่อนข้างแข็ง

ระยะที่ 3 อุจจาระมีลักษณะคล้ายไส้กรอก มีร่องลึกที่ผิว ค่อนข้างนิ่ม

ระยะที่ 4 อุจจาระมีลักษณะคล้ายไส้กรอก แต่นุ่มและลื่น

ระยะที่ 5 อุจจาระเป็นก้อนขนาดค่อนข้างเล็ก นุ่ม

ระยะที่ 6 อุจจาระมีลักษณะฟูและยุ่ย ไม่เป็นก้อน ค่อนข้างเละ

ระยะที่ 7 อุจจาระมีลักษณะเหลว ไม่มีของแข็งปน

 

เมื่อเด็กรู้สึกเจ็บเวลาถ่าย เด็กก็จะกลั้นอุจจาระหรือหยุดเบ่งโดยไม่รู้ตัว โดยปกติแล้วความถี่ในการถ่ายอุจจาระของเด็กจะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ทารกแรกเกิดถ่ายอุจจาระวันละ 4-8 ครั้ง ช่วง 2 เดือน อาจถ่ายลดลง เป็น 2-4 ครั้งต่อวัน เมื่อโตขึ้นความถี่ในการถ่ายอุจจาระจะลดลง และไม่จำเป็นว่าความถี่ในการถ่ายอุจจาระลดลงจะทำให้ท้องผูกเสมอไป เช่น เด็กบางคนอาจถ่ายแค่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ลักษณะของอุจจาระ นิ่มไม่แข็ง ถ่ายในปริมาณที่ปกติ ก็ถือว่าไม่ใช่อาการท้องผูก

 

ภาพ ShutterStock

 

สาเหตุของอาการท้องผูก

     • ในเด็กทารก อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นกับเด็กที่ดื่มนมผง หรืออาหารเสริม

     • ดื่มน้ำน้อย

     • กลั้นอุจจาระ เนื่องจากเด็กอาจห่วงเล่น พอรู้สึกปวดหรือถึงเวลาขับถ่ายกลับไม่ยอมถ่าย

     • ไม่ชอบกินผักและผลไม้ ในผักผลไม้เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง ซึ่งช่วยในเรื่องการขับถ่าย

 

แนวทางการป้องกันและวิธีแก้ไข

1. ในเด็กทารก ควรเลือกให้ดื่มนมแม่จะดีที่สุด เนื่องจากในนมแม่มีสารอาหารที่ดี ทำให้ระบบการขับถ่ายของเด็กเป็นไปอย่างปกติ

2. ให้เด็กดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวันตามที่ร่างกายต้องการได้รับ

3. ฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน เมื่อเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป ควรฝึกนั่งกระโถนหรือชักโครก ไม่ควรดุหรือทําโทษ เพราะจะทําให้เด็กเครียด มีความรู้สึกไม่ดีกับการขับถ่ายจนทำให้เกิดการต่อต้านได้

4. ควรให้คําชมเชยเมื่อเด็กให้ความร่วมมือที่ดีในการฝึกถ่ายอุจจาระ เช่น บอกได้เมื่อถึงเวลาอยากถ่าย เป็นต้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow