Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อันตราย ! ภัยรังสีจากนอกโลก

Posted By Plook Creator | 27 ม.ค. 60
11,324 Views

  Favorite

แม้ว่าหลาย ๆ คนอยากบุกออกไปนอกอวกาศ สถานที่เวิ้งว้างไกลโพ้น เต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับมากมายท่ามกลางความมืดมิด มีโอกาสมากมาย สถานที่แปลกใหม่รอการสำรวจอยู่ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกไปนอกอวกาศ

 

ภาพ : Pixabay

 

นับตั้งแต่การเดินทางหนีแรงโน้ม่ถ่วงของโลก ฝ่าชั้นบรรยากาศออกไป พบกับความอันตราย เช่น อุกาบาตที่พุ่งเข้าใส่ สภาวะไร้น้ำหนัก การขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีทั้งหมดที่มนุษยชาติมี เพื่อจะอาศัยอยู่ในอวกาศหรือลงหลักปักฐานบนดาวเคราะห์ดวงอื่น มีสิ่งที่น่าสนใจรอการค้นหาอยู่มากมาย มากพอ ๆ กับอันตรายที่อาจพบเจอเช่นกัน แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดสิ่งหนึ่ง กลับเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น รังสี
 

รังสี คืออะไร ? Radiation ไม่ใช่สิ่งใหม่ เรารู้จักมันมานาน มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นคลื่นแม่เหล็ก เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดเช่น ความร้อนหรือแสงสว่างที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์ คลื่นไม่โครเวฟที่ออกมาจากแหล่งกำเนิดอย่างเตาไมโครเวฟ หรืออาจจะเป็นรังสีแกมมา อัลฟ่า ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นรังสี คลื่นแม่เหล็กนี้มีความแตกต่างกันออกไปตามพลังงานที่มันมีในตัว
 

ความถี่และความยาวคลื่นที่แตกต่างกันทำให้มีพลังงานต่างกัน และแน่นอนว่ามีชื่อเรียกต่างกัน ดวงตาของเราเองก็สามารถตรวจจับหรือมองเห็นได้แค่บางช่วงคลื่นเท่านั้น เรียกได้ว่ารอบ ๆ ตัวเราเองมันมีรังสีอยู่มากมาย เพียงแค่เรามองไม่เห็น รังสีที่สามารถจะทำอันตรายเราได้หรือรังสีที่มีพลังงานและไม่เสถียร กล่าวคือ รังสีที่สามารถก่อประจุได้ Ionizing Radiation รังสีจำพวกนี้เกิดจากอะตอมหรือธาตุที่ไม่เสถียรเรียกว่า ธาตุกัมมันตรังสี ที่เราใช้ประโยชน์จากมันในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั่นเอง

 

ภาพ : Pixabay

 

รังสีที่อยู่ในอวกาศน่าอันตรายต่อตัวเรา เพราะว่าพวกเราไม่รู้จัก ไม่ได้ปรับตัวให้สามารถทนทานรังสีเหล่านั้นได้ เพราะว่า เรามีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กโลกซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะป้องกันคอยปกป้องสิ่งมีชีวิตในโลกให้รอดพ้นจากรังสีเหล่านั้น ตัวอย่างของรังสีที่เป็นภัยในอวกาศ เช่น Cosmic Ray รังสีคอสมิก ซึ่งเป็นรังสีที่มีพลังงานสูงมาก ถูกปล่อยออกมาจากดาวฤกษ์ต่าง ๆ มันสามารถเดินทางมาได้ไกลพร้อมกับพลังงานมหาศาล มีความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสง และสามารถทำให้อนุภาคอื่น ๆ ถูกกระตุ้นและไม่เสถียรได้
 

หากจะพูดบ้าน ๆ ก็คือหากเราได้รับรังสีคอสมิกมาก ๆ ยีนส์หรือดีเอ็นเอของเราก็อาจจะเปลี่ยนไป เกิดการผ่าเหล่า ผิดปกติ รวมถึงอาจจะเป็นการกระตุ้นให้เป็นมะเร็งได้ แม้ว่ารังสีคอสมิกจะอยู่ในอวกาศและเรามีชั้นบรรยากาศปกป้อง แต่บางส่วนก็สามารถหลุดลอดเข้ามาใต้ชั้นบรรยากาศได้ นักบินและพนักงานต้อนรับที่ทำงานบนเครื่องบินเองก็ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานใกล้ชิดกับรังสีที่เป็นอันตราย Radiation Workers และมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดีปริมาณรังสีที่ได้รับก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับที่อาจจะได้รับหากออกไปลอยตัวอยู่ในอวกาศ

 

ภาพ : Pixabay

 

ร่างกายของเราเองก็มีกระบวนการรับมือกับรังสีที่ได้รับในปริมาณเล็กน้อยเหล่านี้เป็นปกติอยู่แล้ว ด้วยกระบวนการทดแทนเซลล์ที่เสียหรือผิดปกติด้วยเซลล์ใหม่ อันทีจริงเราไม่ต้องคิดไปถึงรังสีที่อาจจะได้จากการออกไปอยู่ในอวกาศ เพราะรอบตัวเรา บนโลกนี้ก็เต็มไปด้วยรังสีและแหล่งกำเนิดรังสีทางธรรมชาติที่มีในอากาศ ในดิน หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเองก็มี Carbon-14 และ Potassium-40 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่พบได้ในร่างกายของเรา และสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลกเช่นกัน
 

อย่างไรก็ตามเราก็มีการศึกษาวิจัยnและออกมาตรการป้องกันว่าด้วยเรื่องการสัมผัสกับกัมมันตรังสี แม้ว่าแต่ละปีเรามักจะได้รับกัมมันตรังสีประมาณ 2.5 มิลลิซีเวิร์ต millisieverts (mSv) คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกัน รังสี หรือ ICRP ย่อมาจาก International Commission on Radiological Protection แนะนำว่าไม่ควรได้รับรังสีเพิ่มจากที่ได้รับโดยเฉลี่ยในแต่ละปีเกิน 1 mSv ซึงแปลว่ารวม ๆ แล้วต้องไม่เกิน 3.5 mSv แต่กว่าจะได้มาซัก 1 mSv มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ คาดว่าคุณต้องบินไปกลับนิวยอร์ค-ลอนดอนอีกอย่างน้อย 200 ชั่วโมงเพื่อให้ได้รังสีมากขนาดนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนปกติ แต่สำหรับนักบินหรือผู้ที่ทำงานอยู่บนเครื่องบินสามารถได้รับมากถึง 6-20 mSv โดยไม่เป็นอันตราย เพราะกว่าคุณจะเริ่มมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากการได้รับรังสีที่มากเกินไปคุณต้องได้รับมันมากถึง 50-100 mSv ต่อปี

 

ภาพ : Pixabay

 

ในอวกาศมีแหล่งรังสีที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายอยู่อีกหลายแหล่งนอกเหนือจากรังสีคอสมิก เราก็มีลมสุริยะ Solar wind ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีประจุถูกปล่อยออกมาจากดาวฤกษ์รอบทิศทาง หากมีการปล่อยโปรตอนออกมามาก มวลของลมสุริยะก็จะมา และมีพลังงานมาก ซึ่งอนุภาคโปรตอนมีมวลมากกว่าอิเล็คตรอน ลมสุริยะที่มีโปรตอนเป็นส่วนประกอบมากกว่าก็จะทำให้เกิดลมสุริยะที่มีพลังงานมากกว่า เร็วกว่า รุนแรงมากกว่า ลมสุริยะที่เกิดจากอิเล็คตรอน ลมสุริยะมีความเร็วตั้งแต่ 400 - 800 กิโลเมตรต่อวินาทีบนผิวของดวงอาทิตย์

 

แม้ว่าอนุภาคของลมสุริยะจะไม่ส่งมาถึงผิวโลก แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศได้บ้าง เช่นการเกิดแสงเหนือ Aurora Borealis และแสงใต้ Aurora Australis บริเวณขั้วโลก หรือรบกวนดาวเทียมได้ในบางช่วงเวลา แต่โดยรวมแล้ว ธรรมชาติได้ออกแบบโลกของเรารวมถึงสิ่งมีชีวิตให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขภายใต้สถาวะปกติ แต่แน่นอนว่าเราคงไม่อยากไปทำลายสมดุลโดยการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลกหรือทำลายชั้นบรรยากาศโลก ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ใช่ไหม ?

 
 
ขอบคุณภาพปก : Pixabay
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow