Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จักกับ “ดิสเล็กเซีย (Dyslexia)” ความผิดปกติทางการอ่าน

Posted By Plook Parenting | 26 ม.ค. 60
16,547 Views

  Favorite

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมักอ่านสะกดคำผิด เขียนไม่ถูก อ่านตะกุกตะกัก พัฒนาการด้านการอ่านเขียนผิดปกติ อย่าเพิ่งโกรธหรือโมโหว่าลูกไม่ตั้งใจเรียน ไม่ฟังครูสอนจนทำให้อ่านเขียนไม่ได้ เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณของอาการ ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) 

 

ดิสเล็กเซีย เป็นอาการหรือภาวะซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรืออาการบาดเจ็บทางสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในการอ่าน เขียน สะกดคำ จัดเป็นความผิดปกติเฉพาะด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการทำงานที่เซลล์สมองซีกซ้าย ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้ได้ แต่พบว่ามักเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

 

อาการเริ่มต้นของเด็กที่เป็นดิสเล็กเซีย

          • อายุ 3 – 4 ปี ก่อนเข้าโรงเรียน เด็กจับถือหนังสือในมือไม่เป็น มีข้อจำกัดในการจำคำต่าง ๆ

          • ชั้นอนุบาล เวลาถามชื่อของสิ่งของหรือสี เด็กไม่ค่อยเข้าใจ และจะตอบได้ช้า

          • ชั้นประถมปีที่ 1 - 2  อ่านหนังสือไม่ทันเพื่อน อ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงมักหลีกเลี่ยง และไม่ชอบอ่าน

          • ชั้นประถมปีที่ 2 - 3  เด็กมักถอยหนีสังคม บางคนพยายามอ่าน แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่อ่านนั้นหมายถึงอะไร      

          • เมื่ออายุมากกว่า 7 ปี เด็กมักอ่านผิด ๆ ถูก ๆ สับสนกับคำคล้าย ๆ กัน เช่น เจ็ด กับ เจ็ต พูด

ตะกุกตะกัก ชอบใช้คำซ้ำ ๆ จำชื่อ วันที่ เบอร์โทรศัพท์ไม่ค่อยได้ เวลาอ่านคำที่ยาวและมีหลายพยางค์ มักเดา

และอ่านข้ามอักษรบางตัวไป มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน และการสะกดคำ เวลาอ่านคำยาว ๆ มักแทนคำ

นั้นด้วยคำที่ง่ายกว่า และเขียนลายมือที่อ่านยาก ทำการบ้านไม่ทัน หรือไม่เสร็จ รวมถึงกลัวการอ่านออก

เสียง   

 

นอกจากนี้เด็กที่มีอาการดิสเล็กเซีย บางคนมีความยุ่งยากมากในการเรียงลำดับความสำคัญของคำที่อ่าน ทำให้เด็กไม่เข้าใจเนื้อหาที่อ่าน โดยจะมีความบกพร่องที่แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

 

          1. ความบกพร่องทางด้านการอ่าน (Reading Disorder) คือ การที่เด็กสามารถอ่านได้น้อยกว่าปกติ เมื่อ

เทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน หรืออ่านแล้วไม่สามารถอ่านจับใจความได้

          2. ความบกพร่องทางทักษะการเขียน การสะกดคำ การสร้างคำ หรือการสร้างประโยค (Written

Expression Disorder) คือ การที่เด็กเขียนสะกดคำไม่ถูกต้อง ไม่สามารถสร้างประโยคที่สื่อความหมายได้ ทำให้

เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง

          3. ความบกพร่องทางด้านทักษะการคำนวณ (Mathematic Disorder) คือ การที่เด็กขาดทักษะด้านการ

คำนวณ ไม่เข้าใจกระบวนการ บวก ลบ คูณ หาร

 

อาการดิสเล็กเซีย อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียน เด็กที่เป็นอาจจะโดนคุณครูดุว่าไม่ตั้งใจเรียน หรือโดนทำโทษเพราะเรียนไม่ทันเพื่อน ไม่ทำการบ้าน และมีปัญหากับเพื่อน หรือถูกเพื่อนล้อเลียน จนทำให้เด็กมองว่าตนเองแปลกแยก นำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าว ต่อต้านสังคม ดังนั้นหากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำและวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องในการดูแลรักษาต่อไป นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจในเด็กที่เป็นดิสเล็กเซีย พร้อมทั้งหาวิธีช่วยเหลือและปรับวิธีการเลี้ยงดู ซึ่งเด็กก็จะสามารถพัฒนาและเรียนรู้ได้มากขึ้นตามลำดับ

 

ภาพ ShutterStock

 

วิธีการ

1. ฝึกฝนและพัฒนาการอ่าน

คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกฝน เช่น การให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นร่วมกับการอ่าน อาจจะตัดตัวอักษรต่าง ๆ จากกระดาษทราย เพื่อให้ลูกได้สัมผัสตัวอักษรระหว่างอ่านไปด้วย หรือลองหาแบบฝึกหัดเขียนตัวหนังสือที่เป็นจุดประ ให้ลูกหัดลากเป็นตัว จะช่วยการเคลื่อนไหวของมือ และช่วยให้เด็กเขียนตัวหนังสือได้ดีขึ้น นำแผ่นพลาสติกใสสีอ่อน ๆ วางทาบบนหนังสือที่ลูกอ่าน จะช่วยให้ลูกอ่านหนังสือได้ง่ายขึ้น เพราะสีอ่อนจะช่วยลดความระยิบระยับของตัวหนังสือ

 

2. การใช้เสียงเพื่อช่วยให้ลูกจดจำ

ไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิทาน การเล่น Tongue Twister หรือคำพูดลิ้นพันกัน ซึ่งประกอบไปด้วยประโยคที่มีตัวออกเสียงคล้าย ๆ กันเรียงต่อๆ กัน เช่น “เช้าฟาดผัดฟัก เย็นฟาดฟักผัด” สอนร้องเพลงที่มีคำสัมผัสให้ร้อง และหมั่นอ่านหนังสือหรือข้อความต่าง ๆ รอบตัวให้ลูกฟังบ่อย ๆ เช่น อ่านฉลากอาหาร สูตรอาหาร อ่านเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกสนใจ หรืออ่านเนื้อเพลงรวมถึงร้องเพลงให้ลูกฟัง ก็จะช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้ลูกได้

 

3. เรียนรู้การอ่านเขียนด้วยการเชื่อมโยงกับของจริง

เช่น เมื่อไปซื้อของตามศูนย์การค้า ลองให้ลูกช่วยหาสินค้าที่ต้องการซื้อ โดยเฉพาะสินค้าที่มีฉลากปิด เช่น อาหารกระป๋องประเภทต่าง ๆ เพื่อหัดให้ลูกอ่านตัวหนังสือจากของจริง หรือหากระดาษโน้ตมาเขียนชื่อของใช้ภายในบ้าน เช่น เขียนคำว่า โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เย็น แล้วนำไปติดไว้กับของจริง แล้วชี้ให้ลูกอ่านบ่อย ๆ เด็กที่มีอาการดิสเล็กเซียจะเรียนรู้ได้ดีจากการเห็นของจริง

 

4. ฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกาย

การที่สมองของคนเราจะพัฒนาไปได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งมาจากการได้เคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ทำงาน จะส่งผลทำให้เซลล์ประสาทส่งเส้นใยติดต่อประสานกันในทุกจุดเชื่อมต่อของสมอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้ลูกได้ทำ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาสมองของลูก

 

5. เสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก

เด็กที่มีอาการดิสเล็กเซีย จะขาดความมั่นใจในตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองโง่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมความสามารถด้านอื่นให้ลูกเพื่อชดเชยความบกพร่องที่มี เช่น เล่นดนตรี ศิลปะ และกีฬา หรือจะสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกโดยยกเอาคนดังที่มีอาการดิสเล็กเซียอย่าง จอห์น เลนนอน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และปิกัสโซ่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้ลูกมีกำลังใจในการเรียนรู้มากขึ้น

 

แม้จะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่กลุ่มอาการดิสเล็กเซียก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกฝน เพียงแต่ต้องอาศัยความอดทนและกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด คอยเป็นกำลังใจให้ลูก เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow