Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกนอนกรนผิดปกติหรือไม่

Posted By Plook Parenting | 23 ม.ค. 60
2,644 Views

  Favorite

ภาวะการนอนกรนในเด็กเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งอาจเกิดจากโรคอ้วน (อ้วนมากเกินไปมีไขมันที่คอเยอะ) หรือมีปัญหาของโรคภูมิแพ้ทำให้ต้องหายใจผ่านทางปาก จึงทำให้เกิดเสียงกรนเล็ก ๆ

 

ถ้าเป็นกรณีนี้ เด็กจะมีอาการดีขึ้นเองเมื่อตื่นขึ้น แต่ที่อันตรายคือเด็กที่มีปัญหาของต่อมทอนซิลอุดกั้น ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุ 2 – 6 ปี เพราะในเด็กวัยนี้จะมีต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome : OSAS) จนเกิดเสียงกรนที่เป็นภาวะอันตราย มีอาการนอนกรนเสียงดัง เสียงขาด ๆ หาย ๆ เหมือนหายใจไม่ออก กลางวันนอนงัวเงีย อารมณ์หงุดหงิดง่าย ตอนนอนหายใจแต่หน้าอกไม่ค่อยขยับ

 

อาการนอนกรนจะทำให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ มีผลกระทบโดยตรงทั้งทางด้านร่างกาย และพัฒนาการทางด้านสมอง เสี่ยงต่อการเป็นเด็กสมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว เรียนรู้ช้า และหากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยอาจมีอันตรายถึงชีวิต อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 
ภาพ Shutterstock

 

วิธีการดูแลเบื้องต้น

1. ปรับการนอน

โดยให้เด็กเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาสม่ำเสมอ สำหรับเด็กที่มีโรคอ้วนร่วมด้วยให้ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ

2. เด็กที่มีอาการน้ำมูกไหล

ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้มีน้ำมูกเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมูกจะยิ่งเข้าไปอุดตันทำให้เด็กหายใจทางจมูกลำบาก

3. ทำความสะอาดห้องนอน

ผ้าปูที่นอน และผ้าห่ม ของใช้ในบ้านทุกชนิด ที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองกับจมูก เพื่อป้องกันการเพิ่มของเชื้อโรคที่มากับฝุ่น

4. ถ้าตอนนอนเด็กมีอาการกรนมากขึ้น

ให้จับเด็กนอนในท่าตะแคงเพื่อลดอาการกรน

5. งดดื่มน้ำเย็นและของเย็น

อย่าให้ลมโดนหน้าอกเด็กมากจนเกินไป ถ้าโดนฝนหรือจำเป็นต้องไปว่ายน้ำ ควรรีบเช็ดตัวให้แห้งแล้วใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น และก่อนนอนควรอาบน้ำอุ่นเพื่อทำให้จมูกและระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น

6.อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

ควรให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ ระหว่างวัน เพื่อให้ร่างกายได้ดูดซับน้ำไว้ใช้ในตอนนอน เพราะตอนนอนจมูกและเพดานจะแห้งลงจนทำให้เกิดเสียงกรนได้ง่ายขึ้น

 

 

หากพบว่าเด็กมีอาการนอนกรนเป็นประจำแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาไปพบแพทย์ เพราะในปัจจุบันทางการแพทย์มีแนวทางตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้นอนกรน เช่น เด็กมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ  เป็นโรคจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้  หากอาการไม่ชัดเจนและคุณพ่อคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าลูกมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)  เพื่อยืนยันว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และอาการรุนแรงมากแค่ไหน เพื่อจะได้รีบทำการรักษาให้ทันท่วงที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow