Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคอ้วนในเด็ก ... อันตราย

Posted By Plook Parenting | 23 ม.ค. 60
3,743 Views

  Favorite

โรคอ้วนในเด็กถือเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพราะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเด็กอ้วนอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านมักจะมองข้ามปัญหานี้ไป เพราะเด็กที่เริ่มอ้วนในระยะแรกจะดูจ้ำม่ำ แก้มยุ้ยน่ารัก กินง่ายไม่ค่อยซุกซน จึงปล่อยให้เด็กอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ

 

บางบ้านกว่าจะรู้ว่าลูกมีปัญหาโรคอ้วน ก็เมื่อเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เช่น ทางเดินหายใจอุดตัน หรือถ้ารุนแรงมากอาจจะถึงขั้นข้อกระดูกพิการจนเดินไม่ได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กเป็นเพราะความไม่สมดุลของพลังงานที่ใช้กับพลังงานที่เก็บสะสมในร่างกายของเด็กโดยเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

 

ภาพ : Shutterstock

 

- พันธุกรรม เด็กที่มีพ่อแม่พี่น้องอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดโรคอ้วนได้มากกว่าเด็กทั่วไป

- ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ มีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์เกิน

- เกิดจากโรคหรือกลุ่มอาการจำเพาะ เช่น PraderWilli syndrome, Laurence-Moon-Biedl syndrome, Pseudohypoparathyroidism (PHP)

- พฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตของเด็ก เช่น กินอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ผลเสียของโรคของโรคอ้วนพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดและทางเดินหายใจอุดตัน หัวใจวาย ตับอักเสบ โรคกระดูกและข้อ ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ อาจทำให้เด็กถูกล้อเลียน จนเกิดปมด้อยและส่งผลต่อการเข้าสังคมของเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกิน และการดำเนินชีวิตของลูกให้เป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก ด้วยการปลูกฝังพฤติกรรมในการบริโภคที่ถูกต้องให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก

 

วิธีการ

1. เริ่มต้นที่นม

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด เพราะนมแม่ป้องกันโรคอ้วนได้เป็นอย่างดี โดยเด็กที่กินนมแม่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ และมีมวลไขมันสะสมในร่างกายน้อยกว่านมผง และเมื่อลูกหย่านมก็ควรฝึกให้เขาดื่มนมจืด เพื่อไม่ให้ติดรสหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วน

2. สร้างวินัยในการกิน

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินอาหารให้เป็นเวลา โดยเน้นแต่อาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ อาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ กินปลาและไข่เป็นหลัก เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย โดยส่งเสริมให้ลูกกินผักและผลไม้ให้เป็นนิสัยทุกวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หนังไก่ หนังหมู มันหมู อาหารทอดจนกรอบหรือไหม้เกรียมในแต่ละมื้อ ตักให้ลูกกินแบบพอดีอิ่ม และไม่ควรซื้ออาหารมาตุนไว้มากเกินจำเป็น

3. งดขนมซองและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

น้ำอัดลม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้กระป๋อง และขนมขบเคี้ยวที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่มีไขมันและน้ำตาลสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต หากลูกอยากกินของว่างควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปรุงด้วยการอบ และอ่านฉลากโภชนาการให้ดีก่อนให้ลูกกิน

 

ภาพ Shutterstock

 

4. ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย

พ่อแม่ควรให้เด็กออกกำลังกายให้เป็นนิสัย และมีกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายบ้างในชีวิตประจำวัน นอกจากวิ่งเล่นกับพี่น้องและเพื่อนที่บ้าน การให้เด็กได้เล่นกีฬาตามความถนัด ยังทำให้เด็กได้เรียนรู้กฎ กติกา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย

5. ฝึกให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ 

เด็กในวัย 2 – 6 ขวบ ควรได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอคืนละ 8 -10 ชั่วโมง เพราะการนอนน้อยมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน เนื่องจากทำให้ฮอร์โมนทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยทำให้ฮอร์โมนเลปทิน (Lepin) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาญไปยังสมองว่า "อิ่ม" ลดลง และทำให้เกรลิน(Ghrelin) ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังสมองว่า "หิว" เพิ่มขึ้น ทำให้เด็กที่นอนน้อยจะหิวบ่อย และกินมากเกินไป ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนตามมา

 

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ที่สำคัญหากไม่อยากให้ลูกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรซื้อมากินให้ลูกเห็นเพราะลูกจะจดจำและทำตามพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ทุกอย่าง รวมถึงเรื่องพฤติกรรมการกินด้วยเช่นกัน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow