Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 วิธีจัดการลูกจอมเฉื่อยชา

Posted By Plook Parenting | 23 ม.ค. 60
43,298 Views

  Favorite

เด็กแต่ละคนมีบุคลลิกภาพที่แตกต่างกันไป เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกรรมพันธุ์ และการเลี้ยงดู ซึ่งเด็กจะเริ่มแสดงลักษณะนิสัยออกมาตั้งแต่เป็นทารก โดยนิสัยบางอย่างก็ยังคงอยู่ติดตัวไปจนตลอดชีวิต

 

ด้วยบุคลิกภาพที่แตกต่างกันเด็กจึงมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่ลูกเป็นเด็กทำอะไรช้า อืดอาด เป็นหนึ่งในลักษณะของเด็กที่มี “บุคลิกภาพตื่นตัวช้า” โดยเด็กกลุ่มนี้มักจะมีนิสัยไม่ค่อยกระตือรือร้นต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ และมักจะมีปัญหาในการปรับตัว รวมถึงทำอะไรก็ช้าไปหมด เช่น ทำกิจวัตรประจำวันช้า อย่างกินข้าว อาบน้ำ ตื่นนอน ก็ต้องให้คุณพ่อคุณแม่คอยกระตุ้น แม้จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ฝึกให้ลูกรู้จักความกระตือรือร้น อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน หรือกลายเป็นคนมีบุคลิกเฉื่อยชา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงานต่อไปในอนาคต

 

ภาพ ShutterStock

 

วิธีการ

1. ฝึกวินัยให้ลูก

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดตารางการใช้ชีวิตให้ลูกว่าแต่ละวันต้องทำอะไรตอนไหนอย่างไรบ้าง และให้ลูกทำประจำอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร ลูกจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น  ซึ่งในช่วงแรกอาจจะต้องอดทนในการฝึกสักหน่อย แต่เมื่อลูกเคยชินแล้ว เขาก็จะสามารถปรับตัวและเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น

 

2. หากิจกรรมที่น่าสนใจและไม่น่าเบื่อให้ลูกทำ

คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่าลูกสนใจอะไรแล้วสนับสนุนให้เขาได้ทำกิจกรรมนั้นบ่อย ๆ ถึงแม้ว่าเด็กที่ขาดความกระตือรือร้นจะไม่ค่อยมีความสนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษ เขาต้องอยากเข้าร่วมแน่นอน และยิ่งคุณพ่อคุณแม่เข้าร่วมในกิจกรรมนั้นด้วย ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากทำมากยิ่งขึ้น

 

3. อย่าปิดกั้นความสามารถลูก

คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้หรือทดลองทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง เช่น มอบหมายงานง่าย ๆ ให้ลูกรับผิดชอบ อย่างรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ไม่ควรกังวลห้ามปรามไปหมด หรือทำให้ลูกไปหมดทุกอย่าง เพราะยิ่งจะทำให้ลูกไม่อยากจะทำอะไร การที่เขาได้ทำงานที่รับผิดชอบเสร็จลุล่วงไปได้จะเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเขามากขึ้น

 

4. เมื่อลูกทำผิดพลาดอย่าตำหนิหรือทำโทษลูกด้วยคำพูดรุนแรง

เพราะอาจทำให้ลูกยิ่งขาดความมั่นใจได้ ควรใช้คำพูดในเชิงบวก หรือให้กำลังใจ เช่น หากลูกทำจานแตก ควรพูดว่า “ไม่เป็นไรนะลูก แต่คราวหน้าลูกต้องถือให้ดีกว่านี้นะ” คำพูดเชิงบวกจะทำให้ลูกรู้สึกไม่กังวลและกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ต่อไป

 

5. ออกกำลังกายเพิ่มพลัง

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหมั่นออกกำลังกายบ้าง บางครั้งเด็กที่ทำอะไรเชื่องช้า ส่วนหนึ่งมาจากร่างกายที่ไม่กระฉับกระเฉง หากลูกไม่มีโรคประจำตัว ควรหากีฬาให้เขาเล่น เพื่อให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว

 

6. ควรสนับสนุนให้ลูกได้เล่นสนุกตามวัย

ให้เขาได้ทำอะไรที่ชอบหรืออะไรที่ไร้สาระตามวัยบ้าง บางครั้งการที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป หรือเรียนเสริมความรู้ด้านวิชาการตลอด อาจทำให้ลูกเบื่อหน่ายจนไม่อยากจะทำอะไร ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมของลูกได้เช่นกัน

 

หากคุณพ่อคุณแม่ลองกระตุ้นลูกทุกวิธีแล้ว แต่ลูกก็ยังคงมีพฤติกรรมเฉื่อยชา ทำอะไรเชื่องช้าอยู่ดี ต้องลองสังเกตดูว่าเป็นเพียงแค่บุคลิกภาพเท่านั้น หรือเป็นเพราะลูกมีปัญหาพัฒนาการอื่น ๆ เช่น พูดติดอ่าง เหม่อลอยบ่อยครั้ง หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพราะลูกอาจมีปัญหาสมาธิสั้น หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow