Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิค ใช้ธรรมะกล่อมเกลาจิตใจ เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี สร้างภูมิคุ้มกันยามต้องเผชิญทุกข์

Posted By มหัทธโน | 19 ม.ค. 60
19,967 Views

  Favorite

 

แนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก ๆ ที่รักของเรา ด้วยการปลูกฝังธรรมะลงในใจของเขาแต่ยังเยาว์ จะช่วยให้เขาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และมีวัคซีนป้องกันใจยามต้องเผชิญทุกข์ที่เข้ามา 

 

ปัญหาของลูกในยุคปัจจุบัน คือ เป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" กันส่วนมาก สาเหตุจากการ "เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี" มักตามใจลูกในทางผิด ๆ เช่น ถนอมไม่ยอมให้ลูกทำอะไรเลย อยากได้เงินเท่าไรก็ตามใจ ผลคือ ลูกกลายเป็นลูกเทวดา กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด ใช้เงินเก่งไม่เห็นคุณค่าของเงิน ทำอะไรเองก็ไม่เป็น  

 

แนวทางป้องกัน ยังพอมีทาง คือ ควรมุ่งปลูกฝังคุณธรรม หรือศีลธรรมลงในจิตใจขอลูก

ธรรมะ นอกจากเป็นเกราะป้องกันมนุษย์ จากสิ่งไม่ดีรอบข้างแล้ว ธรรมะยังสามารถดึงมนุษย์ออกมาจากสิ่งที่ไม่ดี ตัวอย่างเช่น ดารณีนุช โพธิปิติ นักแสดงชื่อดัง ที่เคยชอบกินเหล้าทุกวัน จนลูกชายคนเล็กถึงกับบอกว่า " แม่เมาแล้วเหมือนคนบ้า" เธอจึงปฏิบัติธรรม และนำกลับมาใช้ในครอบครัว จนสามารถเลิกเหล้า และทำให้คนรอบข้างกินเหล้าน้อยลงไปด้วย ตัวเธอเองสุขภาพดีขึ้นและลูกก็มีความสุข

 

ประเภทของลูก จากพระไตรปิฏก

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงประเภทของลูกไว้ในปุตตสูตร (25/257) ว่ามีอยู่ 3 ประเภท คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร อวชาตบุตร โดยทรงยกเอาศีล 5 มาเป็นมาตรวัดไว้ ดังนี้

1) อภิชาตบุตร

ลูกที่สูงกว่าตระกูล คือ พ่อแม่ไม่มีศีล 5 แต่ลูกเป็นผู้มีศีล 5 แต่ลูกเป็นผู้มีศีล 5       

2) อนุชาตบุตร

ลูกที่เสมอกับตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล 5 และลูกก็เป็นผู้มีศีล 5 ด้วย         

3) อวชาตบุตร

ลูกที่ต่ำกว่าตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล 5 แต่ลูกไม่มีศีล 5

 

ในขัตติยสูตร (15/10) พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"ลูกคนใดเป็นลูกที่เชื่อฟัง ลูกคนนั้น นับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐสุดกว่าลูกทั้งปวง"

พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดูว่าลูกจะดีหรือชั่ว ที่มีศีล ๕ และการเชื่อฟังพ่อแม่

 

ปัญหาความเสียใจเนื่องจากลูก

พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมักมุ่งแต่หาเงินให้ลูก หวังให้ลูกเรียนเก่ง เรียนสูง ทำงานได้เงินเดือนสูง จนละเลยการปลูกฝังคุณธรรมในตัวของลูก จึงมักจะต้องผิดหวังในตัวลูก ทั้งที่มีเงินทองเหลือล้น ดั่งพุทธภาษิต (นันทิสูตร 15/9) ว่า "คนมีลูก ย่อมเสียใจเพราะลูกคนมีวัว ก็ย่อมเสียใจเพราะวัวเหมือนกัน"

 

หลักการเลี้ยงลูกที่ดี

ควรใช้หลัก 4 ขั้น คือ แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ ใส่เตา
          -

แม่น้ำ

คือ เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ เมื่อลูกรู้ว่ายังมีคนรักและเมตตาเขาด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุผลและความเป็นจริง ไม่ใช้อารมณ์ เขาก็ย่อมจะเชื่อฟังบ้าง


ลูกยอ

คือ ใช้วิธียกย่องชมเชย ในสิ่งที่ลูกมีและทำได้ ให้กำลังใจในการทำความดี ถ้าถลำทำชั่วก็ขอให้กลับตัวใหม่ อย่าประณามกันรุนแรง คนเราทำผิดกันได้ เมื่อผิดแล้วก็ต้องยอมรับและต้องกลับตัวจึงจะถือว่ามีเชื้อของบัณฑิต


กอไผ่

คือ การใช้เรียวไผ่หวดก้น เมื่อใช้ไม้นวมมาสองขั้นไม่สำเร็จ ก็จะต้องใช้ไม่แข็งกันบ้าง แต่ระวัง ต้องตีด้วยเหตุผลและความเป็นจริง อย่าได้เผลอใส่อารมณ์ (โกรธ) เข้าไปเป็นอันขาด ความหวังดีจะกลายเป็นร้ายไปทันที


ใส่เตา

คือ การเผาหรือฌาปนกิจ เมื่อ 3 ขั้นไม่สำเร็จ ก็ใช้ไม้สุดท้าย คือคิดว่า "เขาได้ตายจากเราไปแล้ว" ก็ควรจะเผาเขาไปเลยคือต้อง "ทำใจ" ให้ได้ถ้าเขาเป็นลูกล้างลูกผลาญ ก็ขอให้จบกันเท่านี้ เขาจะขึ้นช้างลงม้าเข้าคุก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขาเถิด ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง จะฝืนกฎแห่งกรรมไปหาได้ไม่ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ทรงอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน การที่เรามีลูกดี ระลึกถึงแล้วมีแต่ความชื่นใจและสบายใจก็เป็นเพราะผลของกุศลกรรม ที่เราทำไว้ ได้มาสนองเรา เกิดจากผลของกรรมดี การที่เรามีลูกไม่ดี เกิดมาล้างพลาญ ก่อแต่ความทุกข์ และนำแต่ความเดือนร้อนมาให้ไม่รุ้จักสิ้นสุดนั้นก็เป็นเพราะ ผลของอกุศลกรรมของเราเองทำไว้ และกำลังให้ผลเราอยู่

 

อย่าไปคิดเปรียบเทียบว่า ลูกคนอื่นเขาไม่เหมือนลูกเรา นั่นก็เพราะ "กรรมใครกรรมมัน" ควรจะคิดในแง่ดี และในแง่ของความเป็นจริงว่า เราได้ชดใช้กรรมเก่าเสียแต่ในบัดนี้ก็เป็นการดีแล้ว จะได้หมดเวรหมดกรรมกันไปเสียที ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปใช้เขาอีก คิดได้อย่างนี้ เราก็สบายใจ

 

แนวทางการเลี้ยงดูลูก ด้วยการปลูกฝังธรรมะ

1. ความกตัญญูและกตเวที เป็นพื้นฐานของคนดี ควรอบรมหรือปลูกฝังก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ติดตามด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์อดทน เสียสละ และมีระเบียบวินัย เป็นต้น
2. ควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ขัดใจในสิ่งที่ผิด ยกย่องเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษ เมื่อเขาทำผิด
3. หัดให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น หัดให้เขาใช้ความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ควรชี้แนะไปเสียทุกสิ่ง
4. ควร "เลี้ยงลูกให้โต" อย่าพยายาม "เลี้ยงลูกให้เตี้ย" เพราะเราไม่อาจตามเลี้ยงเขาได้จนตลอดชั่วชีวิต
5. คำพูดที่ว่า "จงทำตามฉันสอน แต่อย่าทำตามฉันทำ" ไม่ควรนำมาใช้กับลูก นั่นคือ พ่อแม่ควรเป็นแบบพิมพ์ที่ดีและถูกต้องถ้าจำเป็นต้องทำชั่ว ก็อย่าให้ลูกรู้หรือเห็น เด็กจะเสียกำลังใจในการทำ ความดี และจะถือเป็นข้ออ้างในการทำความชั่ว แม้แต่เรื่องการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
6. อย่าห้าม ลูกไม่ให้ทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิด หรือไม่เป็นอันตรายเพราะเด็กย่อมอยากรู้และอยากเห็นเป็นทุนอยู่แล้ว ควรให้เขาได้ช่วยงานเรา ตามที่เขาชอบบ้าง
7. ควรรักลูกด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้ครบทั้ง 4 ข้อ อย่าแสดงออกให้ลูก ๆ เห็นว่า พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (อคติ)
8. ควรหาโอกาสพาลูก ๆ ไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้ทาน รักษา ศีล เจริญภาวนา ตามสมควร โดยเฉพาะก่อนนอน ควรหัดให้ลูก ๆ ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา และกราบระลึกถึงผู้มีพระคุณ 5 ครั้ง แล้วจึงให้นอนได้
9. อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีเท่านั้น ถ้าเขาไม่รักดีก็เป็นกรรมของเขาเอง ทุกคนไม่อาจจะฝืนกฎแห่งกรรมของตนเองได้   

 

รักลูกแบบระยะยาว -- วางอุเบกขา เพื่อฝึกฝนลูก

การรู้จักวางอุเบกขา เพื่อเป็นการให้โอกาสเขาพัฒนาตัวเอง โดยให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง แยกได้เป็น 3 กรณี คือ

 

1) เมื่อจะต้องให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง

เพื่อว่าเขาจะได้ทำอะไรเป็น คือ จะต้องให้ลูกหัดทำบ้าง รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อฝึกตัวเอง แต่เขาจะเก่งขึ้น เช่น พ่อแม่ต้องวางอุเบกขาไม่ทำการบ้านแทน

 

การทำอย่างนี้ไม่ใช่เราไม่รัก แต่เป็นการรักเป็นหรือรักระยะยาว อุเบกขา แปลว่า คอยดู มาจาก อุป+อิกข อิกข แปลว่า ดูอุป แปลว่า ใกล้ๆ หรือคอย รวมกันแปลว่า คอยดูอยู่ใกล้ ๆ  หมายความว่าพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง  


2) เมื่อลูกสมควรรับผิดชอบต่อการกระทำของตนต่อกฎเกณฑ์กติกา

ครอบครัวเป็นสังคมย่อย ต่อไปลูกต้องไปอยู่ในสังคมใหญ่ จึงต้องเรียนรู้ชีวิตจริง รู้จักความชอบธรรม ความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นครอบครัวก็ต้องมีกติกา มีกฎเกณฑ์ เขาทำอะไรถูกหรือผิด เราก็ให้เขารับผิดชอบการกระทำของเขาทั้งดีและชั่ว ตามถูกตามผิด ตามกฎเกณฑ์กติกา เรียกว่าอุเบกขาทำให้เขาได้รับความเป็นธรรม และรักษาธรรมไว้เมื่อเขาสมควรต้องรับผิดชอบการกระทำของตน


3) เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง

เช่น เมื่อลูกโตแล้ว จบการศึกษาแล้ว มีงานมีการทำแล้ว มีครอบครัวของเขาเอง รับผิดชอบตัวเองได้ พ่อแม่อย่าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของครอบครัวเขา พ่อแม่บางคน รักลูกมาก อยากให้ลูกมีความสุขจนเข้าไปยุ่ง ไปเจ้ากี้เจ้าการในครอบครัวของเขา จนเกิดความวุ่นวายต่าง ๆ 

 

จะพบว่า ในหลักพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนพรหมวิหาร ซึ่งมีเพียง 4 ข้อ แต่กลับสามารถครอบคลุมหลักการวิธีเลี้ยงลูกได้ทั้งหมด และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างน่าอัศจรรย์

 

ฉนั้นคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ควรเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก ๆ ที่รักของเรา ด้วยการปลูกฝังธรรมะลงในใจของเขาแต่ยังเยาว์ จะช่วยให้เขาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และมีวัคซีนป้องกันใจยามต้องเผชิญทุกข์ที่เข้ามากันค่ะ 
 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow