Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รองศาสตร์ตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง เผย สาเหตุแรงงานด้านไอทีขาดแคลนหนักในปัจจุบัน

Posted By Plook Creator | 17 ม.ค. 60
4,933 Views

  Favorite

เมื่อช่วงปี 2541 เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และได้พัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสื่อการเรียนการสอน และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อคนไทยเป็นอย่างมาก

ซึ่งก็จริงที่มีคนสนใจเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเยอะ แต่เมื่อมองดูตามหลักความเป็นจริงแล้ว หลายคนสนใจใช้ แต่ไม่ได้สนใจเรียน ทำให้ปัจจุบันนี้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานด้านไอทีอย่างหนัก
 

ภาพ : ทรูปลูกปัญญา

 

โดยวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อเวลา 13.30 น. ซิสโก้ ประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ฯ เกี่ยวกับเรื่องวิกฤตแรงงานด้านไอทีขาดแคลนในยุคปัจจุบัน และเตรียมเร่งหาจุดบกพร่อง แก้ไข พร้อมอัพเดทแผนงานใหม่ เพื่อนำประเทศสู่ Thailand 4.0 โดยร่วมมือกับรัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน โดยมีนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซิสโก้ ประเทศไทย และอินโดจีน พร้อมด้วยนางสาวแซนดี้ วอลช์ ผู้อำนวยการด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม ซิสโก้ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มาร่วมให้ข้อมูล และนโยบายในอนาคตด้านเศรษฐกิจเทคโนโลยี และฟังความคิดเห็นจากรองศาสตร์ตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ สิ่งที่ขาดหาย สิ่งที่ท้าทายในการสร้างและพัฒนาการบุคลากรด้านไอที เพื่อคืนคุณภาพกลับสู่อุตสาหกรรมไทยอีกครั้ง
 

 
 

ซึ่งหลังจากจบงานแุถลงข่าว ทีมเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา ได้สอบถามข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติมกับรองศาสตร์ตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เกี่ยวกับเรื่องปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีอย่างหนักในปัจจุบัน โดยรองศาสตร์ตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ เผยกับเราอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ คือ


1. เด็กไทยในปัจจุบันเลือกเรียนทางด้านสาขาเทคโนโลยีน้อยลงกว่าเดิม ทั้งที่หลายปีก่อนมีเยาวชนให้ความสนใจทางด้านนี้เยอะ ทั้งที่หลายมหาวิทยาลัย ต่างเปิดสาขาเทคโนโลยีมาให้เลือกเรียนกันเพียบ แต่พักหลังมานี้ เด็กไทยหลายคนเปลี่ยนใจและเลือกเรียนด้านนี้ลดลงมากเกินไป ซึ่งจะเริ่มทำการวิเคราะห์กับเรื่องนี้มากขึ้น

2.  สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับด้าน IT ยังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด แม้จะเปิดการเรียนการสอนอยู่หลายแห่งก็ตาม ถ้าเด็กที่จบมาใหม่มีทักษะดี ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่รับได้ ก็อาจจะบรรเทาปัญหาด้านการขาดแคลนได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้แต่ละสถาบันอาจจะต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้มีคุณภาพจากเดิม


3. เรื่องความต้องการที่ไม่ตรงกันของภาคการศึกษาภาครัฐกับภาคเอกชน ทักษะของนักศึกษาที่ถูกเทรนมาจากภาครัฐ อาจจะยังไม่มีความคล้องจองตามความต้องการของฝั่งเอกชนโดยตรง บางทฤษฎีที่ภาครัฐสอนมาอาจจะเป็นบทที่ใช้สำหรับการเรียนปริญญาโท ซึ่งความจริงแล้วเด็กจบใหม่ที่หน่วยงานเอกชนต้องการ ควรมีทักษะเรื่องการปฏิบัติที่ดีมากกว่านี้


ซึ่ง 3 ปัญหาหลัก คือผลกระทบโดยตรงที่ทำให้ขาดบุคลากร IT ที่มีคุณภาพ โดยการแก้ปัญหาคร่าว ๆ ที่ทาง ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง ได้หาแนวทางไว้ คือ อยากให้สื่อมวลชนหรือสถาบันด้านการศึกษา เข้ามาช่วยเหลือ โดยวางภาพลักษณ์ของผู้ที่จบการศึกษาด้าน IT ว่า จบมาแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ตกงานอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพื่อหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จะได้รับนักศึกษาที่จบด้านนี้มาร่วมทำงานด้วย อีกทั้งยังจะมีการเพิ่มศักยภาพของเด็กฝึกงานให้มีคุณภาพก่อนจบการศึกษา ซึ่งทาง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ก็เริ่มที่จะพัฒนาทางจุดนี้แล้ว
 

ภาพ : ทรูปลูกปัญญา


พอถามถึงความคาดหวังในอนาคตของการพัฒนารูปแบบการศึกษาด้านเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพต่อหน่วยงานเอกชนหรือฝั่งอุตสาหกรรมมากขึ้น เจ้าตัวเผยว่า ต้องให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และด้านการศึกษาช่วยกันพัฒนาความสามารถของเด็กไอทีมากขึ้นกว่าเดิม พยายามปรับและสนับสนุน เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ขาดแคลนเด็กที่เรียนด้านนี้กัน ฉะนั้นต้องช่วยกันดึงความสนใจของเด็กให้กลับมาศึกษาและเรียนรู้ด้านนี้มากขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow